posttoday

การทำแผนที่สยาม (ตอนที่ห้า): บทเรียนจากพม่า

08 เมษายน 2564

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

*******************

การทำแผนที่สยาม (ตอนที่ห้า): บทเรียนจากพม่า

ในยุคสำรวจ-ยุคล่าอาณานิคม เมื่อมหาอำนาจตะวันตกเดินทางเข้ามาในแถบเอเชียอาคเนย์เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ก็ได้ทำการสำรวจพื้นที่เพื่อทราบเขตแดนที่แน่นอนของรัฐต่างๆภายใต้โลกทัศน์สมัยใหม่ที่มีวิทยาการการทำแผนที่เป็นเครื่องมือ เพราะลักษณะสำคัญประการหนึ่งของศิลปะวิทยาการสมัยใหม่คือ ความเปรี๊ยะ ! ต้องมีความแม่นยำชัดเจนแน่นอนในกระบวนการชั่งตวงวัด เวลา เส้นแบ่ง การคำนวณและการคาดการณ์ ในขณะที่วิถีโบราณคือ อยู่กันแบบหลวมๆ

ในเวลานั้น อาณาจักรต่างๆในบริเวณแถบนี้ดำรงอยู่ภายใต้โลกทัศน์แบบเดิมไม่ได้มีเขตแดนที่แน่นอนตายตัวประเภทเส้นรุ้งเส้นแวง ดังที่ผมเคยอ้างข้อมูลจากหนังสือ “กำเนิดสยามจากแผ่นที่: ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ” ของศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน สหรัฐอเมริกาว่า ในปี พ.ศ. 2369 ร้อยเอก เฮนรี เบอร์นีย์ ทูตอังกฤษได้กล่าวถึงประเด็นเรื่องเขตแดนที่เขาได้ถามต่อราชสำนักสยาม และได้รับคำตอบว่า

“...เกี่ยวกับเรื่องที่กล่าวถึงเขตแดนของมะริด ทวาย และตะนาวศรีนั้น ไม่เคยมีเขตแดนใดสามารถกำหนดกันได้ระหว่างสยามกับพม่า แต่ในเมื่ออังกฤษปรารถนาจะให้กำหนดเขตแดนเหล่านี้แน่นอนลงไป ก็ให้ไปถามเอาจากผู้เฒ่าที่อาศัยตามชายแดนมะริด ทวาย ตะนาวศรี ว่าพวกเขารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับดินแดนที่เชื่อมกัน และให้ถือเอาตามที่คนเหล่านั้นชี้นั่นแหละเป็นเขตแดนระหว่างส่วนของอังกฤษกับสยาม” นั่นคือ อยู่กันแบบหลวมๆ

การทำแผนที่สยาม (ตอนที่ห้า): บทเรียนจากพม่า

ก่อนหน้านี้ พม่าเองก็มีประสบปัญหาเรื่องเขตแดนของพม่ากับเขตแดนของอินเดียที่อยู่ภายใต้อังกฤษ ต่างฝ่ายต่างมีความเข้าใจในเรื่องเขตแดนไม่เหมือนกัน เมื่อเกิดข้อพิพาท ในที่สุดก็ต้องลงเอยด้วยกำลัง พม่าเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และต้องสูญเสียดินแดนรวมทั้งเงินชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทำสงคราม และพระมหากษัตริย์พม่าก็พยายามที่จะหาทางเจรจากับอังกฤษเพื่อให้ได้ดินแดนคืนมา แต่ล้มเหลว

หลังจากพ.ศ. 2374(รัชกาลที่สามครองราชย์ พ.ศ. 2367-2394) เป็นต้นมา กษัตริย์พม่า พระเจ้าจักกายแมงแห่งราชวงศ์อลองพญาทรงเสียพระทัยจากเรื่องการสงครามกับอังกฤษส่งผลให้พระองค์ทรงมีพระสติฟั่นเฟือน! อำนาจในการปกครองประเทศจึงถูกชักใยโดยพระอัครมเหสีและน้องชายของพระนางซึ่งเป็นสามัญชน เมื่อถึงจังหวะ เจ้าชายแสรกแมง (Tharrawaddy) พระราชอนุชาของพระเจ้าภคยีดอไม่พอพระทัย จึงก่อการกบฏขึ้นในปี พ.ศ. 2380 ถอดพระเจ้าจักกายแมงออกจากราชบัลลังก์และทรงสถาปนาพระองค์เองเป็นกษัตริย์ และปฏิบัติตาม “แบบฉบับของประเพณีการสืบราชสันตติวงศ์ของพม่า” นั่นคือ การกำจัดผู้ที่ต้องสงสัย... ให้หมดเสี้ยนหนามของแผ่นดิน

ดูเหมือนประวัติศาสตร์ไม่ได้สอนอะไร พระเจ้าแสรกแมงก็ไม่ต่างจากพระเจ้าจักกายแมง ยังทรงทรนงในความยิ่งใหญ่ของพม่า พระองค์ทรงมีความรู้สึกว่า การที่พม่าต้องพ่ายแพ้อังกฤษในสงครามครั้งแรกเป็นการเสื่อมเสียพระเกียรติ พระองค์จึงไม่ทรงยอมรับข้อผูกพันของสนธิสัญญายันดาโบ และทรงพระราชดำริจะเอาแคว้นตะนาวศรีคืนจากอังกฤษ

ขณะเดียวกันพระองค์ทรงท้าทายอำนาจของอังกฤษด้วยการพยายามปรับปรุงกิจการกองทัพของประเทศให้ทันสมัย โดยสั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากต่างประเทศ จ้างผู้เชี่ยวชาญชาวยุโรปมาทำการหล่อปืนใหญ่ เป็นเหตุให้อังกฤษเข้าใจได้ว่าพม่ากำลังเตรียมกองกำลังและกองทัพเพื่อทำสงคราม รวมทั้งท่าทีที่เฉยเมยต่อตัวแทนอังกฤษที่มาประจำอยู่ในพม่าของพระเจ้าแสรกแมงประกอบกับความระแวงสงสัยของอังกฤษ ส่งผลให้อังกฤษต้องยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับพม่าในปี พ.ศ. 2383

ต่อจากนั้นพระเจ้าแสรกแมงทรงแสดงอำนาจในทางก้าวร้าวยิ่งขึ้นด้วยการเสด็จยกกองทัพมามนัสการเจดีย์ชเวดากองที่เมืองร่างกุ้งในปี พ.ศ. 2385เพื่อแสดงแสนยานุภาพของกองทัพพม่า แต่ที่สุดแล้ว พระองค์ก็ทรงลงเอยด้วยการมีพระอาการไม่เป็นปกติ เจ้าชายพุกาม (Pagan) จึงถือโอกาสถอดพระเจ้าแสรกแมงออกจากราชบัลลังก์ในปี พ.ศ. 2388

พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ก็ยังทรงใช้ “แบบฉบับของประเพณีการสืบราชสันติวงศ์ของพม่า” มุ่งสร้างความสงบภายในประเทศด้วยการกำจัดพระญาติพระวงศ์ และทรงดำเนินพระราโชบายแบบเดียวกับพระเจ้าแสรกแมง ในเรื่องการจัดการกองทัพให้ทันสมัย ด้วยทรงมีพระประสงค์จะกู้เกียรติของพม่ากลับคืนมา โดยการหาทางติดต่อทางการทูตโดยตรงกับพระมหากษัตริย์อังกฤษ แต่ไม่สำเร็จ จึงทรงเสียพระทัยหันมาเสวยน้ำจัณฑ์ ทอดพระเนตรดูการชนไก่ การต่อยมวย หมกมุ่นอยู่ในอบายมุข ทรงละทิ้งการปกครองประเทศให้อยู่ในมือของเสนาบดีซึ่งไม่มีความสามารถ ทะเยอทะยาน และฉ้อราษฎร์บังหลวง

จะเห็นได้ว่า การคิดต่อกรกับอังกฤษเพื่อกู้เกียรติศักดิ์ศรีพม่าให้กลับคืนมาส่งผลให้กษัตริย์พม่าเสียผู้เสียคนไปแล้วถึงสามพระองค์ เริ่มตั้งแต่ พระเจ้าจักกายแมง พระเจ้าแสรกแมงและพระเจ้าพุกาม

มองอีกแง่หนึ่ง ก็น่ายกย่องกษัตริย์พม่าทั้งสามพระองค์ โดยเฉพาะสองพระองค์แรกที่ทรงมุ่งมั่นที่จะสร้างความยิ่งใหญ่และศักดิ์ศรีของอาณาจักรพม่า แม้นเสียดินแดนให้อังกฤษไปก็ยังทรงมุ่งมั่นที่จะกู้กลับคืนมา หาญกล้าจะรบกับอังกฤษอีก จนบางพระองค์ก็ต้องเสียสติ บางพระองค์ก็ไม่ปกติ หรือบางองค์ก็ทรงท้อพระทัยหมกมุ่นในอบายมุข ไม่สนใจกิจการบ้านเมืองไปเสียเลย

เมื่อกล่าวถึงการที่พม่าพยายามปรับปรุงกิจการกองทัพให้ทันสมัย โดยสั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากต่างประเทศและจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวยุโรปมาทำการหล่อปืนใหญ่ จะพบพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงมีพระราชดำริที่น่าสนใจอย่างยิ่ง พระองค์ทรงเห็นว่า การ ‘เป็นอย่างที่เราเป็นขณะนี้ ล้อมรอบไปด้วยดชาติมหาอำนาจทั้งสองหรือสามด้าน ประเทศเล็กอย่างเราจะทำอะไรได้ ? สมมุติว่าเราเกิดพบเหมืองทองในประเทศของเรา ที่เราจะสามารถได้ทองจำนวนมหาศาล ที่เพียงพอจะซื้อเรือรบเป็นร้อยลำ

แม้เป็นเช่นว่า เราก็ยังคงไม่สามารถต่อสู้พวกเขาได้ เพราะเรายังจะต้องซื้อเรือรบและอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างจากประเทศของพวกเขา เรายังคงไม่สามารถผลิตสิ่งเหล่านี้ได้ และแม้ว่าเราจะมีเงินพอที่จะซื้อ แต่พวกเขาสามารถที่จะหยุดขายเมื่อไรก็ได้ยามที่พวกเขารู้สึกว่าเรากำลังติดกำลังอาวุธ อาวุธที่เรามีจริงๆที่จะใช้ประโยชน์ได้จริงสำหรับเราในอนาคตก็มีแต่วาจาถ้อยคำและจิตใจของเราที่ประกอบอย่างเต็มเปี่ยมด้วยสำนึกเหตุผลและปัญญาที่จะเป็นเครื่องมือปกป้องตัวเรา’

พระองค์ทรงมองการพยายามปรับปรุงกองทัพเพื่อรับมือกับประเทศตะวันตกโดยการซื้ออาวุธและจ้างผู้เชี่ยวชาญจากประเทศตะวันตกว่าเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล เพราะประเทศเหล่านั้นจะหยุดขายทันทีหากเล็งเห็นว่าจะการขายอาวุธให้เป็นภัยหรืออุปสรรคต่อพวกเขา