posttoday

เรียนรัฐศาสตร์จากวรรณคดีไทย (19)

04 กันยายน 2564

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

**************

ขุนแผนติดคุกอยู่ถึง18ปี จนพลายงามโตเป็นหนุ่มจึงได้รับอภัยโทษ

ในปีนั้นพลายงามอายุก็มีอายุได้ 18 ปีเช่นกัน เพราะตอนที่นางวันทองคลอดพลายงามก็เป็นตอนที่ขุนแผนติดคุกนั่นเอง อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า พลายงามได้เรียนวิชาพื้นฐานและไสยเวทย์ต่าง ๆ จากนางทองประศรีผู้เป็นย่า ด้วยตำราที่ขุนแผนเคยเรียน จากนั้นนางทองประศรีก็นำไปฝากตัวกับเจ้าหมื่นศรี ผู้เป็นเพื่อนของขุนแผนและเป็นหัวหน้ามหาดเล็ก ได้ไปร่ำเรียนวิชาการทำราชการอีกที ซึ่งสุดยอดวิชาของการเป็นข้าราชการก็คือ “คอยฟังตรึกตราอัชฌาศัย” คือต้องรู้พระทัยพระเจ้าแผ่นดิน ระหว่างนั้นพลายงามก็พยายามจะขอเข้าเฝ้าเพื่อทูลขออภัยโทษอยู่เป็นระยะ แต่ก็ไม่ได้โอกาส จนกระทั่งเกิด “ศึกชิงนาง” ระหว่างพระเจ้าเชียงใหม่ที่จะไปแย่งชิงนางสร้อยทอง พระราชธิดาของพระเจ้าล้านช้าง แล้วพระเจ้าล้านช้างก็มาขอความช่วยเหลือจากกรุงศรีอยุธยา ทำให้พลายงามได้โอกาสขออาสาออกรบ แล้วกราบทูลขอเอาพ่อขุนแผนออกจากคุกมาช่วยรบ

ตรงนี้ต้องขออธิบายถึงการเมืองระหว่างประเทศของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอีกสักนิด เพราะนี่ก็คือความรู้ทางด้านรัฐศาสตร์ที่สำคัญ เพราะทำให้เราทราบว่าประเทศไทยในครั้งโบราณนั้นมีความยิ่งใหญ่ขนาดไหน เรียกว่าเป็นมหาอำนาจอยู่ในภูมิภาคนี้ก็ว่าได้ เพราะประเทศต่าง ๆ ต้องมาสวามิภักดิ์ ถวายดอกไม้เงินดอกไม้ทองและเครื่องบรรณาการ เป็นการก้มหัวยอมเป็นประเทศราชหรือเมืองขอบขัณฑสีมา (ในความหมายการเมืองระหว่างประเทศก็คือเป็นเมืองขึ้นหรือบริวารของมหาอำนาจ) แล้วเมื่อเมืองเหล่านั้นมีปัญหาต้องกาความช่วยเหลือ ก็เป็นหน้าที่ของประเทศไทยที่เป็น “พี่เบิ้ม” คอยให้ความคุ้มครองดูแลอยู่นั้น ต้องออกไปให้ความช่วยเหลือ ในทำนองเดียวกันถ้าประเทศไทยต้องการความช่วยเหลืออะไร ก็สามารถกะเกณฑ์เอาสรรพกำลังกับทรัพยากรต่าง ๆ จากประเทศราชเหล่านั้น ระดมเข้ามาแก้ไขปัญหาได้

ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านเขียนบรรยายเรื่องนี้ไว้ว่า “การเมืองระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แต่ก่อนนั้น ก็ประกอบด้วยประเทศต่าง ๆ ซึ่งเป็นเอกราชมากมายหลายประเทศ ล้วนแต่เรียกได้ว่า เป็นบ้านเล็กเมืองน้อยด้วยกันทั้งนั้น ด้วยเหตุนี้ความสงบที่มีอยู่ในภูมิภาคแถบนี้ จึงขึ้นอยู่กับความมีอำนาจของรัฐใดรัฐหนึ่งซึ่งใหญ่กว่า ซึ่งไม่ได้แผ่อำนาจเข้าไปปกครองบ้านเล็กเมืองน้อยเหล่านั้นโดยตรง แต่มีอำนาจให้เป็นที่เกรงขาม ทำให้บ้านเล็กเมืองน้อยเหล่านั้นต้องรักษาความสงบเรียบร้อยไปเอง จะเรียกว่าการเมืองระบอบนักเลงโตก็ได้

ในสมัยหนึ่งพระเจ้าแผ่นดินไทยทรงมีพระบรมเดชานุภาพอันกว้างไกล สามารถรักษาความสงบได้เกือบทั่วเอเชียอาคเนย์ หรืออย่างน้อยที่สุด ก็ในพื้นที่ที่เรียกว่าแหลมทองนี้ เพราะประเทศต่าง ๆ ทั้งภาคตะวันตก ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ อยู่กันได้ด้วยความสงบ เพราะเกรงกลัวในพระรมเดชานุภาพและพระบารมีของพระมหากษัตริย์ไทยโดยทั่วกัน หากจะทะเลาะวิวาทถึงขนาดทำสงครามแก่กัน ก็เกรงพระบรมเดชานุภาพไม่สามารถจะทำได้ หรือถ้ามีเหตุขัดแย้งกันจริง ๆ ไม่สามารถจะตกลงกันได้ ก็ต้องส่งทูตมากราบบังคมทูลให้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทถึงข้อขัดแย้งเหล่านั้น เพื่อให้มีพระบรมราชวินิจฉัย หรือก่อนที่จะถึงขั้นนั้นก็ให้ทรงแต่งตั้งข้าหลวงออกไปสอบสวนข้อขัดแย้ง ในบางกรณีข้าหลวงที่ออกไปนั้นก็เป็นผู้ระงับข้อพิพาทเสียเอง”

ข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นในภาคเหนือในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนนั้น เกิดจากพระเจ้าเชียงใหม่ต้องการได้นางสร้อยทองผู้เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าล้านช้างมาเป็นบาทบริจาริก จึงได้ส่งทูตไปขอ แต่พระเจ้าล้านช้างไม่ให้ ทางเชียงใหม่จึงขู่ว่าจะส่งกองทัพมาตีเอา ทางล้านช้างจึงส่งทูตมาขอความช่วยเหลือจากทางอยุธยา โดยแจ้งว่าพระเจ้าล้านช้างต้องการจะยกนางสร้อยทองให้พระเจ้าแผ่นดินอยุธยา เพื่อให้พ้นภัยเชียงใหม่ ทางไทยจึงส่งพระยาท้ายน้ำขึ้นไปรับ แต่ระหว่างทางถูกกองทัพพระเจ้าชิงใหม่แย่งตัวนางสร้อยทองไปได้ พร้อมกับจับพระยาท้ายน้ำไปขังไว้เป็นตัวประกัน

แต่แรกเมื่อพระพันวษาทรงทราบข่าว ก็พิโรธโกรธกริ้วเป็นอย่างมาก จะขอนำทัพไปรบด้วยพระองค์เอง และให้ระดมทัพให้มากที่สุด เพื่อเหยียบเชียงใหม่ให้ราบคาบ แต่เหล่าขุนนางไทยบอกว่าศึกครั้งนี้คงไม่ต้องถึงที่พระองค์จะออกศึกให้เสียพระเกียรติ เพราะเชียงใหม่เป็นแค่พวกคนป่า เอาแค่ทหารไพร่ทั่วไปก็น่าจะเพียงพอ ตอนแรกพระพันวษาถามว่ามีใครหรือที่จะออกไปรบได้ เหล่าขุนนางก็อ้ำอึ้ง จนพลายงามที่แอบหลังเจ้าหมื่นศรีตามไปเข้าเฝ้าอยู่ด้วยนั้นขออาสาออกมาเอง ครั้นพอพระพันวษาทรงทราบว่าเป็นลูกขุนแผนก็ทรงดีพระทัย พร้อมกับระลึกถึงขุนแผนขึ้นมาได้ พร้อมกับทรงปรารภถึงความอาภัพของขุนแผนว่า นี่เป็นเพราะขุนแผนยากจน ถ้าขุนแผนมีเงินร่ำรวยก็คงจะมีคนมาขอพระราชทานอภัยโทษให้ทุกวัน

“เหตุด้วยอ้ายนี่ไม่มีทรัพย์    เนื้อความมันจึงลับไปเจียวหนอ

ถ้ามั่งมีไม่จนคนก็ปรอ              กูขอมึงขอไม่เว้นวัน”

ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็สะท้อนความคิดเห็นไว้ว่า “นี่แหละสังคมไทย เงินนั้นยิ่งใหญ่เสมอ”

ทัพของขุนมีแค่นักโทษ 35คน ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่า เนื้อหาตอนนี้แหละที่เป็น “หัวใจของเรื่องขุนช้างขุนแผน” ดังที่ท่านได้อธิบายต่อไปว่า “ที่ว่าเป็นหัวใจของเรื่องขุนช้างขุนแผน ก็เพราะว่า ตรงนี้เป็นตอนที่คนคุกผู้ฟังเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนอยู่ทุกคืนนั้น ได้มีทางแสดงออกอันเป็นของตน คือว่า คนคุกมีจำนวนเพียง 35คน ได้อาสาไปรบเพื่อบ้านเมืองของตน และเพื่อสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระมหากษัตริย์ของเขาทุกคน เรื่องขุนช้างขุนแผนมาเป็นเกียรติยศเอาตอนนี้ เป็นการแสดงวีรกรรมของคนคุก คนคุกที่เป็นวีรชนในครั้งนั้นปรากฏชื่อเสียงเรียงนามโดยละเอียดในเรื่องขุนช้างขุนแผน”

อย่างที่ผู้เขียนได้นำเสนอมาแล้วว่า เสภาคือกิจกรรมขับร้องลำนำที่ทำกันอยู่ในคุก ใช้ตรวนและโซ่เป็นเครื่องประกอบจังหวะ ซึ่งนักประวัติศาสตร์วรรณคดี รวมถึงท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เชื่อว่า ตัวละครต่าง ๆ ในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนนี้น่าจะมีตัวตนอยู่จริง ๆ เพราะมีสถานที่ต่าง ๆ ทั้งที่จังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดสุพรรณบุรี ที่มีประวัติเชื่อมโยงถึงตัวละครต่าง ๆ ในเสภาเรื่องนี้ และยิ่งมีชื่อคนคุกที่มการบรรยาย “วีรกรรม” ต่าง ๆ ของแต่ละคนนั้นไว้อย่างละเอียด ก็ยิ่งทำให้เชื่อได้ว่า เรื่องขุนช้างขุนแผนนี้ไม่ใช่นิยาย แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในแผ่นดินไทยจริง ๆ เพราะตำนานไม่ว่าจะเกี่ยวกับเรื่องใด ล้วนเกิดมาจากเรื่องจริงทั้งสิ้น

รัฐมนตรี ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ หลายคนที่เคยติดคุกก็คงเพราะอยากมีชีวิตที่เป็นตำนานนี่เอง

******************************