การเพิ่มประชากรและการกระจายของช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ในประเทศไทย
โดย...รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์
***********************
สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างชุมชนและช้างป่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและทวีความรุนแรงมากขึ้นในหลายประเทศ ซึ่งก็รวมถึงประเทศไทยที่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนและช้างป่าขยายตัวเพิ่มขึ้นในทุกภาคของประเทศไทย โดยพื้นที่ที่มีความรุนแรงมากที่สุดคือ พื้นที่ป่าตะวันออก ซึ่ง ตั้งแต่เดือนมากราคมถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 เพียง 11 เดือน มีผู้เสียชีวิตแล้ว 17 ราย ทั้งนี้ส่วนใหญ่เชื่อว่าปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนและช้างป่ามีสาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของประชากรช้างป่า และการขาดแคลนแหล่งอาหารในพื้นที่อนุรักษ์
จากการติดตามประชากรและการกระจายของช้างป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของประเทศไทย เช่น ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จังหวัดกาญจนบุรี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จังหวัดเลย และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ และพื้นที่ 7 จังหวัด ในพื้นที่ป่าตะวันออกของประเทศไทย พบว่าประชากรช้างป่ามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นภายหลังจากที่เคยมีประชากรลดลงมาจากการลักลอบล่าช้างป่า และการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ไปใช้ประโยชน์ในลักษณะอื่น ๆ จนทำให้สภาพพื้นที่มีลักษณะเป็นเกาะที่ถูกล้อมรอบด้วยกิจกรรมมนุษย์ หลายพื้นที่มีสภาพเป็นภูเขาสลับซับซ้อนและสูงชัน ทำให้ขาดความเหมาะสมต่อการเป็นที่อยู่อาศัยของช้างป่า และสามารถรองรับประชากรได้จำกัด แม้ว่าพื้นที่อนุรักษ์บางแห่ง เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบอยู่ทางตอนกลางและทางด้านตะวันออกของพื้นที่ และทางด้านตะวันตกติดต่อกับพื้นที่อนุรักษ์อื่น ๆ ในผืนป่าภูเขียว-น้ำหนาวที่มีขนาดกว่า 5 ล้านไร่
แต่ก็มีประชากรช้างป่าประมาณ 114 ตัว แบ่งเป็นเพศผู้โตเต็มวัย 30 ตัว เพศเมียโตเต็มวัย 43 ตัว เพศผู้โตไม่เต็มวัย 14 ตัว เพศเมียโตไม่เต็มวัย 9 ตัว วัยรุ่น 11 ตัว และลูกอ่อน 7 ตัว ซึ่งมีอัตราส่วนระหว่างช้างป่าเพศผู้โตเต็มวันต่อเพศเมียโตเต็มวัยค่อนข้างสูงคือ 0.7:1 ทำให้ช้างป่าเพศผู้บางส่วนต้องออกมาหาพื้นที่ใหม่นอกเขตพื้นที่อนุรักษ์ เมื่อพิจารณาจากอัตราส่วนความสามารถในการสืบพันธุ์ระหว่างเพศเมียโตเต็มวัยต่อวัยรุ่นรวมกับลูกอ่อนคือ 1:0.3 แสดงให้เห็นแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของประชากรช้างป่าในอนาคต นอกจากนี้พบว่าปัจจุบันช้างป่าเหล่านี้ใช้พื้นที่หากินประมาณ 1,288.9 ตารางกิโลเมตร ทำให้ช้างป่าเพศเมียและลูกมีแนวโน้มจะตามช้างป่าเพศออกมาหาพื้นที่หากินใหม่นอกพื้นที่อนุรักษ์ในอนาคต
แนวโน้มประชากรช้างป่าในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทยก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไม่ต่างจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว แต่ที่แตกต่างกันคือ ช้างป่าในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว และพื้นที่อนุรักษ์ที่มีลักษณะเป็นที่ราบสูง ประชากรช้างป่าส่วนใหญ่จึงจำเป็นต้องอาศัยอยู่บนพื้นที่ราบที่มีระดับความสูงมากกว่าพื้นที่อนุรักษ์อื่น ๆ เพราะพื้นที่ที่มีความสูงต่ำกว่านี้มีลักษณะเป็นพื้นที่ลาดชันสูงมาก ซึ่งไม่เหมาะต่อการหากินของช้างป่า แต่ช้างป่าสามารถเดินผ่านได้ในพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นร่องเขาที่มีความลาดชันไม่สูงมากเกินไป ส่วนพื้นที่อนุรักษ์ที่เป็นภูเขาสูงชันช้างป่ามักเลือกอาศัยบริเวณพื้นที่ราบที่มีความสูงไม่มากนัก นอกจากนี้ช้างป่ายังมีความต้องการพื้นที่ป่าไม้ที่มีแหล่งอาหารเพียงพอ และอยู่ใกล้กับแหล่งโป่งที่อยู่ห่างไกลจากกิจกรรมมนุษย์ ด้วยปัจจัยต่าง ๆ
ที่กล่าวมา ทำให้ช้างป่าในพื้นที่อนุรักษ์ต่าง ๆ มีการเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างพื้นที่อนุรักษ์อื่น ๆ ที่อยู่ติดกันที่มีลักษณะพื้นที่ป่าไม้ที่มีแหล่งอาหารค่อนข้างสมบูรณ์ มีความสูงและความลาดชั้นน้อยกว่าพื้นที่อื่น ๆ ถ้าพื้นที่เหล่านี้อยู่ห่างไกลจากชุมชนย่อมส่งผลให้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนและช้างป่าพบได้น้อยกว่าพื้นที่อนุรักษ์อื่น ๆ ที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ขนาดเล็กและอยู่โดดเดี่ยวไม่มีพื้นอนุรักษ์อื่น ๆ อยู่ข้างเคียง หรือพื้นที่ถูกล้อมรอบด้วยกิจกรรมมนุษย์ หรือเป็นพื้นที่ชุมชน ดังนั้น เมื่อประชากรช้างป่าเพิ่มมากขึ้นหรือแหล่งอาหารและแหล่งน้ำขาดแคลนจึงพบการต้องออกมานอกพื้นที่อนุรักษ์ของช้างป่ามากกว่าพื้นที่อนุรักษ์ที่มีขนาดใหญ่และมีความสมบูรณ์สูงกว่า ช้างป่าในพื้นที่อนุรักษ์เขนาดเล็กหล่านี้จึงสร้างผลกระทบต่อชุมชนได้มากกว่าจนทำให้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนและช้างป่าในพื้นที่ซ้อนทับกับชุมชนทวีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ
เพื่อบรรเทาปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนและช้างป่า จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างชุมชนและเจ้าหน้าที่รัฐในการหามาตรการในการเพิ่มศักยภาพของพื้นที่อนุรักษ์ให้สามารถรองรับและดึงประชากรช้างป่าที่เพิ่มมากขึ้นให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ภายในพื้นที่ป่าอนุรักษ์โดยการปรับปรุงพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมต่อการรองรับประชากรช้างป่าให้สามารถกลับมารองรับประชากรช้างป่าได้มากขึ้น แต่การปรับปรุงหรือฟื้นฟูระบบนิเวศต้องไม่ทำให้ประชากรช้างป่ามีอัตราการสืบพันธุ์เพิ่มมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และต้องไม่ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศในพื้นที่ ส่วนพื้นที่ชุมชนต้องรวมตัวกันในการติดตามการออกมานอกพื้นที่ของช้างป่า และรีบรายงานหากพบช้างป่าออกมานอกพื้นที่ เพื่อให้ทางเจ้าหน้าที่เข้ามาผลักดันช้างป่าเหล่านั้นกลับเข้าพื้นที่ป่าอนุรักษ์ก่อนที่จะเกิดความเคยชินกับการเข้ามาใช้พื้นที่ซ้อนทับกับชุมชน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างประชากรกรใหม่ภายในชุมชน ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ได้เกิดขึ้นแล้วในหลายพื้นที่
การเฝ้าระวัง ติดตาม และผลักดันช้างป่า ควรเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชน หน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนาชุมชน และเอกชนที่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาช้างป่า นอกจากนี้ควรมีชุดเฉพาะกิจในการเคลื่อนย้ายช้างป่าที่สร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชน โดยมีการจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการรองรับช้างป่าที่สร้างปัญหาเหล่านี้มาพักไว้ก่อน จากนั้นจึงดำเนินการส่งช้างป่าเหล่านี้กลับเข้าสู่พื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่เหมาะสม มีการกำหนดมาตรการในการชดเชยความเสียหายจากการที่ช้างป่าเข้ามาทำลานทรัพย์สินของราษฎร และมีการประกันชีวิตและสุขภาพให้กับชุมชนในกรณีที่โดนช้างป่าทำร้าย
ทั้งนี้ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่าอย่างต่อเนื่องควรมีการประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติจากช้างป่า เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการช่วยเหลือหรือบรรเทาความเดือดร้อนของชุมชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบได้ตามช่องทางที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมาตรการเหล่านี้เป็นมาตรการเฉพาะหน้าเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของชุมชนเท่านั้น แต่ในระยะยาวหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องควรมีการจัดทำแผนงานในการควบคุมประชากรและการกระจายของช้างป่าในประเทศไทยให้เหมาะสมเพื่อป้องกันการออกมาสร้างความขัดแย้งระหว่างชุมชนและช้างป่าในอนาคต
จัดทำโดย :งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล