ใต้ถุนบ้านซอยสวนพลู (2)

16 ตุลาคม 2564

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

************

คนโบราณเชื่อว่าในบ้านนี้มีผีบ้านผีเรือน บ้านซอยสวนพลูก็มีเหมือนกัน

“ซอยสวนพลู” เป็นชื่อเรียกของคนสมัยก่อน ที่ใช้เรียกเส้นทางที่ตัดจากถนนสาทรใต้เข้าไปในบริเวณที่เรียกว่า “ทุ่งมหาเมฆ” ไปออกถนนนางลิ้นจี่ ที่เชื่อมออกไปยังถนนจันทร์ เขตยานนาวา แต่เดิมเป็น “สวนพลู” จริงๆ เพราะมีคนจีนมาปลูกพลูที่ใช้กินกับหมากขายเป็นพื้นที่กว้างขวาง

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่าตอนที่พี่สาวของท่าน ม.ร.ว.บุญรับ พินิจชนคดี ชวนท่านมาซื้อที่ดินแถวนี้ ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 มีแต่กลิ่นขี้หมูอบอวล เพราะคนจีนเอาขี้หมูมารดเป็นปุ๋ยให้กับต้นพลูที่ปลูกไว้ พื้นที่ส่วนใหญ่ยังเป็นร่องสวน นอกจากปลูกพลูแล้วก็มีพืชผักอื่น ๆ อีกด้วย รวมถึงยังมีการทำนาปลูกข้าวและเลี้ยงควาย ซึ่งถ้าเป็นสมัยนี้ก็น่าจะเรียกว่ายังเป็นชนบทอยู่มาก แต่ปัจจุบันแทบจะไม่เหลือสภาพเหล่านั้นให้เห็นเลย เพราะเต็มไปด้วยตึกระฟ้าและย่านการค้าหนาแน่น รวมถึงสถานทูตและคอนโดมิเนียมระดับไฮโซ

ต่อมาเมื่อมีคนมาอยู่อาศัยมากขึ้นพร้อมกับการขยายตัวของย่านการค้าและสถานที่ราชการ ซอยสวนพลูก็ถูกเปลี่ยนเป็นชื่อเป็น “ถนนสวนพลู” แต่ผู้คนก็ยังเรียกว่า “ซอยสวนพลู” ซึ่งก็เป็นเพราะในซอยนี้เป็นที่ตั้งของบ้าน “คนดัง” ที่ชื่อ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นั่นเอง แม้ว่าทางราชการจะปักป้ายไว้ที่ปากซอยว่า “ซอยพระพินิจ” ตามชื่อของเจ้าของที่ดินแปลงใหญ่ในซอยนี้ ซึ่งก็คือพระพินิจชนคดี (พินิจ อินทรทูต อดีตอธิบดีกรมตำรวจ) พี่เขยของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เอง แต่คนก็ยังเรียกซอยสวนพลูอยู่ดี

ยิ่งในช่วงที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี คนก็ยิ่งจดจำซอยนี้ได้แม่นยำ เพราะเป็นสถานที่ที่เกิดเรื่องราวสำคัญของบ้านเมืองมากมาย จนถึงขั้นที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เอาชื่อ “ซอยสวนพลู” นี้มาตั้งเป็นชื่อคอลัมน์อันโด่งดัง ตั้งแต่ พ.ศ.2523 จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตท่าน

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เล่าประวัติบ้านเรือนไทยในซอยสวนพลูของท่านว่า ตอนที่ท่านกลับเข้ามาทำงานในธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น สถานที่สำคัญของกรุงเทพฯเป็นเป้าหมายของการทิ้งระเบิด รวมถึงสถานที่อยู่อาศัยของผู้มีอันจะกินทั้งหลายที่ตั้งอยู่ในเมือง คนเหล่านั้นจึงย้ายกันมาอยู่ตามชานเมืองที่ปลอดภัยมากกว่า รวมถึงพี่สาวของท่านที่ได้ชวนท่านมาอยู่ด้วย

โดยท่านได้มาเช่าบ้านเก่าหลังหนึ่งบริเวณปากซอยพระพินิจอาศัยอยู่กับครอบครัว จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ยังเช่าบ้านหลังนั้นอยู่ โดยได้มาขุดคลอง ทำบ่อน้ำ และปลูกต้นไม้ไว้บ้าง ในที่ดินที่ท่านซื้อไว้ติดกับบ้านพี่สาวของท่านที่อยู่ลึกเข้าไปในกลางซอยพระพินิจ โดยคิดแต่เพียงว่าจะเอาไว้ใช้เป็น “บ้านสวน” เพื่อการพักผ่อนไปพลางๆ จนกระทั่งหลังพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 ใน พ.ศ. 2493

ขณะที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บวชถวายเป็นพระราชกุศล ได้มีเพื่อนนักหนังสือพิมพ์ คือ นายสละ ลิขิตกุล มาชวนตั้งหนังสือพิมพ์ ท่านก็ตอบตกลงและสึกออกมาทำหนังสือพิมพ์ ซึ่งก็คือหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ที่ตั้งอยู่บนถนนราชดำเนิน ใกล้โรงแรมรัตโกสินทร์ วันหนึ่งนั่งรถไปรับประทานอาหารกลางวันแถวเสาชิงช้า ที่เป็นที่ตั้งของศาลาว่าการกรุงเทพฯ ขากลับมาโรงพิมพ์แลไปเห็นกองไม้เก่ากองอยู่ใกลๆ ตึกศาลาว่าการฯ จึงให้คนไปถาม ก็ทราบว่าเป็นบ้านเรือนไทยเก่าที่ถูกรื้อออกเพื่อขยายถนนแถว ๆ นั้น และทราบว่าทางราชการตั้งราคาขายไว้ 8,000 บาท ท่านจึงให้ซื้อมากองไว้ที่บ้านสวนของท่านในซอยสวนพลู

ไม่นานหลังจากนั้น ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ให้นายน้ำเชื่อม คนขับรถคู่ใจ ซึ่งเป็นคนอำเภอผักไห่ จังหวัดอยุธยา ไปหา “ช่างปรุงเรือน” จากที่อำเภอผักไห่ มา “ปรุง” เรือนไทยที่ซื้อมานั้น (คำว่า “ปรุงเรือน” ใช้กับการก่อสร้างบ้านเรือนไทยเท่านั้น เพราะบ้านเรือนไทยเป็นบ้านสำเร็จรูป หรือบ้านถอดประกอบ อย่างที่เรียกสมัยนี้ว่า “น็อคดาวน์” ต้องทำชิ้นส่วนแต่ละชิ้นไว้ให้พร้อมก่อน แล้วจึงนำไป “ปรุง” หรือประกอบกันในสถานที่ที่ก่อสร้างต่อไป)

ทั้งนี้เพราะผู้คนที่นั่นเคยเป็น “ข้าเก่า” ของสกุลปราโมช ตั้งแต่ครั้งที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนวรจักรธรานุภาพ ปู่ของท่าน ที่เคยบัญชาการกรมฝีพายมาตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่3และ 4 ทั้งยังมีฝีมือในการปรุงเรือนมาหลายชั่วคน พร้อมกันนั้นก็ให้ไปหาซื้อเรือนไทยเก่ามาอีก2หลัง เพื่อมาปรุงให้เป็น “เรือนหมู่” ที่มีประโยชน์ใช้สอยครบถ้วนตามแบบชีวิตสมัยใหม่ ซึ่งท่านอาจารย์รคึกฤทธิ์ก็ได้เข้ามาดูแลการปรุงเรือนอย่างใกล้ชิด โดยไม้เก่าจากศาลาว่าการกรุงเทพฯก็คือเรือนใหญ่ที่ตั้งอยู่ตรงกลางหน้าบ้าน ขนาบด้วยเรือนนั่งด้านทิศตะวันตก และเรือนนอนด้านทิศตะวันออก ซึ่งเป็นเรือนที่ซื้อมาจากจังหวัดอยุธยา

จากนั้นท่านก็เชื่อมนอกชานบ้านทั้งสามหลังเข้าด้วยกัน ด้วยพื้นคอนกรีต แล้วปูกระเบื้องให้เข้ากับตัวบ้าน ทำให้มีพื้นที่ใต้ถุนขนาดใหญ่ ที่ต่อมาได้ต่อเติมเป็นครัวและ “ห้องเย็น” หรือห้องแอร์ในชื่อเรียกของคนโบราณ รวมถึงบริเวณที่นั่งรับแขก รับประทานอาหาร และทำงาน ที่ใต้ถุนนั้น

ที่ตัวเรือนหลังใหญ่มีบานประตูไม้มะค่าอยู่คู่หนึ่ง เป็นที่รู้จักกันว่ามี “คุณย่า” ออกมาแสดงตัวอยู่บ่อย ๆ ตั้งแต่ที่เริ่มก่อสร้าง เพราะช่างที่มาปรุงเรือนก็เคยเห็นท่าน ตรงบานประตูนี้มีตาไม้อยู่ตรงกลาง มีน้ำมันไหลซึมออกมาอยู่เป็นระยะนาน ๆ ครั้ง พอเช็ดแล้วก็หายไปพักหนึ่ง เมื่อตอนที่สร้างเสร็จใหม่ ๆ มีคนในซอยพระพินิจเคยเห็นมีหญิงชรานุ่งผ้าห่มสไบแบบโบราณเข้าออกในบ้านนี้ในบางวัน

คนถีบสามล้อรับจ้างคนหนึ่ง(สมัยนั้นยังมีสามล้อถีบรับจ้างในกรุงเทพฯ เพิ่งจะมาเลิกในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในราว พ.ศ.2503)เคยบอกท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ว่า เคยมีคุณย่าแต่งกายแบบคนโบราณนั้น ว่าจ้างรถของเขาจากปากซอยให้มาส่งที่บ้านนี้ แล้วบอกว่าเดี๋ยวจะไปเอาสตังค์มาให้ แต่ก็เงียบหายไป จนต้องร้องเรียกให้คนในบ้านรู้ และท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ต้องจ่ายค่าจ้างนั้นให้ไป

ส่วนตัวท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ไม่เคยเห็น ทั้งที่เคยจุดธุปขอให้ได้เจอ แต่กระนั้นท่านก็ยังต้องกราบไหว้ขอความคุ้มครอง ให้ “คุณย่า” ช่วยคุ้มครองบ้านนี้และคนที่อยู่ในบ้านนี้ ซึ่งท่านก็รู้สึกว่าได้อยู่สุขสบายร่มเย็นเสมอมา ต่อมามีผู้แนะนำว่าให้เอาทองคำเปลวไปปิดและกล่าวขอขมา ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ทำตาม น้ำยางที่เคยซึมอยู่เป็นระยะก็หยุดไป และคุณย่าก็ไม่มาปรากฏตัวอีกเลย

จนกระทั่งในปีที่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรี ใน พ.ศ. 2518 เมื่อมีตำรวจพากันเดินขบวนมาพังบ้านของท่าน รุ่งขึ้นก็มีคนในบ้านเห็นน้ำมันซึมออกมาจากบานประตูนั้นอีก ท่านจึงให้เอาทองคำเปลวไปปิดใหม่ จากนั้นก็ไม่มีใครเห็นว่ามีน้ำมันซึมออกมาอีก จนอีก 20 ปีต่อมาที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้ถึงแก่อสัญกรรม ในวันที่ 9 ตุลาคม 2538 ก็มีคนที่เฝ้าบ้านอยู่มาร่ำลือว่ามีน้ำมันซึมออกมาอีกแล้ว แต่ก็ไม่มีใครออกมายืนยันอย่างจริงจัง

ตรงเหนือบานประตูคู่นั้นมีไม้พายอันเล็กๆ ยาวสัก 1 เมตร แกะสลักและเขียนลายรดน้ำปิดทองสวยงามวางพาดไว้ ซึ่งตอนที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์พาพวกผมชมบ้านใน พ.ศ.2519 ท่านแนะนำว่า นี่คือ “เทรดมาร์ค” หรือเครื่องหมายการค้าของช่างปรุงเรือน ผู้สืบสกุลมาจากเหล่าฝีพายหลวง แต่ครั้งที่เรายังปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งถึงแม้ในช่วงที่ก่อสร้างบ้านหลังนี้ “ระบบไพร่” แบบนั้นจะได้เลิกไปหมดสิ้นแล้ว

แต่ท่านก็อยากให้ทำเครื่องหมายนี้ไว้ เพื่อให้คนรุ่นหลังรำลึกไว้ว่า สังคมไทยนั้นร่มเย็นเป็นสุขและรุ่งเรืองก้าวหน้ามาด้วยดีนี้ ก็เพราะในสังคมไทยเป็นสังคมแห่งความเมตตาและความโอบเอื้อ ไม่เลือกแม้ว่าจะอยู่สังคมหมู่ใด ตั้งแต่ “เจ้า” ลงมาถึง “ข้า” ล้วนต้องพึ่งพาอาศัยกัน เหมือนดั่งบ้านหลังงามของท่าน ก็เกิดด้วยฝีมือของบรรดาฝีพายที่เคยพึ่งพาอาศัยกันมาหลายชั่วอายุคนนั้น

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่า บางทีระบบไพร่อาจจะไม่ใช่ระบบที่มีไว้กดขี่คน แต่คือระบบที่มีไว้เพื่อโอบอุ้มและคุ้มครองกันและกัน ที่ยังทำให้สังคมไทยมีความมั่นคงอยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้

******************************

Thailand Web Stat