บทสนทนาของนักการทูต
โดย...ศุภมิตร ปิติพัฒน์
**************
เมื่อไม่นานมานี้ ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ จัดพิมพ์หนังสือ Thai Diplomacy: In Conversation with Tej Bunnag (2021) ออกมา หนังสือถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานการทูตของ คุณเตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย อดีตเอกอัครราชทูตไทย ประจำประเทศสหรัฐอเมริกา จากการสัมภาษณ์ของท่านทูต อนุสนธิ์ ชินวรรโณ ซึ่งครอบคลุมเรื่องราวไม่แต่เฉพาะงานการทูตที่ คุณเตช รับผิดชอบหรือมีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ยังนำคนอ่านเข้าไปสัมผัสเบื้องหลังการทำงานของนักการทูตและการดำเนินนโยบายต่างประเทศในช่วงเวลาสำคัญที่สุดช่วงหนึ่งของไทยในการตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงในการเมืองโลกทั้งในระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมหาอำนาจ และการเปลี่ยนแปลงในระดับภูมิภาคซึ่งเปลี่ยนจากพลวัตความขัดแย้งมาเป็นการสานสร้างความร่วมมือที่ยังต้องดำเนินต่อไป
ภาคผนวกในตอนท้าย คุณเตช ยังคัดบางเรื่องในเส้นทางการทำงานการทูตของท่านตั้งแต่เริ่มต้นจนเกษียณอายุราชการในตำแหน่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศออกมาเล่าอย่างน่าติดตาม และเมื่ออ่านมาถึงบทนี้แล้ว คนอ่านก็อยากเรียกร้องคุณเตชให้เขียนอัตชีวประวัติออกมาอย่าง The Education of Henry Adams บ้าง
คุณเตชไม่ได้เล่าอะไรไว้เกี่ยวกับการศึกษาที่ได้รับมาจากสถาบันการศึกษาอันเยี่ยมยอดที่อังกฤษ รวมทั้งด้านที่คุณเตชเป็นนักประวัติศาสตร์ คุณเตชเคยกล่าวไว้ในที่อื่นว่าสมัครใจค้นคว้างานประวัติศาสตร์แบบ “สมัครเล่น” เท่านั้น แต่แม้จะออกตัวไว้อย่างนั้น งานบรรยายประวัติศาสตร์ของคุณเตชหรือวิธีตีความจัดความหมายให้แก่เอกสารประวัติศาสตร์อย่างเอกสารเบอร์นีย์ บอกให้เราทราบว่า คุณเตช เห็นสยามประเทศไทยอย่างสัมพันธ์กับทุกส่วนในโลก และความสัมพันธ์ในโลกส่งผลต่อทั่วทั้งภูมิภาค ที่สยามประเทศไทยเป็นส่วนย่อยส่วนหนึ่งที่มีความหมายจากการพิจารณาความสัมพันธ์ที่มีกับส่วนใหญ่ทั้งหมด
งานการทูตเป็นงานที่ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต ถ้าจะตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้อีกแบบหนึ่งก็คือ The Education of Tej Bunnag จากบทสัมภาษณ์ ท่านทูตอนุสนธิ์เป็นคนเปิดประเด็นพาเราไปเห็นวิธีที่คุณเตชเรียนจากงานในหน้าที่ ทั้งที่เป็นงานประจำพื้นฐานและจากการปฏิบัติหน้าที่ที่มีรายละเอียดตรงหน้าในแต่ละครั้งเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม เรียนจากปัญหาใหม่ๆ หรือจากปัญหาเก่าที่หมุนเวียนเปลี่ยนมาในบริบทใหม่ เรียนจากมิตรและการรักษามิตรภาพ เรียนจากฝ่ายตรงข้ามที่หันมาเข้าใจกันได้ เรียกจากความแปลกแตกต่างอย่างคนที่รู้จักมองหาแง่ดีที่เป็นประโยชน์สำหรับความร่วมมือ เรียนจากการจัดการความขัดแย้งเพื่อเสนอการทูตให้เป็นทางเลือกและเป็นกลไกกระบวนการสำหรับดำเนินยุทธศาสตร์ที่ผสมใช้เครื่องมือนโยบายด้านอื่นๆ และเรียนจากแบบอย่างและตัวอย่างของคนรุ่นก่อน “our elders and betters” เรียนจากเพื่อนร่วมงานและผู้บังคับบัญชา เรียนจากความสำเร็จและไม่สำเร็จของการต่างประเทศไทย
การเรียนรู้ในเส้นทางของนักการทูตมีทั้งส่วนที่ลำบากและน่าเพลิดเพลิน ส่วนที่ยากและน่าประหลาดใจหรือตื่นเต้น ส่วนที่ส่งความเร่งด่วนเข้ามาดึงความสนใจ และส่วนสำคัญที่ถ้าหากมองข้ามไปหรือไม่ทันระวังก็อาจพลาดพลั้งในเวลาต่อไปได้ บรรยากาศของการเรียนรู้บางทีก็มีความตึงเครียดแฝงอยู่มาก ซึ่งบางเรื่องเมื่อมองย้อนกลับไปก็กลายเป็นเรื่องชวนขันก็มี กระทรวงการต่างประเทศไทยจะเคยตกอยู่ในบรรยากาศคล้ายๆ กับที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เจอกับ the Red Scare ในสมัย McCarthyism บ้างไหม คุณเตชไม่ได้เล่า แต่เล่าไว้ว่า ตอนที่คุณเตชได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องจีนทีแรกสุดนั้น ตอนนั้นห้องสมุดของกระทรวงการต่างประเทศมีหนังสือของประธานเหมาในพากย์ไทยอยู่เพียงเล่มเดียวเท่านั้น และถูกเก็บลับล้อคไว้ในตู้เฝ้าระวังอย่างเข้มแข็งแน่นหนา การจะได้อ่านหนังสือเล่มนี้ คนเป็นอธิบดีกรมการเมืองต้องพาคุณเตชไปขออนุญาตบรรณารักษ์เบิกออกมาจากตู้ด้วยตัวเองเลยทีเดียว เห็นคุณเตชเล่าอย่างนี้แล้ว นึกอยากทราบเหมือนกันว่า หนังสือต้นเหตุเล่มนั้นเป็นสรรนิพนธ์บทไหนของท่านประธาน
เนื้อหาบทสัมภาษณ์ในหนังสือหลายประเด็นยังควรขยายความต่อ ซึ่งถ้ามีใครคิดทำเชิงอรรถขยายให้แก่ประเด็นเหล่านั้นออกมาได้ กระทรวงการต่างประเทศไม่เพียงแต่จะได้งานเกี่ยวกับวิธีดำเนินการทูตเล่มใหญ่จากประสบการณ์ของนักการทูตไทย แต่ยังจะได้บทตอนสำคัญของการทูตไทยในการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติเข้าไปไว้ใน institutional memory สืบไป
ส่วนบทความนี้ขออนุญาตเปิดบันทึกสั้นๆ เก็บประเด็นที่ได้จากบทสัมภาษณ์คุณเตชมาเขียนขยายความตามความเข้าใจของตัวเองสักเรื่องหนึ่ง ท่านทูตอนุสนธิ์ถามคุณเตชโดยใช้ปัญหาข้อพิพาทเรื่องปราสาทพระวิหารคราวล่าสุดระหว่างไทยกับกัมพูชาเป็นตัวอย่างว่า ปัญหายากอย่างหนึ่งในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคือปัญหาการเผชิญกับแรงกดดันของกลุ่มพลังในการเมืองภายในที่กระทบต่อการทำงานและความน่าเชื่อถือของกระทรวงการต่างประเทศ ท่านทูตอนุสนธิ์ตั้งประเด็นว่า “What we said were facts were not accepted as facts. How should we deal with this kind of situation if it ever happens again?”
คุณเตชตอบอย่างน่าฟังและน่าคิดตามว่า การทำงานการทูตไม่อาจหลีกหนีจาก “reality” ได้ “reality” ที่คุณเตชกล่าวถึงนี้เป็น reality ที่เป็นคนละส่วนแต่ควรพิจารณาร่วมกันกับ fact เสมอ ถ้าเรื่องนั้นมีรายละเอียดทางหลักเกณฑ์ของกฎหมายระหว่างประเทศหรือมีคำตัดสินของศาลโลกอยู่แล้วอย่างไร หรือมีข้อตกลงระหว่างกันมีกลไกกระบวนการดูแลอยู่อย่างไร อย่างนั้นคือ fact แต่ประเด็นปัญหาใดๆ ก็ตาม มิได้มีแต่ fact หรือการสื่อสารกันระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ก็มิได้มีแต่การใช้และการฟังเหตุผลจากกันเพื่อมุ่งหาความจริงของเรื่องจาก fact ล้วน ๆ
คุณเตชบอกว่า เรื่องต่าง ๆ ที่ความขัดแย้งพาให้เกิดเป็นประเด็นขึ้นมาในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น หลายเรื่องมีอารมณ์ความรู้สึกท่วมท้นอยู่ในนั้น โดย “Emotions exacerbate the issues.” และนี่เป็นส่วนที่คนทำงานการต่างประเทศจะต้อง “move from fact” มาเผชิญกับ “reality” ว่าในสภาพความเป็นจริงมิได้มีแต่ความจริง หรือมีแต่ข้อเท็จจริงล้วน ๆ มิพักต้องพูดว่าความจริงยังมีหลายระดับ และข้อเท็จจริงใดๆ มิอาจกำหนดความหมายอะไรในตัวของมันได้เอง ยิ่งไปกว่านั้น กระทรวงการต่างประเทศมิได้ดำรงอยู่อย่างเป็น fact ของส่วนราชการที่รับผิดชอบการต่างประเทศ แต่ดำรงอยู่ใน reality ทางการเมืองของประเทศนั้นด้วย และเพราะเหตุนั้น คุณเตชจึงว่า “Unfortunately, we also have to face the reality that, in politics, the government or a minister may be unpopular with an important segment of the public.”
ถ้าคิดขยายต่อจากที่คุณเตชเสนอ โจทย์ใหญ่ของงานการทูตและการแก้ปัญหาระหว่างประเทศ จึงมิใช่เพียงการนำเสนอ fact แต่คือความสามารถในการจัดการกับ “ความเป็นจริง” ที่แต่ละฝ่ายส่งเข้ามาประกอบกันอยู่และปรากฏอยู่ในปัญหา ในสถานการณ์ ในเหตุการณ์ ที่ตั้งประเด็นขึ้นมาในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ “ความเป็นจริง” ที่ประกอบด้วยความหวังความปรารถนาของประเทศและผู้คน อีโก้หรือความรู้สึกโกรธเกลียดหรือหวาดกลัวต่อสิ่งที่เชื่อว่ากำลังสร้างผลกระทบต่อสถานะและความมั่นคงของตนและเข้ามาไล่ที่เหตุผลในการเร่งเร้าผลักดันการตอบสนองอันรุนแรง หลักนิยมทางทหารหรือแนวคิดกำกับยุทธศาสตร์ที่มีข้อผิดพลาดแต่พากันเชื่อว่าสามารถตอบโจทย์เป้าหมายที่ต้องการ มายาคติเกี่ยวกับตัวตนที่ใช้สร้างความเข้าใจรวมหมู่เกี่ยวกับความเป็นมาในอดีตและความมุ่งมั่นในอนาคต ที่เรียกร้องการอุทิศเสียสละอันจำเป็นในปัจจุบัน
คุณเตชเป็นนักการทูตโดยอาชีวปฏิญาณ และเป็นนักประวัติศาสตร์อย่างมีใจรักสมัครเข้ามาเรียน เมื่อคุณเตชเจอกับปัญหาจากหน้าที่การงานส่งเข้ามาให้ตอบโจทย์ วิธีตั้งต้นของคุณเตชคือตั้งต้นด้วยการศึกษาประวัติศาสตร์ ผลงานความคิดภูมิปัญญาของสังคมนั้น ศึกษาชีวประวัติ/อัตตชีวประวัติและความคิดของคนที่เป็นผู้นำประเทศ นั่นเป็นส่วนของ fact อันจำเป็นต้องทราบเป็นพื้นฐาน เหมือนกับที่ถ้าใครตอนนี้อยากทราบจุดกำเนิดและความเป็นมาของ Slavic Nations ที่ส่งผลต่อการก่อรูปความเข้าใจอดีตของรัสเซีย ยูเครน และเบลารุส ก็อาจติดตามได้ไม่ยากจากงานการค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ของ Serhii Plokhy (2006)
แต่เมื่อต้อง “move from fact to reality” อย่างที่คุณเตชต้องทำอยู่โดยตลอดเวลาในงานการทูต ก็จำเป็นต้องขยับจากงานวิชาการประวัติศาสตร์เข้าไปอ่านภูมิทัศน์ทางความคิดที่ทำงานปะทะกันอยู่ในสนาม reality ทางหนึ่งคือจากการอ่านงานการตีความหรืองานปรุงแต่งประวัติศาสตร์ อ่านประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างที่ถูกนำมาใช้ในการสร้างอัตลักษณ์ตัวตนรวมหมู่ การมองเห็นศัตรูและความเป็นอื่นที่ต้องหาทางต่อสู้ และอารมณ์ความรู้สึกที่ถูกปลุกเร้าขึ้นมาทั้งต่อรวมหมู่ของพวกตนและต่อฝ่ายตรงข้าม ในส่วนหลังนี้ ในกรณีของยูเครน-รัสเซีย คือการอ่านหาผลลัพธ์ต่อความคิดความเข้าใจของคนวงกว้างจากงานของ Mykhailo Hrushevsky ของ Alexander Dugin หรือของ Sergey Lavrov รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียปัจจุบัน
ส่วนการทูตจะเปลี่ยน reality ของความขัดแย้งระหว่างประเทศได้สำเร็จเพียงใด เป็นคำถามอีกชั้นหนึ่ง แต่จะไปถึงชั้นนั้นได้ ก็ต่อเมื่อการทูตได้รับโอกาสให้เป็นแนวทางหลักสำหรับการแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศ โดยการทหารต้องหลีกทางไปเป็นแต่เพียงเครื่องมือหนึ่งของการทูตเท่านั้น คุณเตชพูดถึงและให้ความสำคัญแก่โครงสร้างในกลไกและกระบวนการตัดสินใจด้านการต่างประเทศและความมั่นคง ส่วนที่น่าเศร้าก็คือ ผู้มีอำนาจและคุมอำนาจการตัดสินใจของประเทศมหาอำนาจในปัจจุบันรู้จักใช้เครื่องมือนี้ในการแก้ไขปัญหาและจัดการวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศร่วมกันน้อยลงทุกที
และเมื่อไม่เลือกใช้เครื่องมือทางการทูตอย่างเต็มศักยภาพที่จะใช้ได้ การเมืองระหว่างประเทศก็เต็มไปด้วย missed opportunities มากมาย และเมื่อเป็นเช่นนั้น คุณเตชบอกว่า ทุกฝ่ายก็ต้องหาทาง muddling through.