posttoday

ตำนานสุนทราภรณ์ (14)

12 เมษายน 2565

โดย...นายแพทย์วิชัย  โชควิวัฒน

******************************

ลักษณะบทเพลงของครูศรีสวัสดิ์ ที่รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส สรุปว่า “เหมือนบทกวี เล่นคำเยอะ ‘กรีดและคว้านอารมณ์’ ไม่มีใครแต่งได้อย่างครูศรีสวัสดิ์” ปรากฏในบทเพลงหลายเพลง เช่น เพลงปีศาจวสันต์ ที่ขึ้นต้นว่า “เราจากกัน วันนั้นยังจำ จากกันวันฝนพรมพรำ พรางม่านกรรม คล้ำครึ้มคลุมเวร ลมครางฝนครวญ ไพรสั่นซวน รวนระเนน ความกดดันขั้นเดน เหมือนจะเค้น ฆ่าตาย...” แน่นอนว่าเพลงนี้จับใจและประทับใจคนฟัง นอกจากเนื้อเพลงของครูศรีสวัสดิ์ แล้ว ทำนองเพลงของครูเอื้อ  และนักร้องคือบุษบา รังสี ก็มีส่วนสำคัญยิ่ง

เช่นเดียวกับ เพลงเหมันต์รัญจวน ที่ขึ้นต้นว่า “หวีดหวีดวอนวอนอ้อนออดโอยมา โอ้อนิจจาอ่อนอาลัย เหมันต์ครวญคลั่งฟังคล้ายเสียงใคร เสียงใครครวญใคร่ ร้องร่ำไปในสายลม...” ส่วน เพลงรักของเธอ ที่ขึ้นต้นว่า “พี่ยังร้องเพลงรักของเธอ พี่ยังเพ้อเพลงร้างของเรา เสียงเพ้อพร้องยังร่ำเรียกร้องคล้องเคล้า ครวญคร่ำค่ำเช้าครางเคล้าลม ...” เป็นเพลงผู้ชาย ครูเอื้อแต่งทำนอง และขับร้องเอง

ทุกเพลง “เหมือนบทกวี เล่นคำเยอะ ‘กรีดและคว้านอารมณ์’ ไม่มีใครแต่งได้อย่างครูศรีสวัสดิ์” จริงแท้

เพลงที่เล่นคำ กรีดและคว้านอารมณ์เช่นนี้ ย่อมเข้าใจยาก และ “ตามอารมณ์เพลง” ได้ยาก จำเป็นต้องได้ทวงทำนองที่นำพา และนักร้องที่เข้าถึงอารมณ์เพลงได้อยางลึกซึ้ง เพียงพอ จึงจะทำให้คนฟังเข้าใจ จับใจ  และประทับใจได้ แน่นอนว่าบุคคลที่สำคัญที่สุดที่จะเชื่อมประสานสิ่งเหล่านี้เข้าด้วยกันได้คือคนอย่างครูเอื้อ ดังครูศรีสวัสดิ์ได้ “ถอดหัวใจ” เล่าไว้เองว่า

“สามสิบปีแห่งดนตรีกาล อา มันช่างเป็นมหาอุปรากรชีวิตที่เกรียงไกร เกริกกราว และยาวนานอะไรเช่นนั้น ผมตายแล้วเกิดใหม่ ก็เห็นจะไม่มีปัญญามาอำนวยเพลง กำกับการดนตรีและควบคุมคนได้อย่างพี่เอื้อ มันเป็นสมรรถภาพ อัจฉริยภาพสัมพันธ์กันโดยแท้ ที่มีอยู่ในตัวพี่เอื้อ พิเศษไปจากคุณธรรม ความดี ... พี่เอื้อได้อบรมสั่งสอน และแนะนำผมอย่างกับเพลงจงทำดีนั่นทีเดียว พี่เอื้อเป็นคนดี พี่เคยทะเลาะมากับผมหลายหน ก็แน่ละ ผมคงจะเป็นคนไม่ค่อยดีนัก เพลงของผมมันไม่ดีเสียทุกเพลงไป พี่เอื้อจะให้ผมเขียนอย่างสุนทรภู่ ผมก็ดื้อ จะเขียนอย่างศรีปราชญ์ จึงเถียงกันบ่อย สำนึกแล้วพี่เอื้อก็จะให้ผมไปเขียนให้ดีมากๆ ขึ้นนั่นเอง คนที่บอกผมว่าอย่าไปโกรธเขาเลย ก็คือ สง่า อารัมภีร หรือพี่แจ๋วนั่นแหละ สามสิบปีแห่งดนตรีกาลของพี่เอื้อนั้น บรรเลงระเรื่อยรื่น ชื่นมื่นวิมานเมืองไทย พี่เอื้อเป็นคนวันเสาร์ที่แข็งแกร่ง ยืนหยัดกวัดคันชักไวโอลินคู่ชีพไฉไลตลอดกาล พี่เอื้อไม่เคยหยุดงาน พวกเรานักเขียนสองสามคน ดูจะเขียนไม่ทันพี่เอื้อที่แต่งทำนองออกมา ... วงดนตรีสุนทราภรณ์กำจรกำจายไพจิตรไปทุกทิศทุกทาง พวกเราชาวสุนทราภรณ์ได้แสวงหามาสร้างสรรค์ แล้วรักษาไว้ซึ่งอมฤตภาพของเพลงไทยสากล ในรูปลีลา จังหวะต่างๆ กันเป็นร้อยเป็นพันบท แม้ชีวิตจิตใจจะไม่รู้สึก วิญญาณของประชาชาติก็จะสำนึกว่า เราได้แสวงหามาสร้างสรรค์แล้วรักษาอะไรไว้ให้ ...” (เล่ม 7 น.10-12)

ครูศรีสวัสดิ์ไม่มีประวัติการเรียนทางด้านดนตรีโดยตรงอย่างครูเพลงหลายๆ คน แต่ “อาจเป็นเพราะครู  ศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ ได้มีโอกาสไปคลุกคลีอยู่กับเพื่อนรุ่นพี่ๆ ที่เป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์มาก่อนในช่วงนั้น จึงทำให้ครูศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ สนใจงานด้านการเขียน ไม่ว่าจะเป็นร้อยแก้วหรือ ร้อยกรอง และเนื่องจากเป็นผู้สนใจด้านภาษาทั้งไทยและอังกฤษ เพราะเรียนในสายอักษรศาสตร์ ... ครูศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ จึงมีผลงานด้านฉันทลักษณ์ โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ออกเผยแพร่ตามหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เป็นประจำนอกเหนือจากงานประจำที่ทำอยู่” (เล่ม 7 น.13)

ทั้งนี้เพราะ “มัธยมภาษาของสำนักเทพศิรินทร์นั้นคุณภาพคับแก้วมาตั้งแต่รุ่น ศรีบูรพา, ยาขอบ, มจ. อากาศดำเกิง โน่นแล้ว ...” (เล่ม 7 น. 15)

ความดื่มด่ำในบทกวีของศรีปราชญ์ ปรากฏชัดจากการเลือกใช้นามปากกา “ศรีเสาวลักษณ์” ซึ่งอยู่ในบทแรกๆ ของ “นิราศนรินทร์” ว่า

“โอ้ศรีเสาวลักษณ์  แลโลม โลกเอย

แม้ว่ามีกิ่งโพยม  ยื่นหล้า...”

นิราศนรินทร์ แต่งโดยนายนรินทร์ธิเบศ (อิน) กวียุคต้นรัตนโกสินทร์ มีบทชมกรุงในแนวคิดเดียวกับ กำสรวลศรีปราชญ์ หรือ กำสรวลสมุทร ฝีมือกวีสมัยอยุธยา ที่ใช้ภาษาเก่ากว่า ลึกกว่า แต่งดงาม อลังการ และเฉียบคม เทียบเทียมกัน ซึ่งครูศรีสวัสดิ์ชื่นชอบ และนำมาใช้ในบทเพลงของตน

เพลงเกี่ยวกับสถานที่ที่ครูศรีสวัสดิ์แต่งมีมากมาย รวมทั้งเพลงของสถาบันต่างๆ ที่โดดเด่นเข้าขั้นเป็น “เพลงอมตะ” เพลงหนึ่งคือ เพลงเพชรบุรีแดนใจ ที่ขึ้นต้นอย่างพริ้งพรายตามสไตล์ครูศรีสวัสดิ์ว่า “บุรีเอ๋ยบุรีรมย์เรือง โฉมเอยโฉมเมือง งามประเทืองเปลืองฝัน พริ้งพราวราวพรหมภินันท์ เพชรบุรีหลั่นลอยฟ้ามาสู่ดิน ...”  เพลงนี้ขับร้องบันทึกเสียงครั้งแรกโดยมัณฑนา โมรากุล หลังจากที่ลาออกจากกรมประชาสัมพันธ์ไปนานหลายปี และผู้แต่งทำนองก็คือครูเอื้อ

เมืองที่ครูศรีสวัสดิ์แต่งเพลงให้มากที่สุด คือ สามพราน โดยแต่งเป็นเพลงสถาบัน คือโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน รวม 4 เพลง ได้แก่ เพลงสามพราน (โอ้งามสามพรานปานเสกสรร เทพนิมิตปั้นแต่งไว้ เพื่อชีวิตพราวดาวสุกใส ระเริงไปในแดนฟ้า ....” เพลงสนสามพราน (โอ้สนสยิวยืนต้นโอนอ่อน โยกคลอนพลางถอนใจใหญ่ โอ้สนครางเหมือนกับคนเป็นไข้ สนเอยอาวรณ์ไหวคล้ายเรา...) เพลงลาแล้วสามพราน (ลาแล้วสามพราน ถิ่นสถานวิมานของข้า จำร้างจำไร้ไกลตา จากดินฟ้า สถาบันใจ ...) อีกเพลงหนึ่งเป็นเพลงสถานที่ คือ เพลงเยือนสามพราน (มาเยือนสามพรานแดนตระการดาลดื่มใจ ดังเทพนิมิตไว้แสนสดใสสล้างรมย์ ร่มกายร่มใจไปแม้เนาในแดดลม น่าชื่นชมสมเสพสุขสมรักภิรมย์หล้าฟ้า ...)

นอกจากนั้นมีเพลงของสถานที่และสถาบันต่างๆ มากมาย เช่น เพลงเพชรภูเก็ต (เฟื่องฝันขวัญตาอะร้าอร่าม เพชรภูเก็ตงามวาบวามท่ามกลางธาร...)  เพลงลาทีเพชรบูรณ์ (ลาทีเมืองศรีเมืองเรืองรื่นร่มเย็น ไม่ตายยังเป็นเห็นกันอีกนา ตาไกลเพชรบูรณ์พูนตา หัวใจจะมาใกล้ แดนไร่นาป่าเขา ...) เพลงอัมพวาพัฒนา (แดน อัมพวาโสภากว่าแดนใดไหน สมแดนฤดีที่อาศัย คุ้มใจกายเรา ชาวอัมพวาอยู่มาแต่คราเล็กเยาว์ ...) เพลงมาร์ชอุตรดิตถ์ (อุตรดิดถ์มิตรเราเริงเร้าฤดี ฝันไปในฟ้าเสรีที่มีตะวันจันทร์ฉาย...) เพลงอุทัยธานี (ศรีเอยศรีเมืองเรืองศรี ศรีอุทัยธานีโสภีพรายพร่าง ...) เพลงเกริกวิทยาลัย (เกริกวิทยาลัย เกรียงไกรเกรียงศักดิ์ศรีทนง....) เพลงบางแสนโสภา (หาดบางแสนแสนโสภา งามเอ๋ยงามตาน่าชม ...) เพลงประสานมิตร (วิทยาลัยไหนชื่อลือลั่น วิทยาลัยนั่นประสานมิตรเรา...) เพลงธรรมศาสตร์รักกัน (เพลงนี้เพลงเรา ธรรมศาสตร์พวกเราเจ้าของ ...) เพลงศิริราชขวัญ (ลาขอลาศิริราชขวัญ ลานิรันดร์ แต่นี้นับวันจะพลันไร้ร้าง...) ฯลฯ