ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่สามสิบแปด): ผลพวงของการปฏิรูปการคลังและแนวการสืบราชสันตติวงศ์: วิกฤตการณ์วังหน้า-ความขัดแย้งระหว่างวังหลวงและวังหน้า: หมากการเมืองในการรักษาสมดุลสมการอำนาจเดิมจของฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาฯ
โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร
*****************
“สมเด็จเจ้าพระยาฯพยายามสร้างสถานการณ์ให้ตนได้เป็นตัวกลางสำคัญในความขัดแย้งเพื่อหยุดยั้งการปฏิรูปที่ตนไม่เห็นพ้องด้วย" กุลลดา เกษบุญชู มี้ด
เมื่อเดือนอ้าย (จ.ศ. 1236) พ.ศ. 2417 ได้เกิดเหตุการณ์ที่รู้จักกันในนามของ “วิกฤตการณ์วังหน้า” มีหลักฐานจากประวัติศาสตร์บอกเล่าว่า จากการจัดระบบงบประมาณการคลังใหม่ทำให้กรมพระราชวังฯแสดงความไม่พอใจ เพราะ “งบประมาณใหม่ที่จัดให้วังหน้านั้น ไม่พอค่าใช้จ่าย วังหน้ามีเจ้านายและข้าราชบริพารเป็นพัน กำลังทหารในสังกัดอีกกว่าสามพัน ครอบครัวคนเหล่านี้รวมกันแล้วก็ร่วมหมื่น เมื่อปากท้องคนมีจำนวนเท่าเดิมแต่รายได้ถูกตัดลดลง…”
และเมื่อที่ประชุมที่ปรึกษาในพระองค์ได้รับทราบว่า กรมพระราชวังบวรฯจะไม่ทรงยอมให้ตัดงบประมาณ “พระยาภาสกรวงศ์ก็โพล่งขึ้นว่า ยังงี้ก็ต้อง Coup d’etat แต่ถูกที่ประชุมเบรก ให้ใจเย็นๆไว้ก่อน” และคำกล่าวนี้ของพระยาภาสกรวงศ์ (ขณะนั้นอายุ 24 ปี) ได้รั่วไหลไปถึงวังหน้า อีกทั้งยัง “มีผู้ทิ้งหนังสือว่ามีผู้คิดจะปลงพระชนม์กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ” จนทำให้เกิดการระดมกำลังทหารเป็นจำนวนมากขึ้นที่วังหน้า โดยอ้างว่าเพื่อทำการซักซ้อมงานฉลองพระวังหน้า ทำให้สถานการณ์ระหว่างวังหน้าและวังหลวงตึงเครียดอย่างยิ่ง
ภาพเมื่อได้เป็นเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ
และยิ่งเลวร้ายยิ่งขึ้นเมื่อเกิดไฟไหม้โรงแก๊สในพระบรมมหาราชวังในคืนวันที่ 28 ธันวาคม และ “โดยธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว ทหารที่ประจำการอยู่วังหน้าจะต้องเข้าไปช่วยดับเพลิง แต่ถูกวังหลวงปฏิเสธด้วยเชื่อว่าอาจเป็นการวางเพลิงเพื่อใช้เป็นข้ออ้างให้วังหน้าล่วงล้ำเข้าไปในวังหลวงได้ วังหน้าจึงตัดสินพระทัยประทับอยู่ในวัง โดยอ้างว่าประชวรมิได้เสด็จไปยังวังหลวงพร้อมไพร่พล ด้วยความที่มีธรรมเนียมอยู่ว่าวังหน้าจะต้องเข้าช่วยเหลืออย่างแข็งขัน หากเกิดเหตุร้ายขึ้นในพระราชฐาน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯจึงมีพระบรมราชโองการให้ทหารรักษาพระองค์เข้าล้อมวังหน้าไว้”
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ทั้งสองฝ่ายต่างสงสัยกันว่า อีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้สร้างสถานการณ์เพื่อหาเหตุทำร้ายฝ่ายตน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงถือโอกาสนี้ปรึกษากับเจ้านายและเสนาบดีผู้ใหญ่ในการที่จะลดยศและกำลังของวังหน้าให้ถูกต้องพอสมควร ขณะเดียวกัน วังหน้าซึ่งระแวงภัยที่จะเกิดขึ้น ก็เสด็จไปประทับที่บ้านกงสุลอังกฤษ และทรงขอความคุ้มครองจากรัฐบาลอังกฤษด้วย
เมื่อทรงเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวนี้ได้กลายเป็นการเปิดช่องให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของประเทศ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯและพระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีผู้ใหญ่จึงพยายามทางทางไกล่เกลี่ยประนีประนอม แต่ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงนี้ บุคคลสำคัญที่เป็นผู้สนับสนุนกรมพระราชวังบวรฯกลับเดินทางไปราชบุรีอย่างเงียบๆ ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้กรมพระราชวังบวรฯ
ต่อประเด็นดังกล่าวนี้ การค้นคว้าข้อมูลของ รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี้ดช่วยขับให้สมการทางการเมืองที่ผู้เขียนตั้งขึ้นไว้มีน้ำหนักมากขึ้น โดยสมการการเมืองที่ว่านี้คือ การช่วงชิงอำนาจนำระหว่างฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ และฝ่ายวังหน้า อันได้แก่ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ โดยฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาฯจะครองอำนาจนำต่อไปได้ก็ต่อเมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างวังหลวงกับวังหน้า
ในงานของอาจารย์กุลลดา กล่าวว่า ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2417 ราวหนึ่งเดือนก่อนวิกฤตการณ์จะเริ่มต้นขึ้นและก่อนจะมีเรื่องบัตรสนเท่ห์ สมเด็จเจ้าพระยาฯได้ไถ่ถามกงสุลอังกฤษว่ารัฐบาลอังกฤษจะถือหางข้างใด หากเกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างวังหลวงกับวังหน้า แสดงว่าสมเด็จเจ้าพระยาฯคาดหมายเอาไว้เป็นจริงเป็นจังว่าจะเกิดความขัดแย้งขึ้น และเป็นไปได้ว่าจะมีส่วนรู้เห็นกับการทิ้งบัตรสนเท่ห์
ทั้งนี้เพราะหากความขัดแย้งระหว่างวังหลวงกับวังหน้าบานปลายจนกลายเป็นวิกฤตการณ์ทางการเมือง สมเด็จเจ้าพระยาฯจะอยู่ในฐานะที่ได้ประโยชน์ เนื่องด้วยวิฤตการณ์จำต้องอาศัยคนที่อยู่ในฐานะแบบสมเด็จเจ้าพระยาฯเท่านั้นที่จะเป็นผู้ไกล่เกลี่ยได้ หากประนีประนอมได้สำเร็จ สิทธิอำนาจของสมเด็จเจ้าพระยาฯก็จะเพิ่มพูนกลับมาหลังจากที่สถานะของตนต้องเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำตกต่ำลงจากกรณีที่เขาปฏิเสธการเป็นที่ปรึกษาในพระองค์และถูกประโคมโหมสร้างกระแสจาก “ดรุโณวาท”
ดังนั้น สมเด็จเจ้าพระยาฯจึงอาศัยความคับข้องพระทัยของวังหน้าเป็นเงื่อนไขที่จะทำให้ฝ่ายตนดำเนินการปรับดุลอำนาจระหว่างตนเองกับพระเจ้าอยู่หัวเสียใหม่ และกลับมาเป็นต่อเพื่อที่จะหยุดยั้งการปฏิรูปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯลงให้ได้
ถ้าวิเคราะห์ภายใต้สมการแห่งอำนาจเดิมที่ฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาฯจะยังคงรักษาสัมพันธภาพแห่งอำนาจนำไว้ได้ เขาจะต้องทำให้สถานะบทบาทของเขามีความสำคัญขึ้นมาในฐานะที่เป็นตัวกลางที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องยอมรับเมื่อเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งรุนแรงระหว่างวังหลวงและวังหน้า นั่นคือ ทั้งสองฝ่ายจะต้องพยายามหาการสนับสนุนจากฝ่ายตน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
แต่ “สมเด็จเจ้าพระยาฯประเมินน้ำพระทัยวังหน้าผิด วังหน้าทรงตื่นตระหนกจนหนีไปอยู่ในความอารักขาของกงสุลอังกฤษ” แทนที่จะหันมาพึ่งตน
แม้ว่าการจะเป็นไปตามที่สมเด็จเจ้าพระยาฯคาด นั่นคือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯและเหล่าเสนาบดีเห็นความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาอาศัยสมเด็จเจ้าพระยาฯในฐานะที่เป็นผู้มีอิทธิพลต่อกรมพระราชวังบวรฯให้เป็นผู้ไกล่เกลี่ยปัญหาที่เกิดขึ้น และได้มีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จเจ้าพระยาฯให้กลับจากราชบุรี และในการนี้พระองค์ทรงรับสั่งเป็นการส่วนพระองค์กับผู้ใกล้ชิด ว่า “ทุกวันนี้ก็ต้องว่ายน้ำเข้าหาตะเข้ไปตามกาล”
โดยข้าราชการผู้ใกลชิดนี้ที่ว่านี้คือ เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ บรรดาศักดิ์ก่อนหน้าคือ พระยาราชสุภาวดี [เพ็ง เพ็ญกุล] ท่านเป็นข้าราชการที่ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯประชวรใกล้จะสวรรคต พระยาราชสุภาวดี (พระบุรุษรัตนราชวัลลภ ตำแหน่งในขณะนั้น) ก็ได้เฝ้าดูพระราชหฤทัยด้วย และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงแต่งตั้งให้เป็นทั้งสมาชิกสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินและที่ปรึกษาในพระองค์ด้วย
พระยาราชสุภาวดี [เพ็ง เพ็ญกุล]
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯกำลังหารือที่จะจัดการกับวิกฤตการณ์วังหน้าที่เกิดขึ้นอยู่นั้น ชาติตะวันตกก็ถือโอกาสใช้วิกฤตการณ์เป็นข้ออ้างในการเข้าแทรกแซงการเมืองสยามทันที โดยกงสุลอังกฤษและกงสุลฝรั่งเศสได้เรียกเรือรบเข้ามาในสยามเพื่อรักษาความปลอดภัยและผลประโยชน์ให้แก่คนในบังคับ
สถานการณ์ในขณะนั้นจึงถือว่าเป็นวิกฤตการณ์ร้ายแรงอย่างยิ่งสำหรับสยาม ที่ความขัดแย้งภายในบ้านเมืองได้เปิดช่องให้ต่างชาติมีข้ออ้างที่จะถือโอกาสเข้ามาแทรกแซงได้ !
(แหล่งอ้างอิง: หม่อมหลวง ชัยนิมิตร นวรัตน, เรื่องกระซิบของชาววังหน้า; ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม, สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เล่ม 1; พระราชหัตถเลขาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯมีไปถึงเจ้าพระยาราชวรานุกูล (รอด กัลยาณมิตร) ใน ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม, สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เล่ม 1; กุลลดา เกษบุญชู มี้ด เขียน, อาทิตย์ เจียมรัตตัญญู แปล,
ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ วิวัฒนาการรัฐไทย; หจช. จดหมายเหตุรัชกาลที่ 5, เลขที่ 1250 พระราชหัตถเลขาถึงกรมพระราชวังบวรเรื่องความหวาดสะดุ้งกลัวภัย จ.ศ. 1236 อ้างใน ชลธิชา บุนนาค, การเสื่อมอำนาจทางการเมืองของขุนนางในสมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ 2416-2435): ศึกษากรณีขุนนางตระกูลบุนนาค; พระราชหัตถเลขาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯมีไปถึงสมเด็จเจ้าพระยาฯ ใน ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม, สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เล่ม 1)