Moral hazard กับการระบาดระลอกใหม่และระลอกถัดไปของโควิด 19
คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทัศนีย์ สติมานนท์ ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)www.econ.nida.ac.th; [email protected]
สวัสดีวันปีใหม่ไทยค่ะ สงกรานต์ปีนี้เป็นอีกปีที่หลายท่านต้องยกเลิกหรือเลื่อนการเดินทางไปเที่ยวเนื่องจากการระบาดของโควิดระลอกใหม่ ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ในรอบนี้เป็นผู้อยู่ในวัยทำงานและวัยเรียนซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่คล้ายกับการระบาดระลอกใหม่ในหลายประเทศ ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาที่จะกล่าวโทษใครสำหรับการระบาดครั้งใหม่นี้ หากแต่ต้องการพยายามอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยหลักคิดทางเศรษฐศาสตร์ รวมทั้งมีข้อเสนอแนะซึ่งอาจเป็นประโยชน์ได้บ้าง แต่คงมิใช่ข้อเสนอที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด
จากสถิติเกี่ยวกับผู้ป่วยโควิดนั้น พบว่า กลุ่มคนวัยทำงานและวัยเรียนที่ได้รับเชื้อส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย และมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะมีอาการรุนแรง ในขณะที่คนกลุ่มนี้ยังคงจำเป็นต้องมีกิจกรรมนอกบ้าน อาทิ การไปทำงานหรือไปเรียน ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบผลเสียหากต้องติดเชื้อโควิดกับประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินกิจกรรมตามปกติแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่คนกลุ่มนี้จะเลือกดำเนินชีวิตตามปกติ รวมทั้งการสังสรรค์ในสถานบันเทิงด้วย ซึ่งการสังสรรค์หลังเลิกงานหรือเลิกเรียนนั้นนับเป็นเรื่องปกติ หรือกระทั่งเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งในบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ดังคำพูดติดปากของหลายคนที่ว่า Work hard, play hard (er).
ในช่วงประมาณเดือนเมษายนปีที่แล้ว บางประเทศได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับ immunity passport ซึ่งเป็นการอนุญาตให้ผู้ที่มีผลตรวจว่ามีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสชนิดนี้สามารถกลับไปทำงาน (ช่วงนั้นหลายประเทศดำเนินมาตรการ lockdown) และสามารถทำกิจกรรมอื่นโดยไม่ต้องเว้นระยะห่างทางสังคมได้ ซึ่งทำให้มีผู้ทักท้วงว่า มาตรการนี้อาจก่อให้เกิด ปัญหา moral hazard ได้ กล่าวคือ ผู้ที่ยังไม่เคยติดเชื้อแต่เป็นผู้ที่แข็งแรงมีแนวโน้มที่จะทำให้ตนเองติดเชื้อและได้รับ immunity passport เพื่อดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติโดยคำนึงถึงแต่เพียงประโยชน์และต้นทุนของตนเพียงเท่านั้น แต่อาจเกิดปัญหาผลกระทบภายนอกตามมาคือ แม้ว่าตนผู้เป็นผู้ติดเชื้อจะไม่มีอาการมาก แต่สามารถเป็นพาหะนำเชื้อโรคไปสู่ผู้ที่ร่างกายไม่แข็งแรงได้ ส่งผลให้อาจมีการใช้ทรัพยากรทางการแพทย์มากเกินกว่าศักยภาพที่จะให้บริการได้ในแต่ละประเทศ
ปัญหา moral hazard ที่กล่าวถึงข้างต้น คือ สถานการณ์ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนไปจากเดิม โดยคนจะมีพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นและก่อให้เกิดผลเสียกับผู้อื่น ในที่นี้คือ หากมี immunity passport จะทำให้คนที่แข็งแรงมีแรงจูงใจให้มีพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้ได้รับเชื้อโควิดเพื่อได้รับ immunity passport ทำให้สามารถกลับไปทำงาน หรือมีกิจกรรมประจำวันได้ตามปกติ นอกจากนี้ ตัวอย่างปัญหา moral hazard ที่สำคัญในประเทศไทยเมื่อประมาณเดือนมีนาคมและเมษายนปีที่แล้วคือ มีคนกลุ่มหนึ่งที่ซื้อประกันโควิดจำนวนหลายกรมธรรม์ ซึ่งอาจเป็นแรงจูงใจให้ผู้ซื้อประกันมีพฤติกรรมเสี่ยงเพื่อให้ติดเชื้อโดยมีจุดประสงค์เพื่อรับค่าสินไหมทดแทน ซึ่งหากจ่ายค่าเบี้ยประกันรวมเป็นเงินประมาณ 5 – 6 พันบาท จะสามารถได้รับค่าสินไหมทดแทนสูงถึง 5 – 8.5 แสนบาทหากเป็นผู้ติดเชื้อโควิด ทำให้บริษัทประกันหลายแห่งเลิกขายกรมธรรม์ประเภทนี้
หากมองไปในอนาคตข้างหน้าที่คนไทยจะได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคโควิด19 เพิ่มขึ้นแล้ว ปัญหา moral hazard มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม เนื่องจากการฉีดวัคซีนทำให้คนมีแนวโน้มมีพฤติกรรมเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นเพราะคิดว่า ตนได้รับวัคซีนแล้วโอกาสที่จะเป็นผู้ป่วยติดเชื้อโควิดลดลง หรือจะมีอาการน้อยลงหากได้รับเชื้อ และจากสถิติประเทศต่าง ๆ ที่น่าสนใจซึ่งผู้เขียนได้เลือกมา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร อินโดนีเซีย บังกลาเทศ อินเดีย และไทย นั้น พบว่า ประเทศส่วนใหญ่ เมื่อจำนวนผู้ได้รับวัคซีนต่อ 1 ร้อยคน หรือเมื่อมีจำนวนผู้ได้รับวัคซีนครบถ้วนต่อ 1 ร้อยคน เพิ่มขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อ 1 ล้านคนมีแนวโน้มลดลง แต่มีบางช่วงที่มีอัตราส่วนการติดเชื้อเพิ่มขึ้น คำอธิบายหนึ่ง คือ เมื่อมีอัตราส่วนผู้ฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น ทำให้คนระมัดระวังตัวเองน้อยลง ไม่สวมใส่หน้ากากและเว้นระยะห่างทางสังคมเหมือนเดิมทำให้แม้มีอัตราส่วนการฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้นแต่มีบางช่วงที่มีอัตราส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากกราฟของประเทศสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และอินโดนีเซีย
สำหรับประเทศบังกลาเทศซึ่งมีจำนวนผู้ได้รับวัคซีนต่อ 1 ร้อยคน ณ วันที่ 10 เมษายน 2564 เท่ากับ 3.4 คน ซึ่งน้อยกว่าสามประเทศข้างต้นนั้น มีแนวโน้มจะมีอัตราส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง ในขณะที่ประเทศไทยนั้นยังไม่เห็นแนวโน้มความสัมพันธ์ของอัตราส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่กับอัตราส่วนของผู้ได้รับวัคซีนเท่าไรนัก เนื่องจากจำนวนผู้ได้รับวัคซีนต่อ 1 ร้อยคน ณ วันที่ 10 เมษายน 2564 เท่ากับ 0.1 คนเท่านั้น สำหรับประเทศอินเดียซึ่งมีจำนวนผู้ได้รับวัคซีนต่อ 1 ร้อยคน ณ วันที่ 10 เมษายน 2564 เท่ากับ 6.44 คนนั้นจะเห็นว่า อัตราส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงขึ้นแม้ว่าอัตราส่วนผู้ได้รับวัคซีนจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากสามปัจจัยหลัก ได้แก่ 1) เป็นช่วงเทศกาลที่มีการเฉลิมฉลองรวมทั้งมีการจัดการเลือกตั้งใน 5 รัฐ ทำให้มีการรวมตัวและขาดการระมัดระวัง 2) การควบคุมของรัฐที่ผ่อนคลายมากขึ้นเนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในอินเดียลดลงอย่างต่อเนื่อง และ 3) การกลายพันธุ์ของไวรัส ซึ่งปัจจัยข้อ 1) และ 2) เกิดจากปัญหา moral hazard ของประชาชนและภาครัฐนั่นเอง
แล้วต่อไปไทยควรจะทำอย่างไรดี ... จากใจผู้เขียนนะคะ ระยะอันใกล้นี้ เราต้องเตรียมยาและเวชภัณฑ์ให้เพียงพอค่ะ โดยเฉพาะช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ เห็นกราฟของประเทศอินเดียแล้วพอจะคาดการณ์ลักษณะกราฟของประเทศไทยช่วงหลังสงกรานต์พอสังเขปได้ หลังจากนั้นหากเราสามารถจำกัดจำนวนนักศึกษาหรือจำนวนนักเรียนต่อห้องเรียนได้ โดยคำนวณจากพื้นที่ห้องเรียน ห้องใหญ่ขึ้นสามารถมีนักเรียนจำนวนเพิ่มขึ้นได้ เราก็ควรจะจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ตามขนาดสถานที่ได้เช่นกัน หากมีการยกเลิกคอนเสิร์ตกลางแจ้งที่ไม่มีมาตรการรักษาระยะห่างได้ ก็ควรยกเลิกคอนเสิร์ตในห้องปิดที่ไม่มีการรักษาระยะห่างเช่นกัน การดำเนินการการควบคุมให้เกิดการรักษาระยะห่างอย่างต่อเนื่อง หรือ “อย่าการ์ดตก” เป็นสิ่งสำคัญ โดยช่วงที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงควรเป็นช่วงที่ต้องมีการประชาสัมพันธ์เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมเพราะคนทั่วไปจะไม่ระมัดระวังตัวแล้ว สำหรับระยะยาวกว่านั้น การเพิ่มจำนวนผู้ได้รับวัคซีนควบคู่กับการให้ความรู้กับผู้รับวัคซีนว่ายังคงต้องรักษาระยะห่างเป็นสิ่งสำคัญ และสำคัญมากสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยที่ต้องอาศัยการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ หากอัตราส่วนผู้ได้รับวัคซีนของไทยยังคงน้อยกว่าประเทศอื่นเช่นนี้ มันเปรียบเหมือนนักวิ่งที่ออกตัวจากจุดสตาร์ทช้ากว่าคนอื่นค่ะ มิเช่นนั้นเราจะถึงเส้นชัย ซึ่งคือการฟื้นฟูเศรษฐกิจช้ากว่าคนอื่นเช่นกันนะคะ