“หนังยาง” “คลิปหนีบกระดาษ” และการสูญเสียทุนมนุษย์หลังยุคโควิด-19
วิกฤตแรงงานไทยหลังยุคโควิด-19 ที่จะไม่มีทางกลับมาเหมือนเดิม หากรัฐบาลไม่เร่งเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงานไทยเป็นการเร่งด่วน
คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ศาสตราจารย์เงินเดือนขั้นสูง (ศาสตราจารย์ระดับซี 11)ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์www.econ.nida.ac.th; [email protected]
การแพร่ระบาดมากว่าหนึ่งปีของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลให้อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) ของประเทศไทยได้ปรับสูงขึ้นประมาณ 8.4 ล้านคน โดยในจำนวนนี้สามารถแบ่งเป็น (1) แรงงานในภาคการท่องเที่ยวซึ่งมีประมาณ 3.9 ล้านคน (ไม่รวมสาขาการค้าส่งและการค้าปลีก) จะได้รับผลกระทบจากการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติและการท่องเที่ยวในประเทศประมาณ 2.5 ล้านคน, (2) แรงงานในภาคอุตสาหกรรมซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ระบาดและต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน จากการลดลงของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ แรงงานในภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด 5.9 ล้านคน คาดว่ามีผู้ได้รับผลกระทบ 1.5 ล้านคน, (3) การจ้างงานในภาคบริการอื่นที่ไม่ใช่การท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด เช่น การปิดสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งมีการจ้างงานจำนวน 10.3 ล้านคน คาดว่าจะมีแรงงานได้รับผลกระทบประมาณ 4.4 ล้านคน นอกจากนี้ยังไม่รวมเด็กจบใหม่จากสถาบันอุดมศึกษาอีกประมาณ 5.2 แสนคนที่มีความเสี่ยงจากการตกงาน
ทั้งนี้ ได้มีข้อกังวลว่า ปัญหาโควิด-19 นี้จะกินระยะเวลานาน โดยถึงแม้ว่าจะมีการฉีดวัคซีนในประเทศต่างๆ แล้ว แต่เศรษฐกิจของประเทศ (และของโลก) คงจะไม่ได้เกิดการฟื้นตัวในเร็ววัน โดยสาเหตุสำคัญประการหนึ่งก็คือ การที่ประเทศจำต้องสูญเสียศักยภาพของแรงงานและทุนมนุษย์อย่างมหาศาลจากวิกฤตการครั้งนี้ ยกตัวอย่างเช่น
1) แรงงานที่ตกงานอาจจะสูญเสียทักษะและประสบการณ์จากการว่างงานเป็นเวลานานเกินไป จนกระทั่งทักษะเหล่านั้นอาจจะเกิดการล้าสมัย (Obsolete)
2) เนื่องจากการที่เศรษฐกิจไม่ได้เกิดการฟื้นตัวอย่างเต็มที่ นายจ้างอาจใช้เวลาที่ใช้ในการว่างงานเป็นเครื่องมือในการคัดกรองเช่นเพื่อกำจัดพนักงานที่ต้องการน้อยลงในการตัดสินใจจ้างงาน หรือการที่ภาคอุตสาหกรรมเกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้เทคโนโลยีเพื่อทดแทนการจ้างงาน อันส่งผลทำให้ความต้องการในการจ้างงานจำเป็นต้องน้อยลงกว่าเดิม
3) ไม่เฉพาะเพียงในนอกจากในประเด็นด้านการว่างงาน การเกิดขึ้นของโรคโควิด-19 ยังนำมาซึ่งการเจ็บไข้ได้ป่วย และการสูญเสียชีวิตของผู้คนซึ่งจะส่งผลต่อการลดลงของทั้งปริมาณและคุณภาพแรงงาน ที่อาจไม่สามารถกลับไปทำงานได้อย่างเช่นเดิม และ
4) การที่บัณฑิตที่จบใหม่จากรั้วการศึกษาอาจไม่สามารถที่จะหางานที่ตรงตามที่จบมา โดย ผลการศึกษาจากงานวิจัยหลายชิ้นในต่างประเทศ ที่มีการประเมินผลกระทบต่อแรงงานที่จบการศึกษาในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ พบว่า นอก จากผลกระทบระยะสั้นในเรื่องการหางานทำแล้ว การจบการศึกษาในช่วงวิกฤติยังส่งผล กระทบในระยะยาว ทั้งในเรื่องเส้นทางความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและรายได้ในอนาคตอีกด้วย โดยแรงงานกลุ่มนี้ มีแนวโน้มที่จะทำงานไม่ตรงตามระดับการศึกษา เป็นการทำงานที่ตํ่ากว่าระดับการศึกษาที่จบมา และทำงานไม่ตรงตามสาขาที่เรียนจบมา (Fogg and Harrington, 2011) โดยเฉพาะแรงงานที่จบการศึกษาในสาขาที่ต้องทำงานในภาคเอกชน
ปรากฏการณ์ที่เกิดจากการสูญเสียศักยภาพของแรงงานและทุนมนุษย์จากวิกฤตการครั้งนี้นักเศรษฐศาสตร์เราเรียกว่า “ปรากฏการณ์ฮิสเทอรีซิส (Hysteresis)” ซึ่งหมายถึงการที่ต้นตอของปัญหาถูกแก้ไขไปจนหมดแล้ว (ซึ่งในที่นี้ก็คือโควิด-19) แต่ผลกระทบของปัญหานั้นยังคงเกิดขึ้นอยู่ ไม่ได้หายไปตามต้นตอของปัญหาที่หายไป โดยคำยว่า Hysteresis ได้ถูกเรียกครั้งแต่จาก Olivier Blanchard (Peterson Institute for International Economics) ที่ได้ใช้คำว่าฮิสเทอรีซิสเพื่ออธิบายความแตกต่างของอัตราการว่างงานระยะยาวระหว่างยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยที่การปฏิรูปตลาดแรงงาน (โดยปกติหมายถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงสถาบันที่ส่งเสริมค่าจ้างการยิงและการจ้างงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น) หรือการเติบโตทางเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ที่แข็งแกร่งจึงไม่อาจลดจำนวนผู้ว่างงานในระยะยาวนี้ได้
นักเศรษฐศาสตร์อีกคนอย่าง Richard Boldwin (Graduate Institute of International and Development Studies in Geneva) ยังได้อธิบายพลวัต (Dynamic) ที่จะเกิดขึ้นหลังยุคโควิด-19 โดยจะเกิดขึ้นได้สองพลวัตได้แก่ 1) พลวัตหนังยาง (Rubber-Band Dynamic) และ 2) พลวัตคลิปหนีบกระดาษ (Paper-Clip Dynamic) โดย Richard Boldwin ได้อธิบายความแตกต่างของสองพลวัตนี้ว่า “เวลาเราดึงหนังยางและปล่อยออก หนังยางนั้นก็จะกลับเข้ารูปแบบเดิม แต่ถ้าเราดึงคลิปหนีบกระดาษออก มันจะกลับไปไม่เหมือนเดิม” ซึ่ง Richard Boldwin ได้อธิบายปรากฏการณ์ฮิสเทอรีซิสเป็นเหมือนกับพลวัตคลิปหนีบกระดาษ (Paper-Clip Dynamic) ตลาดแรงงานหลังยุคโควิด-19 จะไม่กลับมาเป็นเหมือนเดิมอีกต่อไป
ทั้งนี้จากปาฐกถาของนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) อย่าง Lawrence Summers ได้ศึกษาผลกระทบของฮิสเทอรีซิส (Hysteresis) ต่ออัตราการเติบโตตามศักยภาพของประเทศสหรัฐในระยะยาว อันส่งผลกระทบต่อฐานะการคลังของรัฐบาลสหรัฐในอนาคต โดย ผลการศึกษาระบุว่า การปรากฏขึ้นของ Hysteresis ถือเป็นเหตุผลสนับสนุนการใช้จ่ายของภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ Lawrence Summers ได้กล่าวถึงความสำคัญของการใช้นโยบายการคลังเพื่อต่อสู้กับวิกฤติเศรษฐกิจและการเลิกจ้างที่เกิดขึ้นในวิกฤติ โดยปาฐกถาดังกล่าวได้แสดงให้เห็นว่ารัฐอาจไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงระดับหนี้สาธารณะมากนักในช่วงเวลาวิกฤติ เนื่องจากการรักษาการจ้างงานของแรงงานจะช่วยสนับสนุนให้ประเทศมีศักยภาพในฟื้นคืนมาได้ในระยะยาว ซึ่งจะส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อรายได้ประชาชาติ (GDP) ปรับตัวลดลงไปในที่สุด และการดำเนินนโยบายการคลังในลักษณะนี้จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อรายได้ประชาชาติปรับตัวลดลงต่ำกว่ากรณีที่รัฐบาลไม่ทุ่มเททรัพยากรเพื่อต่อสู้กับวิกฤติเศรษฐกิจ อันนำไปสู่ปรากฏการณ์ Hysteresis ที่ฉุดรั้งศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว
ในกรณีของงานศึกษาในประเทศไทย งานศึกษาในชุดโครงการ “ผลกระทบของโควิด-19 ต่อภาคเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไทย” (ที่มีผมเป็นหัวหน้าชุดโครงการ) ได้ศึกษาผลกระทบของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยในส่วนของระยะยาว หนึ่งในทีมวิจัยของเราซึ่งได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ภาวิน ศิริประภานุกูล ได้ทำการประมาณการผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยะยาวจากจากปัญหาการว่างงานและการสูญเสียของทุนมนุษย์ จากสถานการณ์ฮิสเทอรีซิสที่จะเกิดขึ้นหลังโควิด-19 ผลการศึกษาพบว่า ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป อัตราการเติบโตตามศักยภาพของประเทศไทยปรับตัวลดลงจากกรณีฐานราวประมาณร้อยละ 0.4 – 0.9 ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่าการปรับตัวลดลงดังกล่าวเป็นผลลัพธ์ของปรากฏการณ์ Hysteresis ซึ่งวิกฤติเศรษฐกิจในระยะสั้นจากโควิด-19 นี้ได้ส่งผลทำลายระดับทุนมนุษย์ของประเทศ อันส่งผลกระทบต่อศักยภาพในการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวไปด้วย
ดังนั้นในการที่จะบรรเทาปัญหาการว่างงานและการสูญเสียของทุนมนุษย์ จากสถานการณ์ฮิสเทอรีซิสที่จะเกิดขึ้นหลังโควิด-19 นี้ รัฐบาลไทยจำเป็นต้องเร่งพัฒนาทักษะการทำงานของแรงงานในเชิงรุก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่ได้มีการปรับเปลี่ยนไปสู่ภาคการผลิตใหม่ (Reskill and Upskill) หรือแรงงานในกลุ่มที่ประกอบธุรกิจส่วนตัว (Self-Employed) ซึ่งอาจยังไม่มีความรู้หรือประสบการณ์ในการทำธุรกิจมากนัก นอกจากนั้น การให้ความสำคัญกับการนำแรงงานกลับเข้ามาทำงานใหม่อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในงานที่แรงงานมีทักษะความชำนาญหรือมีความคุ้นเคย จะมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบจากปรากฏการณ์ฮิสเทอรีซิสลงไปได้บ้าง