ค่าเงินบาท ติดตามรายงานการประชุมเฟด
เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.80-34.70 ในสัปดาห์นี้ ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามคือรายงานการประชุมเฟด ภายหลังจากมีการขึ้นดอกเบี้ย 50bps ในช่วงต้นเดือน
คอลัม มันนี่วีก (Money…week) โดย...กฤติกา บุญสร้าง, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย
สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.80-34.70 ในสัปดาห์นี้ ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามคือรายงานการประชุมเฟด ภายหลังจากมีการขึ้นดอกเบี้ย 50bps ในช่วงต้นเดือน ท่ามกลางกระแสวิจารณ์ว่าเฟดดำเนินการช้ากว่าที่ควรจะเป็น ท่ามกลางเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากจีดีพีสหรัฐฯ ติดลบในไตรมาสแรก ความกังวลของตลาดมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปจากความเสี่ยงเงินเฟ้อ เป็นความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยแทน ประกอบกับเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ส่งสัญญาณผ่านจุดพีคไปแล้ว โดยในสัปดาห์นี้ จะมีการเปิดเผยดัชนีการบริโภคส่วนบุคคลของสหรัฐฯ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะยืนยันว่าเงินเฟ้อผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว
ด้านประเทศไทย จะมีการเปิดเผยตัวเลขส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัว 14.55%YoY ในเดือนเมษายน หลังจากจีดีพีในไตรมาสแรกดีกว่าคาด ความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ขึ้นอยู่กับการส่งออกและการท่องเที่ยว ที่ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทยมากกว่า 1 ล้านคนแล้ว
ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงวันที่ 16-20 พฤษภาคม 2022 เงินบาทแข็งค่าท่ามกลางเงินทุนไหลเข้าทั้งตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นไทย เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 2022 ขยายตัว 2.2%YoY หรือ 1.1%QoQ ฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 1.8%YoY เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นในเกือบทุกหมวด นอกจากนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้ปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงอีก ลิตรละ 5 บาท โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค.65 –20 ก.ค. 65 เพื่อช่วยลดปัญหาน้ำมันดีเซลราคาแพง ด้านผู้ว่าการ ธปท. ระบุไทยมีความเสี่ยงน้อยที่จะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวพร้อมเงินเฟ้อสูง (Stagflation) พร้อมยืนยันไทยไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยตามเฟด เนื่องจากใช้ค่าเงินแบบลอยตัว ไม่ใช่เป็นการผูกค่าเงินกับดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ การปรับนโยบายการเงิน ธปท. ยังคงพิจารณาจากเสถียรภาพด้านราคา เสถียรภาพการเงิน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นหลัก
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ตามความกังวลต่อภาวะถดถอยที่มากขึ้น ดัชนียอดค้าปลีกสหรัฐโต 0.9%MoM ในขณะที่ดัชนีการผลิตขยายตัว 1.1%MoM ในเดือนเมษายน การขอรับสวัสดิการว่างงานเพิ่มขึ้น 2.18 ครั้งในสัปดาห์ที่แล้ว สูงกว่าคาดการณ์ที่ 2 แสนครั้ง จากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 1.97 แสนครั้ง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสำรวจโดยมหาลัยมิชิแกนปรับลดลงเหลือ 59.1 จาก 65.2 ตามความกังวลต่อเงินเฟ้อและสถานการณ์เศรษฐกิจ สมาชิกเฟดยังคงออกมาส่งสัญญญาณสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ย 50bps ในการประชุมครั้งหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยประธานเฟด เจอโรม โพเวล ได้ออกมากล่าวว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยไปจนถึงจุดที่เงินเฟ้อปรับลดลงอย่างชัดเจน
สวีเดนและฟินแลนด์สมัครเข้าร่วมนาโต้อย่างเป็นทางการ ละทิ้งสถานะความเป็นกลาง ในขณะที่ตุรกีโหวตระงับการพิจารณาใบสมัครแบบเร่งด่วน ด้วยความกังวลว่าจะเป็นการเร่งให้เกิดการก่อการร้าย ในขณะที่สหรัฐฯ ระบุว่ารัสเซียลดเป้าหมายในสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนลง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ปัจจุบันยังคงมีความเสี่ยงจากการที่ปูตินกำลังเผชิญความยากลำบาก ทั้งจากข่าวลือการปฏิวัติในรัสเซีย และปัญหาสุขภาพของปูตินที่ระบุว่าเป็นมะเร็งและต้องผ่าตัด ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ปูตินตัดสินใจสุดโต่งได้ ด้านเศรษฐกิจรัสเซียขยายตัว 3.5%YoY ในไตรมาสแรกของปี น้อยกว่า 5.0%YoY ในไตรมาสก่อน ในขณะที่ความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของรัสเซียอยู่ที่ 90% ในปีนี้
เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัว 0.2%QoQ ในไตรมาสแรกของปี โดยการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนและการค้าที่ลดลงทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัว เงินเฟ้อญี่ปุ่นในเดือนเมษายนพุ่ง 2.5%YoY จาก 1.2%YoY ในเดือนมีนาคม ด้านเงินเฟ้อพื้นฐานพุ่ง 2.1%YoY จาก 0.8%YoY ในเดือนมีนาคม อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงมองญี่ปุ่นควรใช้นโยบายผ่อนคลายต่อเนื่อง โดยคุโรดะมองว่าญี่ปุ่นยังคงอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19 และยังไม่อยู่ในสถานการณ์ที่เงินเฟ้อจะไปถึง 2% อย่างยั่งยืน
เงินเฟ้ออังกฤษและแคนาดาพุ่งขึ้นเพิ่มความกังวลต่อเงินเฟ้อของทั้งสองประเทศ โดยเงินเฟ้ออังกฤษ ในเดือนเมษายนพุ่ง 9.0%YoY สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1982 จาก 7.0%YoY ในเดือนมีนาคม ในขณะที่เงินเฟ้อแคนาดาพุ่ง 6.8%YoY ในเดือนเมษายน สูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ 6.7%YoY ในขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยพุ่งขึ้นแตะระดับ 4.23% สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1990
เงินบาทปิดตลาดที่ 34.26 ในวันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม 2022 ณ เวลา 17.00 น.
ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ อายุ 10ปี ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่สองติดต่อกัน ปรับลงมาอยู่แถวระดับ 2.86% โดยประเด็นหลักที่ขับเคลื่อนตลาดเป็นการออกมาให้ความเห็นของคุณโพเวลว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยไปจนถึงจุดที่เงินเฟ้อปรับลดลงอย่างชัดเจน ซึ่งอัตราการว่างงานอาจจะไปอยู่ที่ระดับ 5% ประเด็นดังกล่าวทำให้ตลาดเริ่มกังวลถึงความเสี่ยงที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอย ประกอบกับการประกาศตัวเลขยอดขอรับสวัสดิการว่างงานที่เพิ่มขึ้น 2.18 ตำแหน่ง ซึ่งสูงกว่าคาดการณ์ที่ 2 แสนตำแหน่ง และสูงกว่าสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 1.97 แสนตำแหน่ง ทำให้มีแรงซื้อเข้ามาในพันธบัตรระยะยาว โดย spread ระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2ปีกับ 10ปี (UST 2-10Y Spread) ปรับตัวแคบลงมาอยู่แถวบริเวณ +23 bps จาก +31 bps ในช่วงต้นสัปดาห์ ทางฝั่งตัวเลข Fed Fund Future ตลาดได้ให้โอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 75bps ในการประชุมเดือนมิถุนายนลดลงมาเป็น 8% จาก 73% ในสัปดาห์ก่อนหน้า และโอกาสที่จะขึ้นดอกเบี้ย 50bps อยู่ที่ 92% ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับมุมมองของเฟดที่คาดว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย 50 bps ในการประชุมที่จะเกิดขึ้นใน 2 ครั้งถัดไป
ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวลดลงสอดคล้องกับตลาดโลก อย่างไรก็ตามมีอีกหนึ่งปัจจัยที่สนับสนุนการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลคือการออกมาให้ควมเห็นของผู้ว่าการ ธปท. ที่ระบุว่าไทยมีความเสี่ยงน้อยที่จะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวพร้อมเงินเฟ้อสูง (Stagflation) พร้อมยืนยันว่าไทยไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยตามเฟด ทำให้นักลงทุนคลาดความกังวลต่อการขึ้นดอกเบี้ยของ ธปท. ไปได้บ้าง ขณะที่กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้เป็นมูลค่าสุทธิประมาณ 12,600 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 10,607 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 1,993 ล้านบาทและไม่มีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ ส่งผลให้ ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.73% 1.73% 2.08% 2.39% 2.77% และ 3.12% ตามลำดับ