posttoday

ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคโควิด-19 ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

03 พฤษภาคม 2564

โดย ธันยพร กริชติทายาวุธ

***************************

ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่ยังไม่มีท่าทีว่าจะจบลง เป็นช่วงเวลาที่ทุกภาคส่วนพยายามประคับประคองสถานการณ์ให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี พร้อมกับมองไปข้างหน้าเพื่อเตรียมความพร้อมต่อการฟื้นตัวจากวิกฤตครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมรับมือกับความท้าทายด้านเศรษฐกิจที่หนักหนาสาหัส หรือการมองวิกฤตนี้ให้เห็นเป็นโอกาสในการนำพาประเทศและองค์กรไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการเสริมสร้างความมั่นคง ของมนุษย์ ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจฐานราก การดูแลสภาพแวดล้อม และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการผลกระทบในด้านต่างๆ ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ อาทิ การลดภาวะ โลกร้อน การจำกัดขยะในทะเล และการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ

ขณะนี้ ประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “Bio-circular-Green Economy” หรือ “BCG Economy” ซึ่งก็คือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว โดยมุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืนอย่างน้อยใน 5 มิติ ได้แก่ ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางสาธารณสุข ความมั่นคงด้านพลังงาน หลักประกันการมีงานทำงาน และความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีหน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ และ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่ร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่องมาระยะหนึ่งแล้ว ด้วยความมุ่งหวังว่าหากเริ่มดำเนินการเรื่องนี้ได้เร็วเท่าไหร่ จะยิ่งช่วยฟื้นฟูให้ทุกอย่างกลับสู่ความปกติได้เร็วขึ้นเท่านั้น

ในส่วนของภาครัฐ มีหลายหน่วยงานที่ร่วมกันขับเคลื่อน หนึ่งในนั้น คือ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สอวช. ซึ่งมีภารกิจในการพัฒนาข้อริเริ่มและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตลอดจนเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG Economy) สาขาเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy, CE) ได้ศึกษาสถานภาพการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ทั้งในไทยและต่างประเทศ  รวมทั้งวิเคราะห์ช่องว่างและโอกาสของประเทศไทย พบว่าประเทศไทยยังขาดระบบนิเวศและโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนในหลายส่วน

ทั้งนี้ จากการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ผ่านมา สอวช. พบว่า CE Platform หรือการพัฒนาแพลตฟอร์มให้บริการที่จะช่วยสนับสนุนความรู้ เทคโนโลยี และการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทยยังมีจำนวนไม่มาก และส่วนมากเป็นการดำเนินงานแบบสมัครใจซึ่งมีความไม่ยั่งยืน  นอกจากนี้ การให้บริการยังจำกัดอยู่ในวงแคบ เนื่องจากทรัพยากรและองค์ความรู้ที่จำกัด ซึ่งหากต้องการให้เกิดผลกระทบ ในระดับสูง กิจกรรมเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนทรัพยากรและองค์ความรู้อีกมาก

ตัวอย่างในประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีความก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน จะพบว่ารัฐบาลได้จัดให้มีหน่วยงานตัวกลางรับผิดชอบหลักทำหน้าที่ขับเคลื่อนกิจกรรมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยเฉพาะ เช่น หน่วยให้บริการฝึกอบรมด้านการออกแบบหมุนเวียนแก่ภาคธุรกิจ แพลตฟอร์มจับคู่ความต้องการและโซลูชั่นด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน มูลนิธิส่งเสริมการส่งออกเทคโนโลยีเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยรูปแบบองค์กรอาจมีได้หลายรูปแบบ เช่น หน่วยงานของรัฐ องค์กรไม่แสวงผลกำไร หรือบริษัทเอกชน ทั้งนี้  ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของกิจกรรมหรือแพลตฟอร์มให้บริการนั้น ๆ ว่าต้องการความคล่องตัวหรือไม่ และมีความเป็นไปได้ทางธุรกิจอย่างไร

เพื่อศึกษาทดลองรูปแบบของ CE Platform ที่เป็นไปได้ สอวช. จึงได้ร่วมมือกับ CIRCO International Hub จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสาธิตกระบวนการออกแบบหมุนเวียน หรือ “Circular Design” โดยมีผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมทั้งภาคการศึกษาและภาคธุรกิจ โดยได้นำกระบวนการ Design Thinking, Human Centered Design และ Business Model Canvas มาผนวกกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้ประกอบการออกแบบสินค้าและบริการที่สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างมีระเบียบแบบแผน กระบวนการออกแบบหมุนเวียนนี้ได้ถูกนำไปฝึกอบรมให้กับผู้ประกอบการในประเทศเนเธอร์แลนด์และประเทศอื่น ๆ อีก 8 ประเทศ เช่น สิงคโปร์ บราซิล ตุรกี ศรีลังกา อินโดนีเซีย รวมถึงบางประเทศในสหภาพยุโรป ซึ่งหากได้รับการตอบรับที่ดีจะ มีการจัดตั้ง CIRCO International Hub ขึ้นในประเทศนั้น ๆ

ล่าสุด สอวช. ได้ร่วมมือกับสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย จัดให้มีโครงการสร้าง ขีดความสามารถด้านการออกแบบหมุนเวียน (Circular Design) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตผู้นำอบรม (Trainer) ออกแบบหมุนเวียน (Circular Design) ใน 10 เส้นทางธุรกิจ (Track)  อาทิ อาหาร ก่อสร้าง พลาสติก ยานยนต์ ชุมชน ฯลฯ ซึ่งจะต่อยอดไปสู่การพัฒนาแพลตฟอร์มสนับสนุนภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาสังคม โดยประยุกต์ใช้เครื่องมือและการออกแบบของ CIRCO International Hub ที่เหมาะสมกับบริบทไทย รวมทั้งสร้างเครือข่ายและระบบนิเวศ (Eco-System) ด้านการออกแบบหมุนเวียน (Circular Design) ตลอดจนถอดบทเรียนปัจจัยและช่องว่างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย  เพื่อพัฒนาระบบนิเวศเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เหมาะสมกับประเทศไทยต่อไป

โครงการดังกล่าว เริ่มดำเนินการแล้วในเดือนเมษายนที่ผ่านมา และกำลังอยู่ระหว่างรับสมัครนักพัฒนาผลิตภัณฑ์ นักพัฒนาธุรกิจ ทีมกลยุทธ์ธุรกิจ และผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ นำร่องด้วยการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ‘CIRCO DEMO Workshop’ รุ่นที่ 1 ในวันที่ 6 พฤษภาคม และรุ่นที่ 2 ในวันที่ 10 พฤษภาคมนี้  และจะมีการสัมมนา เชิงปฏิบัติการเส้นทางธุรกิจที่หนึ่ง (1st Track) ในรูปแบบออนไลน์และและผสมผสาน (Hybrid) ในระยะเวลา 5 วัน ในช่วงเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม ที่จะถึงนี้

โดยมีวิทยากรจาก CIRCO ประเทศเนเธอร์แลนด์มาแนะนำเครื่องมือการออกแบบหมุนเวียน (Circular Design methodology) ภายใต้แนวคิด “Creating business through circular design” เพื่อการออกแบบผลิตภัณฑ์ บริการ โมเดลธุรกิจ และนวัตกรรมในเศรษฐกิจหมุนเวียน โดย ทุกท่านจะได้ร่วมแลกเปลี่ยนและจุดประกายไอเดียใหม่ๆ ผ่านการค้นหาช่องว่างทางโอกาสของธุรกิจในเศรษฐกิจหมุนเวียน ประยุกต์ใช้โมเดลธุรกิจหมุนเวียนและกลยุทธ์การออกแบบหมุนเวียน เพื่อเริ่มต้นก้าวแรกสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ และโมเดลธุรกิจที่สร้างคุณค่าและตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ ในขณะที่ยังรักษาคุณค่าของสินค้าและบริการได้จนสิ้นสุดอายุการใช้งาน นอกจากนี้ ยังจะได้เรียนรู้กรณีศึกษาที่น่าสนใจจากบริษัทหรือ นักออกแบบที่เคยเข้าร่วมการสัมมนานี้มาก่อนกว่า 600 บริษัท และพบกับบริษัทอื่นๆที่กำลังเริ่มต้นเส้นทางสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน  

ผู้สนใจ  CIRCO DEMO Workshop  เพื่อเริ่มก้าวแรกสู่เส้นทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนไปด้วยกัน สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายที่ https://forms.gle/hmh5aadWXEdMu62g9  สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อคุณกมลนาถ องค์วรรณดี (ผู้จัดการโครงการ) โทร 081 919-9740

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นเรื่องใหญ่ที่มีหลากหลายมิติ นอกจากภาครัฐแล้ว ภาคเอกชนก็มีบทบาทสำคัญไม่น้อยในการร่วมขับเคลื่อน ในตอนหน้าจะขอนำเสนอแนวคิดและวิถีปฏิบัติขององค์กรธุรกิจชั้นนำ ซึ่งเป็นองค์กรสมาชิกของสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ที่เป็นกำลังสำคัญในเรื่องนี้  ติดตามได้ใน วันจันทร์หน้า

ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคโควิด-19 ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน