posttoday

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่สามสิบเก้า): ผลพวงของการปฏิรูปการคลังและแนวการสืบราชสันตติวงศ์: วิกฤตการณ์วังหน้า: ชัยชนะของรัชกาลที่ห้าท่ามกลางสถานการณ์อันสุ่มเสี่ยง

16 ธันวาคม 2564

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่สามสิบเก้า): ผลพวงของการปฏิรูปการคลังและแนวการสืบราชสันตติวงศ์: วิกฤตการณ์วังหน้า: ชัยชนะของรัชกาลที่ห้าท่ามกลางสถานการณ์อันสุ่มเสี่ยง

“ความขัดแย้งระหว่างวังหลวงกับวังหน้าจะทำให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้มีอำนาจนำเหนือทั้งสองฝ่าย”

จากการปฏิรูปการคลังเพื่อพัฒนาไปสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่ ได้สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มขุนนางภายใต้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์และกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ และเมื่อเกิดไฟไหม้โรงแก๊สในพระบรมมหาราชวังในคืนวันที่ 28 ธันวาคม และ

“โดยธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว ทหารที่ประจำการอยู่วังหน้าจะต้องเข้าไปช่วยดับเพลิง แต่ถูกวังหลวงปฏิเสธด้วยเชื่อว่าอาจเป็นการวางเพลิงเพื่อใช้เป็นข้ออ้างให้วังหน้าล่วงล้ำเข้าไปในวังหลวงได้ วังหน้าจึงตัดสินพระทัยประทับอยู่ในวัง โดยอ้างว่าประชวรมิได้เสด็จไปยังวังหลวงพร้อมไพร่พล ด้วยความที่มีธรรมเนียมอยู่ว่าวังหน้าจะต้องเข้าช่วยเหลืออย่างแข็งขัน หากเกิดเหตุร้ายขึ้นในพระราชฐาน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯจึงมีพระบรมราชโองการให้ทหารรักษาพระองค์เข้าล้อมวังหน้าไว้”

ฝ่ายวังหน้าและวังหลวงต่างระแวงดันว่าอีกฝ่ายสร้างสถานการณ์เพื่อหาเหตุทำร้ายฝ่ายตน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงถือโอกาสนี้ปรึกษากับเจ้านายและเสนาบดีผู้ใหญ่ในการที่จะลดยศและกำลังของวังหน้าให้ถูกต้องพอสมควร ขณะเดียวกัน วังหน้าซึ่งระแวงภัยที่จะเกิดขึ้น ก็เสด็จไปประทับที่บ้านกงสุลอังกฤษ และทรงขอความคุ้มครองจากรัฐบาลอังกฤษด้วย

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่สามสิบเก้า): ผลพวงของการปฏิรูปการคลังและแนวการสืบราชสันตติวงศ์: วิกฤตการณ์วังหน้า: ชัยชนะของรัชกาลที่ห้าท่ามกลางสถานการณ์อันสุ่มเสี่ยง

                                         โทมัส น็อกซ์ กงสุลอังกฤษผู้สนับสนุนวังหน้า

เมื่อทรงเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวนี้ได้กลายเป็นการเปิดช่องให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของประเทศ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯและพระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีผู้ใหญ่จึงพยายามทางทางไกล่เกลี่ยประนีประนอม

ในขณะที่ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯกำลังหารือที่จะจัดการกับวิกฤตการณ์วังหน้าที่เกิดขึ้นอยู่นั้น ชาติตะวันตกก็ถือโอกาสใช้วิกฤตการณ์เป็นข้ออ้างในการเข้าแทรกแซงการเมืองสยามทันที โดยกงสุลอังกฤษและกงสุลฝรั่งเศสได้เรียกเรือรบเข้ามาในสยามเพื่อรักษาความปลอดภัยและผลประโยชน์ให้แก่คนในบังคับ สถานการณ์ในขณะนั้นจึงถือว่าเป็นวิกฤตการณ์ร้ายแรงอย่างยิ่งสำหรับสยาม ที่ความขัดแย้งภายในบ้านเมืองได้เปิดช่องให้ต่างชาติมีข้ออ้างที่จะถือโอกาสเข้ามาแทรกแซงได้

ต่อสถานการณ์ดังกล่าวนี้ รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี้ด ได้วิเคราะห์ไว้ได้น่าสนใจว่า ความพลิกผันของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลให้สมเด็จเจ้าพระยาฯไม่อาจใช้วังหน้าเป็นองค์ประกันในการต่อรองทางการเมืองกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯได้อีกต่อไป เพราะสมเด็จเจ้าพระยาฯไม่สามารถกราบบังคมทูลให้วังหน้าเสด็จพระราชดำเนินกลับวัง เพราะวังหน้าได้หันไปพึ่งต่างชาติอย่างเต็มตัว และกงสุลชาวตะวันตกก็แสดงการสนับสนุนวังหน้าที่กำลังหนีราชภัย

สมเด็จเจ้าพระยาฯจึงหันไปเล่นบทรุนแรงต่อวังหน้าและพยายามโดดเดี่ยววังหน้า เพื่อหวังให้วังหน้าต้องกลับมาพึ่งตนแทนต่างชาติ โดยพยายามจะให้วังหน้าเห็นว่า ทางฝ่ายวังหลวงตั้งข้อหาอุกฉกรรจ์ต่อวังหน้าที่ใช้อำนาจชาวต่างชาติเพื่อบรรลุความมุ่งหมายในการบั่นทอนพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯไม่ทรงเห็นด้วยและพยายามประนีประนอมเกลี้ยกล่อมให้กรมพระราชวังบวรฯเสด็จออกจากสถานกงสุลอังกฤษแล้วกลับเข้าวัง โดยพระองค์ได้มีพระราชหัตถเลขาไปยังกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ดังความตอนหนึ่งว่า

“…ฉันไม่ได้คิดจะฆ่าเธอๆมีความหวาดหวั่นข้อไหน เธอก็รู้อยู่เองว่า ในแผ่นดินเราทุกวันนี้ ผู้ใดไม่มีความผิดใหญ่ที่ควรจะต้องฆ่ากันไม่ได้...เธอทำการถึงเพียงนี้จะพาให้เสียชื่อติดแผ่นดินไปทั้งสองฝ่าย ก็เธอจะคิดต่อไปอย่างไรจึงจะเป็นการดีการชอบอย่าให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อนหวั่นหวาดต่อไป การที่เป็นนี้ฉันก็ไม่ทราบชัด ต่อเจ้าคุณมาบอกว่าเธอกลัวฉันจะฆ่าเธอ การนี้ฉันไม่ได้คิดเลย ถ้าเธอคิดเห็นการอย่างไรจะเป็นการเรียบร้อยสิ้นสงสัยเลิกแล้วเป็นการดี จงมีหนังสือสำคัญมาให้รู้ด้วย”

แต่กรมพระราชวังฯทรงนิ่งเฉย ความพยายามประนีประนอมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯช่วยทำให้สถานะของพระองค์สูงขึ้น

เมื่อทางฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯและสมเด็จเจ้าพระยาฯไม่สามารถเกลี้ยกล่อมวังหน้าเพื่อยุติวิกฤตการณ์ได้ สมเด็จเจ้าพระยาฯจึงหันไปพึ่งกงสุลฝรั่งเศสให้เข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเพื่อชี้ให้เห็นว่า ต้นตอสาเหตุของความขัดแย้งที่นำไปสู่วิกฤตการณ์รุนแรงนี้คือ การปฏิรูประบบการคลัง กำลังคนและการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่ทำให้วังหน้าไม่พอใจจนรับไม่ได้และเกิดความหวาดระแวงจนนำไปสู่สถานการณ์ดังกล่าว

โดยที่มาของปัญหาคือ การจัดตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินและสภาที่ปรึกษาในพระองค์ โดยสมเด็จเจ้าพระยาฯต้องการกดดันให้พระองค์ทรงยุบเลิกองค์กรสถาบันทั้งสองนี้เสีย นั่นคือ เพื่อจะยุติการปฏิรูปที่นำมาซึ่งการลดทอนรายได้และกำลังคนอันจะเป็นการปรับเปลี่ยนสมการสัมพันธภาพอำนาจที่ตนเคยครองอำนาจนำอยู่และเริ่มที่จะสูญเสียจากการบังคับใช้กฎหมายที่ผ่านมา

แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงยืนยันว่าจะไม่ยอมยุบเลิกสภาทั้งสอง แต่ประนีประนอมโดยการยื่นข้อเสนอว่าพระองค์เต็มพระทัยที่จะปลดบุคคลที่ไม่เหมาะสมออก ดังที่พระองค์ได้มีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ว่า “ด้วยที่กงสุลเขามาพูดนั้น ได้ถามท่านกรมท่าทราบความแล้วทุกประการ ฉันก็ไม่ว่าไรตามแต่จะเป็นไป คนชั่วก็ไม่อยากจะได้ไว้ แต่เคาน์ซิลออฟ เสตด แลปรีวี เคาน์ซิล นั้นก็คิดเห็นว่าเป็นการดี จึ่งตั้งไว้ ถ้าคนใดไม่ดีก็อยากจะคัดออกเสีย...”

และพระราชหัตถเลขาถึงกรมท่า “ด้วยการที่กงสุลจะมาพูดนั้น ฉันกลัวจะเป็นการไม่สำเร็จเสียเป็นแน่ ด้วยการที่จะถอดเคาน์ซิลไม่รู้ว่าเจ้าคุณจะเอาอย่างไร ถ้าต้องถอดถอนกันในเวลานี้แล้ว ฉันเห็นจะเสียมาก เป็นแพ้วังหน้าต้องปรับโทษตรงๆ เห็นจะดูหน้าคนต่อไปไม่ได้ แต่การที่จะพูดกับกงสุลเสียนั้นดี แต่ฉันคงจะต้องยอมถอดเคาน์ซิลไม่ได้ในเวลานี้…”

อย่างไรก็ตาม ภายใต้การกดดันและสนับสนุนวังหน้าจากต่างชาติ ทางฝ่ายวังหลวงได้มีการลงมติให้ลดพระอิสริยยศวังหน้าจากพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่สองเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลตามโบราณราชประเพณี แต่วังหน้าทรงยื่นข้อเสนอกลับโดยขอให้พระองค์มีกำลังไพร่พลได้ตามเดิมและได้รับจัดสรรเงินภาษีอากรตามเดิม โดยทางวังหลวงจะต้องยอมรับข้อเรียกร้องดังกล่าวโดยมีกงสุลอังกฤษและกงสุลฝรั่งเศสเป็นผู้รับประกันข้อตกลง

ซึ่งเหล่าเสนาบดีไม่เห็นด้วยกับการยอมให้ต่างชาติเข้ามาเป็นผู้รับประกันการตกลงระหว่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯกับวังหน้า ส่งผลให้วิกฤตการณ์ยืดเยื้อต่อไปอีก ด้วยฝ่ายรักษาการกงสุลอังกฤษแสดงท่าทีสนับสนุนวังหน้า ทำให้วังหน้าเข้าใจว่ารัฐบาลอังกฤษเข้าข้างพระองค์ จึงทรงรั้งรอให้อังกฤษเข้ามาแทรกแซงและทรงปฏิเสธข้อเสนอประนีประนอมอย่างสิ้นเชิง

จนถึงรัฐบาลอังกฤษได้ส่งเซอร์แอนดรูว์ คลาก ผู้ว่าราชการเมืองสิงคโปร์เข้ามาไกล่เกลี่ย ปรากฏว่าหลังจากที่ได้พิจารณาเรื่องที่เกิดขึ้น รัฐบาลทางลอนดอนและเซอร์แอนดรูว์ คลากเห็นพ้องกับการปฏิรูปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ และให้พระองค์เป็นผู้วางเงื่อนไขข้อตกลงและบังคับให้วังหน้าจำเป็นต้องยอมรับ

และข้อตกลงที่เกิดขึ้น นั่นคือ วังหน้าไม่มีสถานะพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่สองอีกต่อไป และมีทหารปืนเล็กรักษาพระองค์ได้เพียง 200 นายและให้ประจำการอยู่แต่เฉพาะในวังหน้าโดยที่พระมหากษัตริย์ทรงเรียกใช้ได้ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงผูกขาดเรือรบ อาวุธยุทโธปกรณ์และเครื่องกระสุนปืนแต่พระองค์เดียว แต่จะคุ้มครองดูแลสิทธิและผลประโยชน์ทางการเงินของวังหน้า

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่สามสิบเก้า): ผลพวงของการปฏิรูปการคลังและแนวการสืบราชสันตติวงศ์: วิกฤตการณ์วังหน้า: ชัยชนะของรัชกาลที่ห้าท่ามกลางสถานการณ์อันสุ่มเสี่ยง

                                                 เซอร์แอนดรู คล้าก

แม้ว่าจะไม่ทราบแน่ชัดว่า มีใครบ้างที่อยู่เบื้องหลังวิกฤตการณ์วังหน้าและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นที่ทำให้ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงเริ่มได้เปรียบในสมการแห่งอำนาจทางการเมืองต่อฝ่ายวังหน้า นอกเหนือไปจากสมเด็จเจ้าพระยาฯ ที่กุลลดาได้ชี้ให้เห็นการเคลื่อนไหวของสมเด็จเจ้าพระยาฯกับกงสุลอังกฤษหนึ่งเดือนก่อนจะเกิดเหตุการณ์วิกฤตระหว่างวังหลวงกับวังหน้า เพราะก่อนจะเกิดเหตุ พระยาภาสกรวงศ์ก็ได้กล่าวถ้อยคำอันรุนแรงถึงวังหน้าว่า หากไม่ยอมรับการปฏิรูปก็จะต้องเกิด “coup d’etat”

และเมื่อคำกล่าวนี้รั่วไหลออกไป อาจจะถูกนำไปเป็นเงื่อนไขในการสร้างสถานการณ์บัตรสนเท่ห์การลอบปลงพระชนม์วังหน้าขึ้น ไม่ว่าจะโดยพระยาภาสกรณ์เอง หรือสมเด็จเจ้าพระยาฯหรือแม้กระทั่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเอง รวมทั้งการเกิดไฟไหม้ในพระบรมมหาราชวังเพื่อการชิงทำรัฐประหารเองเสียก่อน

ต่อมาภายหลัง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเองก็ทรงมีพระราชหัตเลขาไปยังสมาคมสยามหนุ่มกำชับมิให้พูดจาให้วังหน้าทรงเกิดความรู้สึกเจ็บช้ำน้ำพระทัยในการที่ทรงทำเหตุให้เกิดขึ้นครั้งนี้ เพราะก่อนหน้านี้ “ดรุโณวาท” ก็กล้าตีพิมพ์ข้อเขียนสนับสนุนการสืบราชสันตติวงศ์โดยพระราชโอรสอย่างเปิดเผย ทั้งๆที่ “วังหน้า” ทรงดำรงตำแหน่งรัชทายาทอยู่

ผลที่ตามมาจากวิกฤตการณ์วังหน้าคือ ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงสามารถลดทอนสิทธิ์อำนาจและดึงทรัพยากรกำลังคนและอาวุธยุทโธปกรณ์มาไว้ที่พระองค์ได้ ทำให้วังหน้าในฐานะตัวแสดงทางการเมืองหมดบทบาทอิทธิพลลงไปจนในที่สุดอีก 11 ปีต่อมา เมื่อกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญทิวงคตในปี พ.ศ. 2428 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงประกาศเลิกธรรมเนียมการมีวังหน้าในปี พ.ศ. 2429 และทรงประกาศสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมงกฎราชกุมารขึ้นเป็นครั้งแรก สามารถล้มหลักการ “เอนกนิกรสโมสรสมมุติ” ที่เป็นเงื่อนไขให้กลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคขึ้นสู่และทรงอำนาจอิทธิพลต่อเนื่องถึงสามรัชกาล

ขณะเดียวกัน ฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาฯยังคงพยายามหาทางที่จะรักษาสมการแห่งอำนาจที่ตนเคยได้เปรียบมาตลอด โดยพยายามเจรจาตีความข้อตกลงดังกล่าวเพื่อหาทางดึงทรัพยากรทางการทหารกลับไปให้วังหน้า แต่ไม่สำเร็จ ด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯได้อาศัยเซอร์แอนดรูว์ คลาร์กโน้มน้าวให้พวกขุนนางบุนนาคยอมคล้อยตามพระองค์ได้ในที่สุด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวิกฤตการณ์นี้จะลงเอยด้วยการที่ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯได้เริ่มเป็นฝ่ายได้เปรียบในสมการสัมพันธภาพแห่งอำนาจทางการเมือง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงมาก

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่สามสิบเก้า): ผลพวงของการปฏิรูปการคลังและแนวการสืบราชสันตติวงศ์: วิกฤตการณ์วังหน้า: ชัยชนะของรัชกาลที่ห้าท่ามกลางสถานการณ์อันสุ่มเสี่ยง

ดังจะเห็นได้ว่า ตัวแปรที่สำคัญที่อยู่เหนือการควบคุมคือ ความเห็นของรัฐบาลอังกฤษที่กรุงลอนดอน แม้ว่าจะมีข้อมูลหลักฐานว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงติดด่อกับเซอร์แอนดรูว์ คลาก อยู่ก่อนหน้าแล้วก็ตาม

นอกเหนือไปจากที่รัฐบาลอังกฤษเห็นด้วยกับการจัดตั้งองค์กรสถาบันทางการเมืองอย่างสภาทั้งสองเพื่อปฏิรูประบบการคลังและกำลังคนให้ทันสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯแล้ว อาจจะเป็นการตีความที่เกินเลยของผู้เขียนก็ได้ที่เห็นว่า การดำเนินพระราชวิเทโศบายกับอังกฤษมาแต่ก่อนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯเสด็จขึ้นครองราชย์จนปลายรัชสมัยมีส่วนที่ทำให้รัฐบาลอังกฤษภายใต้สมเด็จพระราชินีวิคตอเรียสนับสนุนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯในความขัดแย้งดังกล่าว

(แหล่งอ้างอิง: กุลลดา เกษบุญชู มี้ด ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ วิวัฒนาการรัฐไทย, (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน: 2562); พระราชหัตถเลขาถึงพระยาสมุทรบุรารักษ์ ปรีวี เคาน์ซิล ใน ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม, สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เล่ม 1; ชลธิชา บุนนาค, การเสื่อมอำนาจทางการเมืองของขุนนางในสมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ 2416-2435): ศึกษากรณีขุนนางตระกูลบุนนาค; หม่อมหลวง ชัยนิมิตร นวรัตน, เรื่องกระซิบของชาววังหน้า; ประภา สังข์บุญลือ, วิเคราะห์หนังสือพิมพ์ดรุโณวาท; Shunyu Xie, Siam and the British 1874-75 อ้างใน กุลลดา เกษบุญชู มี้ด, ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ วิวัฒนาการรัฐไทย)