ดร.สุธี อักษรกิติ์ นักวิทยาศาสตร์ไทย

23 ธันวาคม 2564

โดย...ภุมรัตน ทักษาดิงพงศ์

********************

“ คนเราเมื่อจะทำอะไรแล้ว อย่ารู้แต่เรื่องทฤษฎี อย่างเดียว เพราะงานจะไม่สำเร็จ ให้ลงมือทำ งานทุกอย่างจะสำเร็จด้วยการกระทำ" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ

ขอโอกาสท่านผู้อ่านเขียนถึง ดร.สุธี อักษรกิติ์ นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม ซึ่งเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ขอย้ำว่า ชาติได้สูญเสีย “นักวิทยาศาสตร์” คนสำคัญไปอีกคนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างเป็นไปตามกฎแห่งกรรม คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย

คนไม่ค่อยรู้จักท่านและคุ้นเคยกับชื่อท่านนัก เพราะท่านดำเนินชีวิตแบบสมถะ พูดจาเบา ๆ อยู่บ้านหลังเล็ก ๆ แต่งตัวสบาย ๆ ใช้รถคันเล็กที่เก่ามาก เป็นคนทำงานแบบเงียบ ๆ คนที่รู้จักท่านก็จะมีศิษย์ที่มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้า ลาดกระบัง รวมทั้งคนที่ทำงานในแวดวงสภาวิจัยแห่งชาติ หากไม่รู้จักตัวท่านและประวัติของท่านมาก่อนแม้เดินกระทบไหล่กัน ก็ไม่มีทางรู้เลยว่านี่คือนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของประเทศ เพราะบุคลิกและท่าทางการแต่งกายของท่านจะทำให้คนที่เห็นเข้าใจว่า ท่านเป็นศิลปิน

ลูกศิษย์ของท่านได้เขียนถึงและโพสต์ในสื่อโซเชียลไว้แล้ว อีกทั้งท่านผู้อ่านสามารถอ่านประวัติและผลงานส่วนหนึ่งของท่านได้ในวิกิพีเดีย แต่ผู้เขียนจะรื้อฟื้นความจำที่ได้พูดคุยกับท่านนำมาถ่ายทอดให้ผุ้อ่านได้รู้จักท่านและผลงานบางส่วนของท่าน

ดร.สุธี ได้สอบชิงทุนไปศึกษาต่อด้านวิศวกรรมที่สหรัฐอเมริกาจนได้ปริญญาเอก จากนั้น ได้ทำงานเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่องค์การนาซาของสหรัฐเป็นเวลา 7 ปี ทำหน้าที่ออกแบบวงจรใช้กับดาวเทียมสำรวจอวกาศ และมีส่วนในการสร้างสายอากาศและแผงโซลาเซลล์บนดาวเทียม หากท่านอยากทำงานต่อที่นาซาต่อไปก็ได้ เพราะนาซาไว้ใจและพอใจผลงาน แต่ท่านตระหนักดีว่า ท่านได้รับทุน ดังนั้น ท่านต้องนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับกลับไปทำประโยชน์ให้กับชาติบ้านเมืองต่อไป

เมื่อกลับมา ท่านได้ถวายงานรับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในหลวงรัชกาลที่ 9 นับตั้งแต่กลับมาเมืองไทยเป็นเวลากว่า 46 ปี ในโครงการพระราชดำริหลายแขนง หากเขียนทั้งหมดคงใช้เวลาหลายวันและหลายหน้า ผู้เขียนจึงขอสรุปย่องานวิจัยหลักที่ท่านเคยเล่าให้ฟัง ดังนี้

งานแรกที่ได้รับ คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมอบหมายให้ทำขณะนั้น คือ ทำอย่างไร พระองค์ท่านจะสามารถติดต่อทางวิทยุ ( วิทยุมือถือวอกกี้ ทอกกี้ ที่พระองค์ท่านถือ ) ได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ เพื่อรับฟังทุกข์สุขของประชาชนทั่วประเทศ เมื่อมีพระราชประสงค์ โดยเฉพาะระหว่างการเสด็จโดยรถยนต์จาก กทม.ไปยังเชียงใหม่ และไปยังจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่สามารถทำได้เพราะเทคโนโลยีด้านการสื่อสารยังไม่ก้าวหน้าพอ

ดร.สุธี ได้คิดค้น วิจัยสายอากาศรวม 4 แบบ ซึ่งได้รับชื่อพระราชทานต่อมาว่า “สายอากาศสุธี 1-4” จนสามารถสนองพระราชดำริได้ครบถ้วน กล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในหลวงรัชกาลที่ 9 สามารถสั่งการทางวิทยุสื่อสารได้ทุกแห่งในประเทศไทย

คนรุ่นใหม่อาจจะนึกไม่ออกเพราะเวลานี้ ทุกคนสามารถใช้โทรศัพท์มือถือซึ่งอยู่ที่ไหนก็สามารถติดต่อไปได้ทุกแห่งในประเทศไทยและทั่วโลก ขอให้นึกย้อนหลังไปเมื่อหลายสิบปีก่อนที่ยังไม่มีโทรศัพท์มือถือไม่ว่าจะเป็น 3 จี หรือ 4 จี ที่ติดต่อผ่านดาวเทียม เครื่องมือสื่อสารที่ดีที่สุดขณะนั้นคือ วิทยุวอกกี้ ทอกกี้ ที่ติดต่อได้ในเขตจำกัด ต้องใช้สายอากาศช่วยทำให้ติดต่อได้ทั่วประเทศในทุกสภาพดินฟ้าอากาศ

สายอากาศที่ติดตั้งบนหลังคาพระตำหนักาจิตรลดานั้น ส่วนหนึ่งก็คือ สายอากาศสุธี นี่เอง

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเรียกใช้ ดร.สุธี ตลอดมาในส่วนที่เกี่ยวกับการติดต่อสื่อสาร

คนสมัยใหม่หลายคนยังไม่เกิดและนึกไม่ออกว่า เสาอากาศวิทยุจะสำคัญอะไรหนักหนาจนต้องเอามาพูดถึงกัน เพราะพวกเขาเกิดมาพร้อมกับโทรศัพท์มือถือที่สะดวกสบาย สามารถติดต่อได้ทุกแห่งในโลก

เมื่อมีการจัดตั้ง “มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมภ์” เพื่อให้โอกาสแก่เยาวชน นักเรียนในพื้นที่ที่ห่างไกลและพื้นที่ชายขอบ สามารถเรียนรู้ทางวิชาการได้เช่นเดียวกับนักเรียนในเมือง ดร.สุธี ได้รับแต่งตั้งเป็นรองประธานด้านเทคนิคตั้งแต่แรก และดำรงตำแหน่งนี้จนกระทั่งก่อนเสียชีวิต

เมื่อเกิดโควิด 19 นักเรียนทั่วประเทศต้องเรียนที่บ้านผ่านสื่อออนไลน์ แต่นักเรียนในพื้นที่ห่างไกลและชายขอบได้เรียนแบบนี้มาก่อนแล้ว

ดร.สุธี เชื่อว่า คนไทยมีขีดความสามารถที่จะทำ สิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง ท่านอยากจะเป็นผลผลิต Thai Made มากกว่า Made in Thailand เพราะหลายอยางเป็นของคนอื่นแต่มาผลิตในเมืองไทย

ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไม ดร.สุธี จึงมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องดาวเทียมอย่างลึกซึ้งเพราะท่านเคยทำงานเกี่ยวกับดาวเทียมที่นาซามาก่อน ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ท่านเชื่อว่า คนไทยสามารถผลิตดาวเทียม ส่งดาวเทียมเข้าวงโคจรด้วยตนเองได้ ท่านต้องการให้รัฐบาลไทยมีดาวเทียมเป็นของตนเอง และยิงดาวเทียมขึ้นฟ้าที่เมืองไทย โดยมีจังหวัดนราธิวาสเป็นพื้นที่ยิงดาวเทียมที่เหมาะสมที่สุดเพราะอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรมากที่สุด ไม่ต้องไปยิงไกลถึงกิอานา หรือที่จีน หรือสหรัฐอเมริกา

ดาวเทียมดวงเดียวที่ไทยมีอยู่ขณะนี้กว่าจะโคจรมายังจุดเดิมเหนือประเทศไทยต้องใช้เวลา 16 ชั่วโมง ดังนั้น กว่าจะเห็นเมืองไทยแต่ละครั้งต้องใช้เวลาห่างกัน 16 ชั่วโมง หากไทยยิงดาวเทียมขึ้นไป 15 ดวงบนท้องฟ้า ดังนั้น ไทยจะมีดาวเทียมโคจรอยู่เหนือเมืองไทยทุกชั่วโมง เหมือนกับเรามีดาวเทียมค้างฟ้า ที่สามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงในเมืองไทยทุกชั่วโมง ซึ่งจะเป็นประโยชน์โดยเฉพาะต่อความมั่นคงของประเทศ

โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ส่วนหนึ่งเราต้องโฟกัสไปที่สถานการณ์ในทะเลจีนใต้และอ่าวไทย ที่เชื่อมโยงกันสามจุดเป็นสามเหลี่ยม คือ จังหวัดตราด นราธิวาส และภูเก็ต หากโยงเส้นสามจังหวัดนี้ก็เท่ากับเราสามารถดูแลผลประโยชน์ของชาติเหนืออ่าวไทยได้ นอกเหนือจากผลประโยชน์และความมั่นคงบนบก ทั้งเรื่องภัยแล้ง น้ำท่วม ไฟป่า ฯลฯ

ถ้า ดร.สุธี ไม่เสียชีวิตเสียก่อน คนไทยอาจมีโอกาสเห็นดาวเทียมไทยที่เป็น “ไทย เมด” โคจรอยู่ในอวกาศ เพราะเป็นเรื่องที่ทำได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลไทยนอกจากสายอากาศและดาวเทียมแล้ว ท่านมีผลงานต่างๆ อีกมากมายที่เคยได้ยินได้ฟังจากท่าน ไม่เพียงทำงานสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 เท่านั้น ดร.สุธี ยังทำงานวิจัยหลายอย่าง เช่น โครงการทดลองปลูกข้าวในพื้นที่แห้งแล้งภาคอีสาน โดยใช้พื้นที่น้อย น้ำน้อย แต่ให้ผลผลิตมากและคุณภาพสูง โครงการปลูกข้าวโดยใช้น้ำน้อยและไม่ใช้ปุ๋ย แต่เลี้ยงปลาในนาข้าวเพื่อใช้เมือกปลาเป็นปุ๋ย โครงการเลี้ยงปลาทู โครงการโรงไฟฟ้าโดยใช้หญ้าเนเปียเป็นเชื้อเพลิง เป็นต้น และอีกหลายโครงการที่ท่านเล่าให้ฟัง แต่ผู้เขียนจำไม่ได้

พบกับท่านทีไร ได้รับความรู้แปลกๆใหม่ๆทุกครั้ง ท่านเล่าเรื่องยากให้เข้าใจได้ง่าย

ตบท้ายสำหรับบทความวันนี้ ขอถ่ายทอด “คาถาสามข้อ” ที่ ดร.สุธี ได้ตั้งชื่อโดยสรุปจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งท่านได้นำมาสอนลูกศิษย์ คือ

ข้อแรก เมื่อเรียนหนังสืออย่าเรียนเพื่อตัวเอง แต่ให้เรียนเพื่อสร้างงาน เพราะการสร้างงานจะทำให้สังคมอยู่ได้

ข้อสอง หลักคิด อย่าคิดไปเรื่อย แต่ให้คิดต่าง คิดต่างอาจเป็นความคิดนอกกรอบหรือความคิดในกรอบก็ได้ ที่สำคัญ อย่าคิดใหญ่เกินตัว

ข้อสาม เมื่อคิดแล้วต้องทำ และทำให้ถูกต้อง คิดให้ถูกต้อง ทำให้ถูกต้อง ตรงนี้อยู่ที่ค่อย ๆ สะสม เห็นอะไรรอบตัว อย่าไปคิดว่ามันไม่เกี่ยวกับเรา แล้วไม่สนใจ ให้ดู และถ้าบูรณาการได้ ก็ให้บูรณาการ  

Thailand Web Stat