เบื้องหลังพฤษภาทมิฬ
โดย...ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์
************
หลายคนทั้งฝ่ายรัฐบาล ทหาร และประชาชน ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เรียกว่า “ พฤษภาทมิฬ” เสียชีวิตไปแล้วเพราะโรคภัยและความชรา ที่ยังมีชีวิตอยู่ก็แก่เฒ่าไปตาม ๆ กัน ครอบครัวของเหยื่อและคนรุ่นหลังที่รับรู้เรื่องราวจากบันทึกและคำบอกเล่าจะมาร่วมงานนี้ในทุก ๆ ปี และยกเป็นอุทาหรณ์ว่า ความรุนแรงและความสูญเสียเช่นนี้ไม่ควรเกิดขึ้นอีก
ครบรอบเหตุการณ์ “ พฤษภาทมิฬ “ ของทุกปีจะมีการทำพิธีทางศาสนาอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ที่สี่แยกคอกวัว เช่นเดียวกับปีนี้
ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของเหยื่อที่เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุการณ์นี้
เหตุร้ายทางการเมืองจนทำให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตเช่นนี้ เป็นบทเรียนที่ต้องไม่เกิดขึ้นอีก โดยเฉพาะพลเรือนผู้บริสุทธิ์ตกเป็นเหยื่อของการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองของผู้มีอำนาจและฝ่ายทหาร อีกทั้งพลเรือนต้องรู้ทัน
ย้อนกลับไปในช่วงวันเวลาดังกล่าว ภาพที่ปรากฎต่อสาธารณะรับรู้กันว่าเป็นการต่อสู้ของประชาชนกับรัฐบาลทหาร พล.อ.สุจินดา คราประยูร แต่รู้กันเป็นการภายในว่า เบื้องหลังเป็นการประลองกำลังกันระหว่างพี่น้องสองรุ่นที่กินข้าวกระทะเดียวกัน เคยร่วมกันสู้กับข้าศึกสัตรูทั้งนอกและในประเทศมาด้วยกัน พอบ้านเมืองสงบ ก็มีแย่งอำนาจกันเอง
พี่น้องเรียกกันว่า เป็นการทดลองกำลังเพื่อรักษาและแย่งชิงอำนาจระหว่างพี่น้อง ผลัดกันแพ้ชนะ คราวนี้ รุ่นพี่ซึ่งครองอำนาจขณะนั้นเป็นฝ่ายแพ้
หลายคนสงสัยว่าแล้วยกแรกล่ะเมื่อไร ก็เมื่อคราว “กบฏเมษาฮาวาย “ 1-3 เมษายน 2530 ที่รุ่นน้อง ยึดอำนาจจากนายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งยกต้น ๆ ทำท่าจะชนะ แต่มาถูกน็อกเอาต์ในยกหลัง เมื่อแพ้ก็กลายเป็น “กบฏ” ถูกปลดและติดคุกไปตาม ๆ กัน แต่ได้รับพระราชทานอภัยโทษและกลับเข้ารับราชการในอีกหลายปีต่อมา
ในช่วงนั้น รุ่นพี่ส่วนใหญ่เป็นฝ่ายเสนาธิการ ที่มีส่วนในการรักษาอำนาจของรัฐบาลไว้ได้ และค่อย ๆ ก้าวหน้าในหน้าที่ราชการมาเป็นลำดับ รวมทั้งช่วยปัองกันรัฐบาลเปรมให้พ้นจากความพยายามยึดอำนาจเมื่อ 9 กันยายน 2528 โดยหัวหน้ากบฏคนเดิม
รุ่นน้องมาเอาคืนเมื่อสามารถระดมประชาชนออกมาชุมนุมขับไล่รุ่นพี่ซึ่งขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการยึดอำนาจ ทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยออกมาประกาศว่าจะไม่เป็นนายกรัฐมนตรี จึงเป็นเงื่อนไขให้แกนนำรุ่นน้องนำไปปลุกระดมคนมาชุมนุมที่ถนนราชดำเนินกลางได้อย่างรวดเร็ว
ช่วงนั้นคนเพิ่งใช้โทรศัพท์มือถือเป็นครั้งแรก คนชั้นกลาง-สูง ที่มีโทรศัพท์มือถือโทรชักชวนเพื่อนฝูงให้ไปร่วมกันมาก ๆ นับว่าเป็นครั้งแรกที่มีการใช้สื่อสมัยใหม่ในการเรียกคนอย่างได้ผลมากและระดมได้เร็วที่สุดเท่าที่เคยปรากฎ
มีการปฏิบัติการยั่วยุโดยใช้จักรยานยนต์ที่มีความคล่องตัวสูง ซอกซอนไปตามตรอกซอยถนนแคบ ๆ ไปก่อกวนตามที่ต่าง ๆ ( เป็นครั้งแรกที่ฝ่ายความมั่นคงเริ่มตระหนักถึงบทบาทของรถจักรยานยนต์กับความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง คล้ายกับกรณีเทียนอันเหมินในจีน จนรัฐบาลจีนห้ามใช้รถจักรยานยนต์ในปักกิ่งในเวลาต่อมา ) มีการจี้รถบรรทุกน้ำมัน (ถังน้ำมันเปล่า ) ขับไปที่ถนนราชดำเนินกลางขู่ว่าจะขับพุ่งชนให้ถังน้ำมันระเบิดใส่ทหาร ขับรถโดยสารใช้อิฐหนักทับคันเร่งให้พุ่งชนทหารแล้วตัวเองกระโดดออก ทำให้ทหารยิงปืนใส่รถดังกล่าว
พอเสียงปืนดังขึ้นนัดแรก นัดต่อ ๆ ก็ตามมา ช่วงเวลานี้ที่มีคนบาดเจ็บล้มตาย ประชาชนตกเป็นเหยื่อตายและบาดเจ็บ
แต่พวกที่ยั่วยุให้ทหารยิงรู้วิธีในการสู้รบ การล่าถอย โดยไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ ฝ่ายต่อต้านประสบความสำเร็จในการล้มรัฐบาลได้ โดยมีชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์เป็นเหยื่อสังเวยชัยชนะ
คงมีคนตายและบาดเจ็บอีกหลายสิบหรือนับร้อยคน หากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในหลวงรัชกาลที่ 9 (ขณะนั้น) ไม่ลงมาแก้ปัญหาด้วยพระองค์เอง เพราะเวลานั้นไม่มีใคร ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ สามารถระงับเหตุการณ์นั้นได้แล้ว
ไคลแม็กซ์ของบทความนี้อยู่ตรงที่ประชาชนไทยทั่วประเทศได้เฝ้าดูนาทีประวัติศาสตร์ทางโทรทัศน์ เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้คู่ขัดแย้งสองฝ่าย เข้าเฝ้าและมีพระราชดำรัส ซึ่งถ่ายทอดให้คนไทยทั่วประเทศได้รับฟังด้วย
“ ช่วยกันคิด คือ หันหน้าเข้าหากัน ไม่ใช่เผชิญหน้ากัน เพราะว่าเป็นประเทศของเรา ไม่ใช่ประเทศของหนึ่งคนสองคน เป็นประเทศของทุกคน ต้องเข้าหากัน ไม่เผชิญหน้ากัน แก้ปัญหา เพราะว่าอันตรายมีอยู่ เวลาคนเราเกิดการบ้าเลือด ปฏิบัติการรุนแรงต่อกัน มันลืมตัว สุดท้ายก็ไม่รู้ว่าตีกันเพราะอะไร แล้วก็จะแก้ปัญหาอะไร เพียงแต่ว่าต้องเอาชนะ แล้วก็ใครจะชนะ ไม่มีทางชนะ มันอันตรายทั้งนั้น มีแต่แพ้ คือต่างคนต่างแพ้ ผู้ที่เผชิญหน้าก็แพ้ แล้วที่แพ้ที่สุดก็คือประเทศชาติ ประชาชน จะเป็นประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่ประชาชนเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ถ้าสมมติว่า กรุงเทพมหานครเสียหาย ประเทศก็เสียหายไปทั้งหมด แล้วจะมีประโยชน์อะไรที่จะทะนงตัวว่าชนะ เวลาอยู่บนกองซากปรักพัง..........."( ความตอนหนึ่งจากพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศวร์ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานเมื่อ 20 พฤษภาคม 2530 )
พระมหากษัตริย์ไทยไม่มีอำนาจไปสั่งให้ใครทำอะไรได้ตามอำเภอใจ พระองค์ท่านจะเข้ามาก็ต่อเมื่อชาติบ้านเมืองอยู่ในภาวะวิกฤติซึ่งองค์กรที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญไม่อาจแก้ไขปัญหาได้ ซึ่งก็เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญระบุไว้
ไทยเผชิญกับวิกฤตของชาติหลายครั้ง บางครั้งมีการสูญเสียชีวิต แต่บางครั้งแม้ไม่มีการสูญเสียชีวิต แต่เป็นวิกฤติที่รุนแรงกว่า เพราะเป็นวิกฤติโครงสร้างอำนาจที่อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร เกิดการเสียสมดุล และคืบคลานเข้าสู่อำนาจตุลาการ
ก็ได้แต่หวังว่า เหตุการณ์แบบ “พฤษภาทมิฬ” คงไม่เกิดขึ้นอีก และทุกฝ่ายควรร่วมมือกันไม่ให้เกิดวิกฤติที่สุดดังที่เคยเป็นมาและพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศวร์เคยมีพระราชดำรัสว่าบ้านเมืองวิกฤติที่สุดในโลกมาแล้ว
*****************