ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่24): การเมืองสามฝ่ายในต้นรัชกาลที่ห้า
โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร
*********
สมการทางการเมืองในช่วงต้นรัชกาลที่ห้าดำรงอยู่ในสัมพันธภาพทางอำนาจระหว่างสามฝ่าย อันได้แก่ หนึ่ง ฝ่ายพระมหากษัตริย์ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหรือฝ่ายวังหลวง สอง ฝ่ายกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญหรือฝ่ายวังหน้า และสาม ฝ่ายขุนนางตระกูลบุนนาคที่นำโดยผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน นั่นคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) และระหว่างสามฝ่ายนี้ ฝ่ายที่มีอำนาจนำคือ ฝ่าย สมเด็จเจ้าพระยาฯ
การเมืองการปกครองในขณะนั้น จึงเป็นราชาธิปไตยแต่ในนาม แต่ในความเป็นจริง เป็นการปกครองอภิชนาธิปไตยที่มีอำนาจเหนือราชาธิปไตย นั่นคือ กลุ่มอภิชนขุนนางมีอำนาจเหนือพระมหากษัตริย์ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า พระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯอยู่ภายใต้ข้อจำกัด อันได้แก่ ในขณะที่เสด็จขึ้นครองราชย์ด้วยยังไม่เจริญพระชันษา อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินจึงอยู่ภายใต้ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
อีกทั้งผู้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล สมเด็จกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ พระองค์ก็ไม่ได้เป็นผู้ทรงแต่งตั้งดังพระมหากษัตริย์ที่ผ่านมา แต่แต่งตั้งอย่างผิดราชประเพณีโดยที่ประชุมพระราชวงศ์และขุนนางเสนาบดีภายใต้อำนาจและอิทธิพลของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
และนับตั้งแต่รัชกาลที่สามเป็นต้นมา กลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคได้เติบโตขยายอำนาจอิทธิพลมาโดยตลอดจนเหนือกว่าพระมหากษัตริย์ดังที่ปรากฎในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯจนถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่สอง ทำให้พระองค์เป็นเพียง “กษัตริย์หุ่น” ไม่ทรงมีพระราชอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน รวมไปถึงอำนาจในการควบคุมทรัพยากรสำคัญที่เป็นฐานอำนาจทางการเมือง นั่นคือ กำลังคนและกำลังเงิน ซึ่งอำนาจดังกล่าวนี้ตกอยู่กับขุนนางโดยเฉพาะอย่างยิ่งตระกูลบุนนาค
ดังนั้น การดึงอำนาจทางการเมืองกลับคืนมา จึงจำเป็นต้องหาทางที่จะคุมกำลังคนและกำลังเงินให้ได้ ซึ่งเป็นปัญหาภาวะการขาดดุลเงินแผ่นดินกำลังเป็นปัญหาร้ายแรงอย่างยิ่งในขณะนั้น เงินไม่พอจ่ายราชการและแม้กระทั่งค่าพระราชพิธีบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯก็ยังเป็นหนี้อยู่
ด้วยในสมัยรัชกาลที่สี่ “อำนาจในการควบคุมรายได้ที่สำคัญ การได้กำกับการเก็บภาษี ที่มีขั้นตอนตั้งแต่การประมูลให้สิทธิ์เจ้าภาษีนายอากรไปผูกขาดเก็บภาษี และรับบัญชีส่งเข้าท้องพระคลัง ซึ่งก่อนจะถึงขั้นนี้ เจ้านายหรือขุนนางที่กำกับภาษีมีสิทธิ์ใช้เงินที่จัดเก็บได้ในงานราชการตามกรมกองของตนก่อนนำส่งท้องพระคลัง ทั้งยังได้ ‘สิบลด’ หรือร้อยละ 10 ของรายได้เป็นส่วนแบ่งด้วย อำนาจการกำกับภาษีที่กระจายอยู่กับเจ้านายและขุนนางส่งผลให้อำนาจทางเศรษฐกิจของกษัตริย์ที่เลิกทำการค้าของรัฐผ่านกรมพระคลังสินค้าลดน้อยลงไปมาก แม้ได้มีข้อตกลงกันว่าฝ่ายที่กับภาษีจะส่งเงินร้อยละ 5 ของรายได้ที่จัดเก็บเข้า ‘พระคลังข้างที่’ ซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ แต่ในความเป็นจริงแทบไม่มีใครปฏิบัติตาม
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้กำกับภาษีแต่ที่อยู่ในความดูแลของกรมพระคลังมหาสมบัติเท่านั้น ส่วนภาษีที่เจ้านายและขุนนางอื่นดูแลอยู่ก็มักหาทางหลีกเลี่ยงปิดบังเป็นผลประโยชน์ส่วนตน ทำให้เงินพระคลังข้างที่ของพระมหากษัตริย์และเงินพระคลังหลวงที่เป็นเงินส่วนกลางร่อยหรอลงทั้งสองส่วน การใช้เงินพระคลังข้างที่ในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้พระคลังข้างที่ต้องเป็นหนี้พระคลังหลวงอยู่กว่า 10 ปี”
ขณะเดียวกัน นอกจากปัญหาการอยู่ภายใต้การปกครองอภิชนาธิปไตยที่มีอำนาจเหนือราชาธิปไตย ซึ่งเป็นปัญหาปัจจัยภายในทางการเมืองแล้ว ประเทศยังตกอยู่ภายใต้การคุกคามของลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตกที่มีอยู่ทั่วไปโดยรอบประเทศ นับเป็นอันตรายร้ายแรงต่อความเป็นเอกราชอย่างยิ่ง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายใต้สภาพการเมืองภายในที่อยู่ในภาวะที่สับสนวุ่นวายทั้งในเรื่องโครงสร้างทางการบริหารราชการแผ่นดินและการคลัง ถือเป็นความเปราะบางต่อการแทรกแซงของมหาอำนาจตะวันตก
ดังนั้น การปฏิรูปด้านกำลังคนและการคลังจึงไม่เพียงจะตอบโจทย์การดึงอำนาจทางการเมืองให้กลับคืนสู่ฝ่ายพระมหากษัตริย์เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการพัฒนาการบริหารราชการแผ่นดินในมีประสิทธิภาพเพื่อรับมือกับการคืบคลานของชาติมหาอำนาจตะวันตกด้วย
ดังนั้น การปฏิรูประบบการคลังและกำลังคนจึงเป็นสิ่งจำเป็นและก็เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปที่นำสยามไปสู่การเป็นรัฐสมัยใหม่
ในการทำความเข้าใจจุดเริ่มต้นของการปรับสมการทางการเมืองและการเข้าสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่ เราจะต้องเข้าใจปรากฎการณ์การการกำเนิดกลุ่มการเมืองสามกลุ่มดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น
กำเนิดกลุ่มการเมือง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเข้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่สองในวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 และทรงเริ่มที่จะรวมอำนาจกลับคืนสู่พระมหากษัตริย์โดยทันท และในช่วงเวลาที่การต่อสู้ทางการเมืองเริ่มต้นขึ้น ได้เกิดปรากฏการณ์กลุ่มการเมืองสามกลุ่มขึ้นอย่างชัดเจน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน)
กลุ่มการเมืองสามกลุ่ม
ก่อนที่จะกล่าวถึงการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อดึงอำนาจกลับคืนมาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ จะขออธิบายเกี่ยวกับกลุ่มการเมืองทั้งสามนี้ก่อน เพราะกลุ่มการเมืองทั้งสามนี้จะเป็นตัวแสดงทางการเมืองที่สำคัญในการปรับสมการสัมพันธภาพทางอำนาจของการเมืองสยามในสมัยรัชกาลที่ห้า
การสังเกตพบกลุ่มการเมืองสามกลุ่มนี้ปรากฎครั้งแรกในข้อเขียนของหมอสมิธที่เป็นมิชชันนารีที่พำนักอยู่ในสยาม ณ เวลานั้น ในข้อเขียนของหมอสมิธในปี พ.ศ. 2416 เขาได้กล่าวว่ามีกลุ่มการเมืองสามกลุ่ม โดยเขาเรียกว่า “Old Siam” “Young Siam” และ “Conservative Siam” ซึ่งต่อไปจะใช้ว่า สยามเก่า สยามหนุ่ม และสยามอนุรักษ์นิยม) โดยนัยความหมายของกลุ่มการเมืองทั้งสามนี้คือ
สยามเก่า หมายถึง ชนชั้นนำสยามหัวเก่าที่ไม่ยอมเปิดรับการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงที่มาจากอิทธิพลตะวันตก โดยหมอสมิธได้ระบุว่า ต้นแบบของสยามเก่าคือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ซึ่งเป็นอคติและความเข้าใจผิดของหมอสมิธดังที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้แล้ว
สยามหนุ่ม หรือเจ้านายและขุนนางรุ่นใหม่ อันได้แก่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) ผู้เป็นน้องชายต่างมารดาของสมเด็จเจ้าพระยาฯเป็นเสนาบดีคุมพระคลัง และรวมทั้งกลุ่มเจ้านายและขุนนางรุ่นหนุ่มจำนวนหนึ่ง
เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค)
เป็นไปได้มากว่า คำว่า “Young Siam” นี้ หมอสมิธไม่ได้คิดตั้งขี้นมาเอง แต่กลุ่มเจ้านายและข้าราชการรุ่นหนุ่มหัวสมัยใหม่ที่รวมตัวกันอย่างหลวมๆภายใต้การนำของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯได้ตั้งชื่อกลุ่มของพวกพระองค์/ตนว่า “Young Siam” มากกว่าที่จะไปเอาคำๆนี้ของหมอสมิธมาใช้เรียกกลุ่มของพระองค์/ตนเอง เพราะก่อนหน้าที่ข้อเขียนของหมอสมิธ ผมพบว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2417 ได้มีการตั้งสมาคมสยามหนุ่มขึ้น และสื่อสารกันโดยใช้ทับศัพท์ตรงตัวว่า “ยังไซยามโซไซเอตี”
และพบหลักฐานเกี่ยวกับสมาคมสยามหนุ่ม (the Young Siam Society) ปรากฎในพระราชหัตถเลขาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระราชทานแก่ “ยังไซยามโซไซเอตี” ในปี พ.ศ. 2417 โดยมีข้อความดังต่อไปนี้
“ถึง ยังไซยามโซเอตี ด้วยฯ ข้าฯได้รับหนังสือซึ่งบอกมาว่า ได้พร้อมกันตั้งโซไซเอตีขึ้นเพื่อจะให้เป็นความสามัคคีพร้อมเพียงกันนั้นฯ ข้าฯได้ทราบก็มีความยินดีเป็นที่สุด ด้วยการสามัคคีนี้ถ้าได้มีขึ้นแล้ว ก็อาจให้ราชการทั้งปวงสำเร็จไปได้ เป็นความเจริญในตัวผู้ที่พร้อมเพียงแลในการทั้งปวงด้วย ถ้าการนี้ ฉันควรจะช่วยอย่างไร และควรจะเข้าเป็นหมู่ด้วยอย่างไร ฉันจะมีความยินดีเป็นที่สุด ซึ่งจะได้ช่วยในการนี้ทุกอย่าง การจะมีอย่างไรจะทำอย่างไร ขอให้ทราบเถิด คงจะช่วยให้สำเร็จตามควร (พระบรมนามาภิไธย จุฬาลงกรณ์)”
ส่วนสยามอนุรักษ์นิยม หมอสมิธไม่ได้อธิบายความและระบุตัวแต่อย่างใด
แต่ทุกกลุ่มการเมืองนี้ เป็นผลพวงที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสยามจากอิทธิพลตะวันตก นั่นคือ สยามเก่ามีปฏิกิริยาในด้านลบ และจึงกล่าวได้ว่า สยามใหม่คือกลุ่มที่ยอมรับและนิยมตะวันตก แต่ในเมื่อสยามเก่าเป็นกลุ่มที่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว จึงเกิดคำถามว่า ตกลงแล้ว กลุ่มสยามอนุรักษ์นิยมนี้มีทัศนคติอย่างไรต่ออิทธิพลตะวันตก ?
การแบ่งกลุ่มการเมืองในการเมืองสยามในปี พ.ศ. 2416 ของหมอสมิธได้กลายเป็นประเด็นที่มีอิทธิพลต่อผู้ศึกษาการเมืองไทยในสมัยรัชกาลที่ห้าในเวลาต่อมา โดยเฉพาะเดวิด วัยอาจ นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันผู้ทีได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยรัชกาลที่ห้า (Wyatt 2512) และงานของวัยอาจได้มีอิทธิพลต่อนักวิชาการไทยต่อๆมา ซึ่งผู้เขียนได้คัดเลือกมาดังนี้ คืองานของ ชัยอนันต์ สมุทวนิช (2523) ธิษณา วีรเกียรติสุนทร (2555) และ กุลลดา เกษบุญชู มี้ด (2562)
หมอสมิธ เดวิด วัยอาจ
ชัยอนันต์ สมุทวนิช กุลลดา เกษบุญชู มี้ด ธิษณา วีรเกียรติสุนทร
งานของวัยอาจถือว่าเป็นการบุกเบิกการเริ่มต้นศึกษากลุ่มการเมืองในต้นรัชกาลที่ห้า วัยอาจเห็นพ้องกับหมอสมิธที่ว่า สยามหนุ่มเป็นกลุ่มที่นำโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เขาได้ระบุตัวผู้นำกลุ่มอนุรักษนิยมสยามว่าคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์โดยมีเครือข่ายคือ กลุ่มพวกขุนนางเสนาบดีรุ่นเก่า
แม้ว่า กลุ่มสยามหนุ่มจะนำโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้านายและข้าราชการรุ่นหนุ่มที่เติบโตมาภายใต้อิทธิพลตะวันตกที่เข้มข้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ต่างจากที่หมอสมิธได้กล่าวไว้ แต่วัยอาจได้วิเคราะห์ให้เห็นจุดยืนทางการเมืองของกลุ่มสยามหนุ่มว่า นอกจากรวมตัวกันเพราะเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีทัศนคติในแง่บวกต่ออิทธิพลอารยธรรมและความคิดตะวันตกแล้ว ยังมีจุดมุ่งหมายทางการเมืองเพื่อปกป้องพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯจากอำนาจและอิทธิพลของสมเด็จเจ้าพระยาฯ โดยเจ้านายและข้าราชการรุ่นหนุ่มเหล่านี้อยู่ฝายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ซึ่งนอกจากคนเหล่านี้จะมีทัศนคติในแง่บวกต่ออารยธรรมตะวันตกร่วมกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯแล้ว ก็อาจจะมีเหตุผลเรื่องการแข่งขันทางการเมืองกับกลุ่มที่ครองอำนาจนำในทางการเมืองมาอย่างยาวนาน
วัยอาจสรุปไว้ว่า กลุ่มสยามหนุ่มนี้รวมตัวกันด้วยปัจจัยร่วมสองประการ นั่นคือ เรื่องวัยและระดับความแข็งขันที่ต้องการจะปฏิรูปบ้านเมือง ปัจจัยเรื่องวัยคือ คนเหล่านี้อยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกันกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ แต่ปัจจัยของความแข็งขันในการปฏิรูปนี้คือ คนเหล่านี้เป็นคนรุ่นที่สองที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก เพราะคนรุ่นพ่อของคนเหล่านี้คือกลุ่มคนที่เพิ่งเริ่มรับวัฒนธรรมตะวันตก จึงยังไม่ได้รับอิทธิพลมากนัก แต่คนรุ่นนี้คือคนที่เติบโตขึ้นมาพร้อมๆกับอิทธิพลตะวันตก อย่างน้อย ส่วนใหญ่ของคนเหล่านี้ได้รับการศึกษาแบบตะวันตก โดยเฉพาะพระราชวงศ์ที่ได้ศึกษากับแหม่มแอนนา เลียวโนแวนส์หรือดอกเตอร์แชนด์เลอร์ และส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบรรดามิชชันนารีชาวอเมริกัน
แต่วัยอาจเห็นว่า แม้ว่ากลุ่มสยามหนุ่มจะนิยมในอารยธรรมตะวันตก แต่คนเหล่านี้รวมทั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ จะใม่รับตะวันตกในแบบที่จะละทิ้งวัฒนธรรมไทยดั้งเดิม เพราะกลุ่มสยามหนุ่มมีเหตุผลที่จะยังรักษารากทางวัฒนธรรมไทยที่พวกตนเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีไว้----ซึ่งผมตีความว่า วัฒนธรรมดั้งเดิมบางส่วนยังอำนวยประโยชน์ให้กับกลุ่มสยามหนุ่มอยู่ ดังจะได้อธิบายต่อไป----แต่กระนั้น วัยอาจเห็นว่า จากอิทธิพลตะวันตก ทำให้กลุ่มสยามหนุ่มมีความสามารถพอที่จะหลุดตัวออกจากสถานะที่เป็นอยู่ นั่นคือ คนเหล่านี้สามารถคิดถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงทั้งในทางการเมือง ทางสถาบันและในทางความคิด อันจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ไปไกลมากกว่าจะเป็นเพียงแค่การใช้ความคิดและเทคนิคของตะวันตกเป็นเครื่องมือในการบรรลุเป้าหมายของพวกตนเท่านั้น
ด้วยกลุ่มสยามหนุ่มได้รับเอาคุณค่าในวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาเป็นความคิดของตน ที่อาจจะตีความได้ในฐานะที่เป็นการทำให้คุณค่าแบบไทยชัดเจนและพัฒนาปรับปรุงได้มากขึ้น วัยอาจเห็นว่า จุดแข็งของกลุ่มนี้คือ การมีทักษะความรู้ ความคิดและความเชื่อทางจริยธรรมและสติปัญญาที่ได้รับจากการศึกษาแบบตะวันตก แต่มีจุดอ่อนคือ การไม่คำนึงถึงสภาพความเป็นจริงทางการเมืองและการขาดฐานทางการเมืองที่เข้มแข็งมั่นคงในการบริหารราชการแผ่นดิน
อย่างไรก็ตาม วัยอาจเห็นว่า ความเคลื่อนไหวของกลุ่มสยามหนุ่มค่อยๆดำเนินไปอย่างมีพลังจนถึงปี พ.ศ. 2416 กลุ่มก็มีความเข้มแข็งพอสมควรที่จะเป็นตัวนำการผลักดันการปฏิรูปอย่างรุนแรง โดยเริ่มหนังสือพิมพ์ ดรุโณวาท ที่เป็นกระบอกเสียงของกลุ่ม ตีพิมพ์เผยแพร่ข่าวสารต่างประเทศตลอดจนความเห็นและข้อถกเถียงเกี่ยวกับการปฏิรูปต่างๆที่กลุ่มสยามหนุ่มเห็นว่าควรจะเกิดขึ้นในบ้านเมือง รวมทั้งได้จัดตั้งสมาคมสยามหนุ่มขึ้น (the Young Siam Society) โดยมีเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ พระราชอนุชาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเป็นประธานสมาคม ซึ่งขณะนั้น ทรงพระชันษาเพียง 14 ปี และคนในกลุ่มสยามหนุ่มนี้ยังได้รับแต่งตั้งให้รับผิดชอบในตำแหน่งต่างๆในการบริหารราชการแผ่นดินและการเมืองที่เป็นการท้าทายระเบียบเดิมและกลุ่มอำนาจเก่าต่างๆ
เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์
แต่จากการตรวจสอบเอกสารหลักฐานประวัติศาสตร์ชั้นต้น ผมพบว่า ข้อมูลของวัยอาจผิดพลาด เพราะเจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์มิได้ทรงดำรงตำแหน่งประธานสมาคมสยามหนุ่ม แต่พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งอุปนายกหรือรองประธาน (vice-president) ของสมาคม
แต่ผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานสมาคมคือ เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) ผู้เป็นน้องชายต่างมารดาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
ท่านผู้อ่านย่อมต้องสงสัยแน่ๆว่า เมื่อการเมืองแบ่งเป็นสามฝ่าย และหนึ่งในนั้นคือฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) และขุนนางตระกูลบุนนาค แล้วเหตุไฉน หนึ่งในขุนนางตระกูลบุนนาคอย่างเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) ผู้เป็นน้องชายต่างมารดาของสมเด็จเจ้าพระยาฯถึงมาเป็นประธานสมาคมสยามหนุ่มที่เป็นฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ??
และปริศนานี้จะได้รับการเฉลยในตอนต่อไป
(แหล่งอ้างอิง: Samuel J. Smith, Siam Repository, Volume 5 No. 1, 31 July 1873; David K. Wyatt, The Politics of Reform in Thailand: Education in the Reign of King Chulalongkorn (1969);ชัยอนันต์ สมุทวนิช, การเมือง-การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทย 2411-2475 (2523); ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม, สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เล่ม 2; ชลธิชา บุนนาค, การเสื่อมอำนาจทางการเมืองของขุนนางในสมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ 2416-2435): ศึกษากรณีขุนนางตระกูลบุนนาค, วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, พ.ศ. 2527: ธิษณา วีรเกียรติสุนทร, “ดรุโณวาท: ภาพสะท้อนประวัติศาสตร์ต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ค.ศ. ๑๘๖๘-๑๘๘๕),” ใน ๑๐๐ เอกสารสำคัญ: สรรพสาระประวัติศาสตร์ไทย ลำดับที่ ๒๑, สยาม ภัทรานุประวัติ, ศุภการ สิริไพศาล, อรพินท์ คำสอน และ ธิษณา วีรเกียรติสุนทร, (2555); กุลลดา เกษบุญชู มี้ด เขียน, อาทิตย์ เจียมรัตตัญญู แปล, ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ วิวัฒนการรัฐไทย; ดร.อาวุธ ธีระเอก. ภาษาเจ้า ภาษานาย การเมืองเบื้องหลังการศึกษาภาษาอังกฤษ สมัยรัชกาลที่ 5. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2560 อ้างใน “รัชกาลที่ 5 รับสั่งตรวจบัญชี พบ ‘กรมนา’ คอร์รัปชั่น” ศิลปวัฒนธรรม, วันอังคารที่ 12 มกราคม พ.ศ.2564, https://www.silpa-mag.com/history/article_22249)