posttoday

บ้างก็ว่าเสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย บ้างก็ว่าให้เจ็บแล้วจบ...ใครจะรู้ว่าอันไหนถูก

06 กันยายน 2564

เมื่อทำมาหากินลดลง รายได้มันก็หายไป เกิด income shock หรือเกิดหลุมรายได้ บางกลุ่มก็ไม่เห็นหนทางข้างหน้าว่าจะกลับมาได้อย่างไร

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่าย ๆ ตอนที่ 39/2564? โดย...สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

วิกฤติทางสาธารณสุข จากภัยของโรคระบาดโควิด-19 ทำให้ต้องลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจลงเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคจากคนสู่คน เมื่อลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ?มันก็ส่งผลต่อการทำมาหากิน เมื่อการทำมาหากินมันลดลง รายได้มันก็หายไป เกิดสิ่งที่เรียกว่า income shock หรือเกิดหลุมรายได้ ผู้คนบางกลุ่มรายได้ลดลง บางกลุ่มก็หยุดไปเลย บางกลุ่มก็ไม่เห็นหนทางข้างหน้าว่าจะกลับมาได้อย่างไร และจนถึงเวลานี้บางกลุ่มมันมีความหวัง หวังว่าวันนั้น วันนี้ มันจะกลับมา

ตัวผู้เขียนเองนั่งมองเอกสาร ข้อมูล และตัวเลขต่าง ๆ ที่มีผู้คนส่งมาให้ดู ยิ่งได้มาฟังเสียงคนที่รับผิดชอบจากธนาคารกลางในรายการสนทนาระหว่างธนาคารกลางกับผู้ให้บริการทางการเงินบนหัวข้อว่า การผลักดันให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันช่วยเหลือลูกหนี้หรือลูกค้าของตนด้วยการปรับโครงสร้างหนี้แบบยั่งยืน ให้ลูกหนี้เจ้าหนี้ก้าวข้ามความยากลำบากในช่วงเวลานี้ ไม่ใช่แบบปรับกันไป 2-4 เดือนแล้วก็มาทำกันใหม่ ทำกันบ่อย ๆ ซึ่งมันไม่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพแต่อย่างใด

เหตุสำคัญน่าจะมาจากการมองว่ารายได้จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะเริ่มกลับมา คือกลางปี 2565 เวลานั้นเราน่าจะอยู่กับไวรัส (ที่นักเศรษฐศาสตร์บอกว่า คือการอยู่เป็นหลังจากการเอาตัวให้รอดจากการติดเชื้อจนระบบสาธารณสุขเอาไม่อยู่) จากนั้นรายได้จะค่อย ๆ ขยับขึ้นตามเศรษฐกิจที่เปิดกว้างขึ้น เปิดเพิ่มขึ้น จนมาอยู่ที่เดียวกับระดับก่อนการแพร่ระบาด (ปี 2562) คือในช่วงปลายปี 2566 ต้นปี 2567

และท่านผู้อ่านต้องเข้าใจว่าระดับก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 นั้นก็ไม่ใช่ระดับที่สูงแต่เป็นระดับที่มีปัญหามากมาย เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ระดับที่เศรษฐกิจยังไม่โตมากนัก มีปัญหาสารพัด มีการประมาณการว่าหลุมรายได้จากปี 2563 จนถึง 2565 จะหายไป 2.6 ล้านล้านบาท แน่นอนว่าคนจะกลบหลุมรายได้นี้มีเพียงภาครัฐเท่านั้นที่ทำได้ จะทำผ่านกลไกอย่างใดอย่างหนึ่งเช่น การเยียวยาแก้ไข การอัดฉีดฟื้นฟู การลดหย่อนผ่อนผัน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การใช้จ่ายงบประมาณ การลงทุนเพิ่ม

ขณะที่ในฟากฝั่งด้านการเงินก็ต้องทำให้ ธุรกิจที่ไปใด้ก็ให้เดินต่อไป ธุรกิจที่ติดปัญหาหนี้สินก็ต้องเร่งปรับโครงสร้างหนี้ ธุรกิจที่มีปัญหาฟ้องร้องก็ต้องไกล่ไกลี่ย ธุรกิจที่ยังพอให้สินเชื่อเพิ่มได้ก็ต้องทำกันไป ส่วนที่ต้องล้มหายตายจากก็ต้องยอม ๆ กันไป

เราจึงเห็นการออกมาตรการตามอาการในแต่ละช่วงเวลา เช่น ช่วงแรกให้ชะลอการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยที่ถึงกำหนดได้โดยไม่ถือว่าเป็นการผิดนัด เวลานั้นทุกลูกหนี้ได้สิทธิ์ ต่อมาก็บอกว่าเจ้าหนี้และลูกหนี้ไปคุยกันเองโดยมีมาตรการช่วยเหลือขั้นต่ำรองรับให้ว่าต้องช่วยกันไม่ต่ำกว่านี้ ต่อมาก็เน้นอีกว่าต้องช่วยอย่างจริงใจ มีเกณฑ์การคิดดอกเบี้ยช่วงฟันหลอในการชำระหนี้ มีการกำหนดว่าอะไรไม่ถือว่าเป็นการผิดนัด เน้นว่าอย่าหาประโยชน์จากความเดือดร้อน

ต่อมาก็มาพูดถึงการแยกแยะว่าใครเป็นหนี้เสียเพราะผลกระทบจากโควิด-19 ฝั่งธนาคารของรัฐก็ลากยาวการชะลอการชำระหนี้ไปจนสิ้นสุดปี 2564 มีการประกาศชะลอการฟ้องร้อง การบังคับคดี ล่าสุดเมื่อมีการระบาดรอบสาม รอบสี่ที่มีเดลต้าเป็นพระเอกก็ชัดเจนว่าให้ทำ skip payment ไปอีก 2 เดือน แต่มันก็มีคำถามตัวโต ๆ ว่า แล้วจะยังไงต่อไป ทำมาตรการช่วยเหลือทุกครั้งที่การแพร่ระบาดประทุขึ้นมามันจะไม่ไหวหรือไม่ ทำแล้วมันเจ็บแต่ไม่จบหรือเปล่า ท้ายที่สุดจึงต้องมาเป็นมาตรการแบบแก้หนี้กันให้มันยั่งยืน แก้กันแบบทำแล้วอีกปีสองปีค่อยมาคุยกันดีหรือไม่ เช่น 

1. มีการลดภาระหนี้ให้ลูกหนี้บางส่วน เช่น ปรับโครงสร้างให้จ่ายหนี้เป็นขั้นบันได ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นในตารางชำระหนี้ใหม่

2. ถ้าลูกหนี้ทำได้ตามตารางการช่วยเหลืออันใหม่ได้ เจ้าหนี้ยกหนี้ให้บางส่วน เช่น ยกดอกเบี้ยที่ค้างชำระบางส่วน ยกดอกเบี้ยที่ตั้งพักไว้บางส่วน ลดเงินต้นบางส่วนหากมีการนำทรัพย์สินออกขายแล้วเอาเงินมาชำระหนี้เป็นก้อนได้

3. มีการปรับโครงสร้างหนี้เก่าพร้อมกับการใส่หนี้ใหม่เข้าไปเพื่อเสริมสภาพคล่อง รักษาการจ้างงานเอาไว้ เป็นต้น

4. ทางการจะให้สิ่งจูงใจ เช่น กำหนดการกันสำรองตามเกณฑ์การจัดชั้นที่ยืดหยุ่นขึ้น การดูใจลูกค้าที่ผิดนัดจนเป็นหนี้เสียไปแล้วหากมาปรับโครงสร้างหนี้แบบยั่งยืนแล้วลูกค้าทำได้ภายใน 3 งวดก็ถือเป็นปกติไม่ต้องรอดูใจ 12 เดือนตามมาตรฐานการบัญชีสุดขอบฟ้า การกลับมาเป็นลูกค้าปกติก็เท่ากับสำรองจะลดลง ถ้าสำรองเกินไป ก็จะได้เอาไปเกลี่ยกับรายอื่นต่อไปหรือโอนไปเป็นสำรองทั่วไปแทน เป็นต้น

มาตรการที่ออกมานี้ก็ต้องยอมรับว่า คนที่ยึดติดกับความมั่นคงแข็งแรงแบบไม่สนใจชีวิตลูกหนี้ก็ถูกกันออกไปให้เงียบเสียงลงไปบ้าง เปิดทางให้แนวทางสายกลางแต่ยังอนุรักษ์นิยม พวกอยู่บนความจริงของชีวิตได้มีส่วนในการนำเสนอทางออกบ้าง (พวกที่พูดเก่ง คิดสั้น สมาธิน้อย Lab แห้ง (ใช้ความคิดปกติแบบเดิมมาออกแบบแก้ปัญหาที่ไม่ปกติ บวกการฟังแต่ไม่ยิมได้ยิน) ไม่รู้จริงก็ได้แต่นั่งข้างเวทีอิจฉาที่นายไม่เรียกใช้เหมือนในอดีต ทำได้แค่ส่งเอกสารให้สื่อเอาไปลงข่าว)

ในมุมของผู้เขียน มันยากถึงยากมากในการจัดให้เกิดความสมดุลระหว่าง พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของลูกหนี้ แรงจูงใจ?ที่จะทำให้บิดเบือนไปจาก เป็นหนี้ต้องใช้หนี้ สัญญาต้องเป็นสัญญา มาเป็น เป็นหนี้ไปเดี๋ยวก็มีเกณฑ์ออกมาผ่อนปรนการใช้หนี้ เป็นหนี้เสียจะได้เงื่อนไขดีกว่าเป็นหนี้ดี หรือเลยเถิดไปทำให้วัฒนธรรม "ไม่กลัว ไม่มี ไม่หนี ไม่ให้ อยากได้คืนก็ไปฟ้องเอา" แต่การที่กรรมการชุดก่อนฟังแต่เจ้าหนี้แล้วคิดชุดความช่วยเหลือมันก็เลยเถิดไป ตัวอย่างเช่น การกำหนดการชดเชยความเสียหายของเงินกู้ละมุนนุ่ม (Soft Loan) รอบ 1 โดยไปผูกสูตรกับหลักประกันเก่า มีทั้งสำรองเก่า สำรองใหม่ แล้วชดเชยเป็นสัดส่วน จากข้อความที่สื่อสารว่าค้ำ 60-70% แท้จริงแล้วในการคำนวนมันก็ได้สูงสุดแถว ๆ 40% เมื่อมาถึงวันนี้ก็มีการสื่ออกมาว่า ถ้าเป็นกลุ่มธุรกิจที่เสี่ยงสูงกระทบมากอาจจะให้การค้ำประกัน 100% อันนี้ทางเจ้าหนี้ ลูกหนี้กำลังรอเอกสารอย่างเป็นทางการ คงจะดูแต่เอกสารภาพอินโฟกราฟิกอย่างเดียวไม่ได้แน่ ๆ

ผู้เขียนสนับสนุนมาตรการที่ต้องการให้ปรับโครงสร้างหนี้แบบช่วยกันไปยาว ๆ ช่วยกันแบบจริงจัง จริงใจหรือไม่เข้าใจได้ว่าเป็นธุรกิจ รักแท้ในคืนหลอกลวงมีอยู่เสมอ ขอเพียงลูกหนี้จ่ายได้บนสภาพที่เขาประเมินว่าเขายังรักษาธุรกิจ รักษาคนงานเขาต่อไปได้ และอยู่ห่างๆ กันให้มาก ไม่ต้องมาปรับกันบ่อย ๆ ต่างคนต่างอยู่จนถึงต้นปี 2567 นะครับ

สุดท้ายขอฝากข้อความจากตัวแทนจากเอสเอ็มอีรายย่อย โดยคุณโชนรังสี เฉลิมชัยกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บุ๊คไทม์ จำกัด สำนักพิมพ์สุขภาพใจ ที่ให้มุมมองว่า ได้เห็นความพยายามในการบริหารประเทศ แต่บางเรื่องยังอาจพยายามไม่พอ การบริหารประเทศเป็นเรื่องสำคัญมากเพราะส่งผลต่อคนไทยทุกคน จนไปถึงลูกหลานในอนาคต จึงต้องทำอย่างจริงจัง ทำให้เต็มที่ ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง รู้สึกว่าบางคน บางท่านยังพยายามไม่พอ เมื่อมาเจอข้อจำกัดของระบบบริหารราชการเข้าไปอีก แน่นอนว่าผลักดันงานไม่ออกบ้าง ไม่ทันกับเหตุการณ์บ้าง ยิ่งถ้าทำแบบไม่จริงใจ เอาเรื่องการเมืองมาเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจก็จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาเข้าไปอีก แม้เข้าใจได้ว่า ณ เวลานี้สถานการณ์ไม่ปกติ แต่ภาพที่คนค้าขาย คนตัวเล็กตัวน้อยอยากเห็น คือความจริงใจที่แท้จริง เพื่อให้ประเทศก้าวผ่าน ให้ผู้ประกอบการก้าวไปข้างหน้าได้ต่อ แม้อ่อนแรง จะหมดลม แต่ยังพอมีลมหายใจรวยรินอยู่บ้าง ได้เห็นรัฐบาลออกนโยบาย?มาตรการต่าง ๆ มากมาย แต่มันก็ยังไม่พอในความเห็นตน ตอนนี้มักเป็นการจัดการให้ผ่านในระยะสั้นและยังมีกลุ่มที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือได้ตามนโยบายอีกในหลายภาคส่วน

เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย บ้างก็ว่าให้เจ็บแล้วจบ...ใครจะรู้ว่าอันไหนถูก วันข้างหน้าเมื่อผลออกมาแล้วเราจึงจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร...