เรียนรัฐศาสตร์จากวรรณคดีไทย (10)
โดย...ทวี สุรฤทธิกุล
*****************
ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ คือ 3 เสาหลักของสังคมไทยมาตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน
ในเรื่องขุนช้างขุนแผน เมื่ออ่านดูเผิน ๆ อาจจะนึกว่าเป็นนิยายบันเทิงเริงรมย์ อย่างที่ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช บอกว่า เมื่อได้ฟังคนจำนวนมากวิจารณ์เรื่องขุนช้างขุนแผนว่า เป็นเรื่องลามกหยาบคาย ท่านก็ทนไม่ได้ จำเป็นต้องออกมาเขียนเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่” ดังกล่าว โดยท่านมีมุมมองว่า “นี่แหละคือเรื่องของชีวิตไทย คนไทย และสังคมไทย” ทั้งยังบอกด้วยว่า “เรื่องนี้คือตำรารัฐศาสตร์ของไทยดี ๆ นี่เอง”
ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นปราชญ์ที่เชื่อว่า “สังคมที่มั่นคงต้องมีแกนให้ทุกคนยึดเกาะ” โดยท่านได้ให้ความสำคัญกับพระมหากษัตริย์เป็นอย่างมาก ว่าเป็นแกนที่สำคัญที่สุดในสังคมไทย ซึ่งในเรื่องขุนช้างขุนแผน ท่านได้ชี้ให้เห็นว่า “คนไทยแม้จะอยู่ในสภาพใดก็ต้องมีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ไว้ให้มั่นคง” ดั่งชีวิตของขุนแผนที่อยู่ในวิถีแห่งความจงรักภักดีนั้นตลอดชีวิต และแกนทางสังคมที่มีความสำคัญในลำดับต่อมาก็คือ “ศาสนา” ที่บางทีอาจจะอยู่เหนือสถาบันพระมหากษัตริย์เสียด้วยซ้ำ เพราะแม้แต่พระมหากษัตริย์ก็ยังต้องพึ่งพิงศาสนามาส่งเสริมพระบรมเดชานุภาพ รวมถึงที่เมื่อสังคมไทยอยู่ในภาวะคับขัน เช่น ครั้งที่จะเสียกรุงศรีอยุธยาในครั้งที่ 2 คนไทยก็หันไปพึ่งพิงพระศาสนากันแทบทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม ศาสนาในสมัยอยุธยาตอนปลายไม่ได้มั่นคงสวยงามอย่างที่ควรเป็น กลับอยู่ในภาวะที่วุ่นวายและ “เหลวแหลก” อย่างน่าเศร้าใจ เรื่องนี้ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้นำเสนอไว้ในการบรรยายเกี่ยวกับสังคมไทยในสมัยอยุธยาที่สืบเนื่องมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ว่า ครั้นสิ้นกรุงศรีอยุธยาแล้ว พระเจ้าตากก็ได้กอบกู้สร้างชาติขึ้นใหม่ สถาปนาขึ้นเป็นกรุงธนบุรี นอกจากจะสร้างชาติให้มีความแข็งแกร่งทางทหารแล้ว ก็ยังได้เสริมสร้างพระพุทธศาสนาให้มั่นคงขึ้นด้วย ถึงขั้นที่ได้ทุ่มเทพระวรกายในช่วงท้าย ๆ ของพระชนม์ชีพผนวชเป็นพระภิกษุ แต่ก็ยังไม่เป็นที่ต้องพระราชประสงค์ จนกระทั่งสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นแล้ว จึงได้ทรงทำการปฏิรูปพระพุทธศาสนาครั้งใหญ่ โดยได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับพระสงฆ์นับสิบฉบับ
ทั้งนี้ในกฎหมายดังกล่าวได้บรรยายถึง “ความเละเทะ” ในสังคมพระสงฆ์ไว้อย่างละเอียด ดังที่จะขออนุญาตนำมาลงเป็นหลักฐานไว้ ณ ที่นี้ ตามอักษรและการสะกดการันต์แบบโบราณ ดังนี้
“บัดนี้ พระสงฆ์อันนับเข้าในพระพุทธชิโนรส มิได้มีหิริโอตัปะคบหากันทำอุลามก เปนอะลัชชีภิกษุคือเสพสุรายาเมาน้ำตาลซ่มแลโภชนอาหารของกัดของเคี้ยวเวลาปัจฉาภัตร และในราตรีก็มีบ้าง ลางเหล่าเอาผ้าพาดบาตรเหล็กไปขายแลกเหล้าเล่นเบี้ยเสีย มิได้ครองไตรยจีวร กระทำจอมปลอมเหมือนสามเณร มิได้ปลงผมโกนหนึ่ง สองโกนบ้าง เที่ยวกลางวัน กลางคืนดูโขนดูหนังดูหุ่นดูลคอน เบียดเสียดอุบาศกสีกา พูดจาตลกคนองเฮฮาหยาบช้าทารุน ลางเหล่าเหนเด็กชายลูกข้าราชการอาณาประชาราษฎรรูปร่างหมดหน้าก็พูดจาเกลี้ยกล่อม ชักชวนไปไว้ แล้วกอดจูบหลับนอนเคล้าคลึง ไปไหนเอาไปด้วย แต่งตัวเด็กโอ่อวดประกวดกันเรียกว่าลูกสวาศ ลูกสุดใจ ก็มีบ้างที่ช่วงชิงลูกสวาศ เกิดความหึงษาพยาบาทจนเกิดวิวาทตีรันกันตายด้วยไม้กระบองซั่น
พิจารณาได้ตัวมารับเปนสัตยได้ไม้กระบองซั่นเปนหลายอัน ลางพวกเหนสลุบกำปั่นสำเภาจีนเข้ามา ก็ขึ้นเที่ยวบนสำเภา ซุกซนซื้อหาของเล่นอนละวนจีนจามฝรั่ง ให้เดียรัดถียนครณฐดูหมิ่นก็มีบ้าง ลางพวกก็เที่ยวซื้อผ้าแพรพรรณในพ่วงแพแลร้านแขกร้านจีน เอาไปเย็บย้อมเปนผ้าพาด ผ้าจีวร สบง สใบ รัดประคต กราบพระ อังษะ กระทำเปนศรีแสดศรีชมภู นุ่งครอง ให้ต้องอาบัติเปนมหานิศสัคคีทุกครั้ง ลางพวกก็นุ่งแดงห่มแดง ลางพวกก็นุ่งห่มเปนแต่ศรีกร้ำกรุ่นอำปลัง คาดรัดประคตบ้าง ไม่คาดรัดประคตบ้าง คลุมศีรษะ สูบบุหรี่ ดอกไม้ห้อยหู เดินกรีดกรายตามกันดุจฆราวาศ
ลางจำพวกขึ้นพระพุทธบาท เดินทางคาดกระตุด โพกประเจียก ถือดาบ ถือกระบี่ ถือกฤช ดุจพวกโจร ถึงพระพุทธบาทแล้ว คุมกันเปนพวก ๆ กลางวันเข้าถ้ำร้องลคอนลำนำหยอกสีกา กลางคืนก็คลุมศีษะตามกัน ตีวงร้องปรบไก่ดุจฆราวาศ ลางจำพวกเปนนักสวด สัปุรุษยทายกนิมนตสวดพระมาไลย ไม่สวดต้องตามเนื้อความพระบาฬี ร้องเปนลำนำแขก ญวณ จีน มอญ ฝรั่ง แล้วฉันสาคูเปียก แกงบวด เมี่ยงซ่ม เมี่ยงใบกล้วยอ้อย ก็มีบ้าง แลซึ่งพระสงฆ์สามเณรกระทำจลาจล เปนมหาโจรปล้นพระสาศนาดังนี้ เพราะพระสงฆ์ พระราชาคณะ ถานานุกรม เจ้าอธิการ ละเมินเสีย มิได้ดูกำชับห้ามปราม ”
อ่านดูแล้วหลายคนคงเศร้าใจ และอาจจะมาเปรียบเทียบถึงสังคมไทยในปัจจุบันนี้ว่า มีสภาพเหมือนพระสงฆ์ในครั้งที่จะเสียกรุงศรีอยุธยานั้นหรือไม่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้จัดการกับความฟอนเฟะในครั้งนั้นอย่างเด็ดขาด ถึงขั้นที่จับพระสึกนับร้อย (ลางคนว่าถึงขั้นเฆี่ยนดีและจำคุกอลัชชีเหล่านั้นด้วย) และทรงจัดระเบียบการบริหารพระสงฆ์ให้มาอยู่ในพระราชอำนาจ รวมถึงออกกฎหมายควบคุมให้เข้มงวดดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าศาสนานั้นจะได้รับการส่งเสริมและยึดถือกันมาก แต่ก็ยังน้อยกว่า “ความเชื่อ” ที่ถือกันว่าเป็นศาสนาเดิมของมนุษย์ และยิ่งนำความเชื่อมาผสมปนเปกับศาสนาก็ยิ่งสร้างความวุ่นวายสับสน อย่างในเรื่องขุนช้างขุนแผน ที่ได้แสดงให้เห็นว่าคนไทยอาศัยอยู่ท่ามกลางความเชื่อต่าง ๆ จนแยกไม่ออกว่าอะไรเป็นศาสนาหรือไสยศาสตร์ ซึ่งความเชื่อเหล่านี้ก็เป็นส่วนสำคัญหรือ “แกนสังคม” อย่างหนึ่งในสังคมไทยได้เช่นเดียวกัน ดังชีวิตของนางวันทองผู้เป็น “แกนเรื่อง” ของเรื่องขุนช้างขุนแผน ที่ต้องตกอยู่ในชะตากรรมที่ตัวเองกำหนดเอาเองไม่ได้ แต่ต้องตกอยู่ภายใต้การกำหนดโดยกฎเกณฆ์ของสังคมยุคนั้น ที่มีเรื่องของความเชื่อเป็นแกนหลัก อันนำมาสู่โศกนาฏกรรมของนางวันทอง และทำให้วรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน “ตราตรึง” อยู่ในความทรงจำของสังคมไทยมาทุกยุคทุกสมัย
ว่าเรื่อง “ผัว ๆ เมีย ๆ” นี่แหละ ที่เป็น “ปมปัญหา” ของการเมืองการปกครองไทยในทุกยุคทุกสมัย
************************