สถานการณ์ของแรงงานในจังหวัดสมุทรสาครช่วงการระบาดของโควิด - 19
โดย...ผศ.ดร.นภารัตน์ กรรณรัตนสูตร สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
*****************
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ทำให้รัฐบาลไทยมีการประกาศล็อกดาวน์ประเทศในช่วงเดือนมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานไทยหรือแรงงานข้ามชาติข้ามชาติ และแรงงานเหล่านี้บางส่วนติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 เนื่องในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติ วันที่ 1 พฤษภาคม (May Day or Labour Day) ผศ.ดร.นภารัตน์ กรรณรัตนสูตร ประธานหลักสูตรศิลป ศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสิทธิมนุษยชน (นานาชาติ) สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งทำงานวิจัยด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ของแรงงานในจังหวัดสมุทรสาครช่วงการระบาดของโควิด-19
เป็นที่ทราบกันว่า กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาในระบบ MOU (Memorandum Of Understanding) ประกอบด้วยคนงานชาวลาว ชาวกัมพูชา ชาวเมียนมา และชาวเวียดนาม ซึ่งทำงานประเภท 3Ds คือ งานอันตราย (Danger) งานที่มีความสกปรก (Dirty) และงานที่มีความยุ่งยาก (Difficult) ตามกฎหมายไทย แรงงานข้ามชาติมีสิทธิเข้าสู่ระบบกองทุนประกันสังคมโดยนายจ้างต้องขึ้นทะเบียนลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนภายใน 30 วันนับแต่วันที่ลูกจ้างเข้าทำงาน โดยจ่ายเงินสมทบในอัตราร้อยละ 5 จากฐานค่าจ้างที่นำมาคำนวณ นายจ้างจ่ายสมทบร้อยละ 5 รัฐบาลไทยจ่ายร้อยละ 2.75 โดยจะสามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการทางการรักษาพยาบาลตามเงื่อนไขและระยะเวลาในการส่งเงินสมทบ
อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ส่งผลกระทบต่อทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติในจังหวัดสมุทรสาคร ที่ประกอบด้วยโรงงานอุตสาหกรรม กิจการประมง และตลาดอาหารทะเลหลายแห่ง ซึ่งต้องพักการผลิต หรือปิดกิจการชั่วคราว เพราะพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 และเกิดการแพร่ระบาดภายในชุมชนในวงกว้าง โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ซึ่งอาศัยรวมกันอย่างแออัด ปัญหาสุขภาวะจึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การติดต่อเพื่อขอความช่วยเหลือค่อนข้างลำบาก โดยเฉพาะ กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ขาดความรู้ทางเทคโนโลยี หรือไม่มีสมาร์ทโฟน หรือไม่สามารถอ่านภาษาไทยได้ เช่นเดียวกับแรงงานไทยที่เป็นแรงงานนอกระบบ เช่น เกษตรกร คนขับมอเตอร์ไซต์รับจ้าง ฟรีแลนซ์ และอื่น ๆ ที่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิทธิการรักษาพยาบาล
จากการลงพื้นที่ในจังหวัดสมุทรสาครช่วงแรกของการระบาดหนักในพื้นที่ตลาดกลางกุ้ง พบว่า วัดเทพนรรัตน์ทจัดพื้นที่บางส่วนของวัด เพื่อรับข้าวสาร อาหารแห้ง และเงินบริจาค เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดนี้ ซึ่งรวมถึง แรงงานไทย แรงงานข้ามชาติ และครอบครัวของแรงงานทุกกลุ่ม ซึ่งขาดการรายได้จากการถูกเลิกจ้าง หรือการลดชั่วโมงการทำงาน โดยทางวัดจะจัดคิวให้แต่ละครอบครัวส่งตัวแทนมาหนึ่ง หรือสองคน เพื่อมารับสิ่งของภายในวัด เพื่อไม่ให้เกิดความแออัด
ในขณะที่ พ่อแม่ที่เป็นแรงงานข้ามชาติไม่สามารถทำงาน และขาดรายได้ ลูกของแรงงานเหล่านี้เกือบ 600 คนต้องหยุดเรียน เพราะศูนย์การเรียนเด็กข้ามชาติ วัดเทพนรรัตน์ จำเป็นต้องปิดบริการตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ทำให้ลูกของแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ไม่มีที่เรียนหนังสือ ไม่มีเครื่องมือทางเทคโนโลยี อย่างสมาร์ทโฟน และอินเตอร์เน็ต ที่จะช่วยให้เด็กเหล่านี้เรียนหนังสืออย่างต่อเนื่องบนโลกออนไลน์ และเด็กเหล่านี้ต้องอยู่แต่ในห้องพักที่แออัดไปด้วยสมาชิกในครอบครัวที่มีโอกาสติดโรคโควิดอย่างง่ายดาย
ในขณะที่ คุณครูที่เป็นแรงงานข้ามชาติของศูนย์การเรียนนี้ต้องตกงาน หลายท่านต้องเดินทางกลับประเทศพม่า บางท่านซึ่งได้สัญชาติไทย อย่างเช่น คุณครูโทน จำเป็นต้องเปลี่ยนอาชีพจาก คุณครู เป็นคนงานขายของชำ
ปัญหาการปิดบริการของศูนย์การเรียนนี้ ทำให้ท่านเจ้าอาวาสของวัดเทพนรรัตน์พยายามผลักดันให้ลูกของแรงงานข้ามชาติที่ศึกษาที่ศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติ วัดเทพนรรัตน์ เข้าศึกษาที่ โรงเรียนวัดเทพนรรัตน์ หรือโรงเรียนของรัฐอื่น ๆ เพื่อเปิดโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กกลุ่มนี้อีกครั้ง แต่ความพยายามของท่านยังคงไม่สำเร็จภายในเร็ววันตราบใดที่สถานการณ์โควิด – 19 ในจังหวัดสมุทรสาครยังคงไม่หมดสิ้นไป ท่านเจ้าอาวาสยืนยันว่า ท่านและคนในชุมชนจะยังคงให้ความช่วยเหลือทั้งแรงงานไทย และแรงงานข้ามชาติ อย่างเต็มกำลัง โดยไม่เลือกปฏิบัติ
เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติปีนี้ แรงงานทุกชีวิตได้รับผลกระทบในรูปแบบและระดับความรุนแรงของการสูญเสียสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานแตกต่างกันไป มูลค่าแห่งความเสียหายไม่สามารถประเมินเป็นเพียงตัวเลข แต่สภาวะจิตใจที่ตกต่ำของแรงงานพร้อมกับสภาวะทางเศรษฐกิจ ความร่วมมือของหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการทำให้แรงงานทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงสิทธิในการทำงาน สิทธิในอาหาร น้ำ เครื่องดื่ม ที่อยู่อาศัย สิทธิการรักษาพยาบาล และสิทธิทางการศึกษาของลูกของแรงงาน อีกครั้งอย่างเท่าเทียมกันและเป็นธรรม
*อ้างอิงข้อมูลจาก โครงการประชาสัมพันธ์แรงงานข้ามชาติ 2563 กรมประชาสัมพันธ์