ค่าเงินบาทไทย ติดตามรายงานการประชุมเฟด

13 กุมภาพันธ์ 2565

เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.40-33.10 ในสัปดาห์นี้ ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามคือการรายงานการประชุมเฟด

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money…week) โดย...กฤติกา บุญสร้าง, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.40-33.10 ในสัปดาห์นี้ ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามคือการรายงานการประชุมเฟด ภายหลังจากตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในเดือนมกราคมพุ่งสูงที่ 7.5%YoY สูงที่สุดตั้งแต่ปี 1982 ทำให้ตลาดส่งแรงกดดันอย่างหนักต่อเฟด โดยคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วและชันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์นี้จะมีการประกาศดัชนีราคาผู้ผลิต ซึ่งเป็นดัชนีที่จะสะท้อนเงินเฟ้อจากฝั่งอุปทาน โดยตลาดคาดการณ์ดัชนีราคาผู้ผลิตสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอลง

ด้านเอเชีย ญี่ปุ่นจะมีการประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาสที่ 4 โดยตลาดคาดการณ์การพลิกกลับมาขยายตัว จากที่หดตัวในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่เงินเฟ้อญี่ปุ่นมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ จีนจะมีการประกาศอัตราเงินกู้ระยะ 1 ปี โดยตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางจีนจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 2.85% ภายหลังจากปรับดอกเบี้ยดังกล่าวลงในเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงวันที่ 7-11 กุมภาพันธ์ 2022 ค่าเงินบาทไทยแข็งค่าขึ้น ท่ามกลางเงินทุนไหลเข้าทั้งตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นต่อเนื่องทั้งสัปดาห์ ด้วยความหวังต่อการฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยวไทย โดยรัฐบาลไทยเตรียมหารือ Travel bubble กับจีนและมาเลเซียภายในเดือนนี้ ด้านเงินเฟ้อไทยในเดือนมกราคมพุ่งขึ้น 3.23%YoY สูงกว่าคาดการณ์ เนื่องด้วยเป็นผลมาจากราคาพลังงานถึง 2.25% ในขณะที่ ธปท. มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ตามคาด เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องและดีกว่าที่คาด จากการกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบไม่กักตัวเร็วกว่าที่คาด ในขณะที่ความเสี่ยงลดลง และผลกระทบจากโอไมครอนมีแนวโน้มอยู่ในวงจำกัด โดยรวม ธปท. คาดการณ์เศรษฐกิจไทยกลับสู่ระดับก่อนเกิดโควิดในช่วงปลายปีนี้-ต้นปีหน้า ธปท. ประเมินว่าเงินเฟ้อในปีนี้มีแนวโน้มสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ และอาจสูงกว่ากรอบเป้าหมายของ ธปท. ในช่วงแรกของปี เนื่องจากราคาพลังงานและอาหารสดที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งสถานการณ์คอขวดภาคอุปทานที่อาจยืดเยื้อกว่าที่คาด ในขณะที่แรงกดดันจากเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังคงอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนกำลังซื้อผู้บริโภคที่เริ่มฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม โดยรวม ธปท. ยังประเมินว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีและเงินเฟ้อระยะกลางยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมาย ทั้งนี้ ธปท. ระบุว่าจำเป็นต้องดำเนินนโยบายแบบสมดุลระหว่างการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกับการจัดการเงินเฟ้อ และปัจจุบันยังไม่เห็นสัญญาณเงินเฟ้อในวงกว้าง ทั้งนี้ ด้านผู้ว่า ธปท. ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ กล่าวว่าอาจมีการพิจารณาเป้าหมายเงินเฟ้อ เพื่อให้ครอบคลุมปัจจัยเพิ่มมากขึ้น

ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 2 ปี พุ่งสูง ภายหลังจากเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนมกราคมขยายตัว 7.5%YoY สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1982 และสูงกว่าคาดการณ์ที่ 7.2%YoY โดยการเพิ่มขึ้นหลักมาจากการขนส่ง 3.17% ซึ่งสะท้อนราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง และราคาบ้าน 2.4% ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวดีต่อเนื่อง ในขณะที่ไบเดนเตรียมขึ้นค่าจ้างให้พนักงานรัฐ 4.6% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 20 ปี ยิ่งเพิ่มความกังวลต่อเงินเฟ้อให้ทวีความรุนแรงขึ้น ประกอบกับสมาชิกเฟดสนับสนุนมุมมอง Hawkish ต่อเนื่อง โดยล่าสุดประธานเฟดเซนต์หลุยส์ เจมส์ บุลลาร์ดคาดการณ์ว่าเฟดจะต้องขึ้นดอกเบี้ย 100bps ก่อนกรกฎาคมนี้ ในขณะที่ประธานเฟดริชมอนด์ โทมัส บาร์กิ้น กล่าวถึงความกังวลต่อแรงกดดันจากด้านค่าจ้างที่จะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และกล่าวว่าการขึ้นดอกเบี้ยให้กลับไปสู่ระดับก่อนเกิดโควิดโดยเร็วเป็นเรื่องที่เหมาะสม ทำให้ตลาดด้านตลาดมองว่ามีโอกาส 100% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 50bps ในเดือนมีนาคม และมีโอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยสูงถึง 7 ครั้งในปีนี้ นอกจากนี้ สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ผ่านร่างงบประมาณชั่วคราวขยายระยะเวลาไปจนถึง 11 มีนาคม จากเดิมที่จะมีงบประมาณเพียงพอไปจนถึง 18 กุมภาพันธ์ ลดความเสี่ยงต่อการ shut down ของภาครัฐ

ด้านยุโรป ลาการ์ดกล่าวว่าการขึ้นดอกเบี้ยที่เร็วเกิดไปจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอ่อนแอลง โดยเศรษฐกิจของยูโรโซนไม่สามารถเปรียบเทียบกับสหรัฐฯ และอังกฤษได้ และยังคงเชื่อมั่นว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวลดลงในปีนี้ แต่จะยังคงอยู่ในระดับสูงไปอีกหลายเดือน ทั้งนี้ ความตึงเครียดยูเครนรัสเซียมีแนวโน้มผ่อนคลายลง หลังจากเอมมานูเอล มาครอง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ระบุว่าวลาดิเมีย ปูตินเตรียมขนย้ายทหารออกจากเบลารุสที่ติดกับชายแดนยูเครน หากนาโต้ยอมรับข้อเรียกร้องของรัสเซีย

ด้านเศรษฐกิจจีน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการจีนสำรวจโดยไฉซินในเดือนมกราคมลดลงมาอยู่ที่ 51.4 จาก 53.1 ในเดือนธันวาคม แต่ยังคงอยู่เหนือคาดการณ์ที่ 50.5 และโดยรวมดัชนีผู้จัดการฝ่ายผลิตจีนในเดือนมกราคมยังคงอยู่ในฝั่งขยายตัวที่ 50.1 แม้จีนจะเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 และนโยบายภาครัฐในการจัดการกับโควิดที่ค่อนข้างเข้มงวด ประกอบกับประเด็นการผิดนัดชำระหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ มีแนวโน้มทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงในระยะนี้

เงินบาทปิดตลาดที่ 32.70 ในวันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2022 ณ เวลา 17.00 น.

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงถูกกดดันอย่างต่อเนื่อง โดยประเด็นสำคัญคือการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในเดือนมกราคมขยายตัว 7.5%YoY นับเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 40ปี ซึ่งสูงกว่าคาดการณ์และตัวเลขในเดือนก่อนหน้าที่ 7.3%YoY และ 7.0%YoY ตามลำดับ เมื่อตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่ตลาดตอบรับภายหลังจากการประกาศตัวเลขดังกล่าวคือการ price in จำนวนครั้งที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ให้สูงขึ้นไปด้วย โดยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 2ปี ปรับตัวขึ้นมากกว่า 28 bps จากต้นสัปดาห์ มาอยู่แถวบริเวณ 1.60% ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่แถว 2.00% ส่งผลให้ spread ระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2ปีกับ 10ปี (UST 2-10Y Spread) ปรับตัวลดลงมาอยู่แถวบริเวณ +40 bps หรือคิดเป็นการปรับตัวลดลงมากถึง 22 bps ส่วนทางฝั่งตลาดฟิวเจอร์ได้ price in โอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยตลอดทั้งปี 2022 จากจำนวน 4.5 ครั้งขึ้นมาอยู่ที่ 6.5 ครั้ง นอกจากนี้โอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 50 bps ในการประชุมเดือนมีนาคมได้ปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่ 67% โดยการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดจะเป็นปัจจัยกดดันธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจหลักให้ต้องมีการทบทวนการกำหนดนโยบายทางการเงินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ค่าเงินบาทไทย ติดตามรายงานการประชุมเฟด

ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยมีการปรับตัวสูงขึ้นตามปัจจัยจากตลาดโลก แต่ด้วยสภาพของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ยังคงต้องการแรงสนับสนุนจากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ทำให้การปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเป็นไปอย่างจำกัด โดยช่วงกลางสัปดาห์มีการประชุมนโยบายการเงินของไทยที่มีมติเป็นเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ตามที่ตลาดได้ความการณ์เอาไว้ ทั้งนี้ธปท. คาดการณ์เศรษฐกิจไทยกลับสู่ระดับก่อนเกิดโควิดในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า ทำให้เราคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะยังคงอยู่ในระดับต่ำไปอีกระยะหนึ่งและการเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างเร็วอาจเกิดขึ้นได้ในช่วงปลายปีหรือต้นปีหน้าเป็นต้นไป ขณะที่กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยมูลค่าสุทธิประมาณ 46,978 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 43,219 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 5,239 ล้านบาทและมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 1,480 ล้านบาท ส่งผลให้ ณ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.51% 0.72% 0.98% 1.46% 1.83% และ 2.11% ตามลำดับ

Thailand Web Stat