บริษัทจัดปีใหม่ระวัง แจกของขวัญฟรี แต่ภาษีอาจถามหา

14 ธันวาคม 2565

เชื่อว่าหลายบริษัทกำลังเตรียมจัดงานสังสรรค์ให้กับพนักงานในองค์กร ทั้งเลี้ยงอาหาร จ้างวงดนตรีมาเล่นในงานเลี้ยง และจับฉลากแจกของรางวัลของขวัญปีใหม่ รางวัลเล็กใหญ่ เรียกว่าพนักงานได้ของขวัญฟรี ติดไม้ติดมือกลับบ้านกันทุกคน แต่ไม่คาดคิดว่าภาษีอาจจะถามหาในภายหลัง

     เข้าช่วงเทศกาลรื่นเริงอย่างปีใหม่กันแล้ว เชื่อว่าหลายบริษัทกำลังเตรียมจัดงานสังสรรค์ให้กับพนักงานในองค์กร ทั้งเลี้ยงอาหาร จ้างวงดนตรีมาเล่นในงานเลี้ยง และที่ขาดไม่ได้คือจับฉลากแจกของรางวัลของขวัญปีใหม่ รางวัลเล็กรางวัลใหญ่ เรียกว่าพนักงานได้ของขวัญฟรีๆ ติดไม้ติดมือกลับบ้านกันทุกคน

     แต่ที่อาจมองข้ามคือ กิจการต้องไม่ลืมวางแผนภาษีในส่วนของของขวัญ ของรางวัล และกระเช้าปีใหม่ที่นิยมให้ลูกค้ากันแบบฟรีๆ เหล่านี้ด้วย ไม่เช่นนั้นอาจโดนภาษีถามหาถึงที่อย่างแน่นอน เพราะเนื่องจากของขวัญ หรือแม้แต่กระเช้าปีใหม่ที่กิจการนำมาให้กับพนักงานและลูกค้า มีมูลค่าแตกต่างกัน และมีเงื่อนไขการเสียภาษีไม่เหมือนกัน ซึ่งมีทั้งได้ยกเว้นภาษีและแบบที่ต้องเสียภาษี รวมถึงสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้ต่างกันด้วย

     ดังนั้น ทั้งในมุมของกิจการและพนักงานที่ได้รับของขวัญ จะต้องจัดการภาษีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับของขวัญปีใหม่นี้ต่างกัน ดังรายละเอียดต่อไปนี้

ภาษีของขวัญปีใหม่ที่บริษัทให้พนักงานฟรี 

     รูปแบบของขวัญปีใหม่ ที่กิจการมักนิยมนำมาจับฉลากแจกให้กับพนักงานในวันปีใหม่ ส่วนใหญ่จะมีทั้งที่เป็นสินค้าและเงินรางวัล ซึ่งหากกิจการมีการกำหนดไว้ว่าเป็นสวัสดิการแก่พนักงานอยู่แล้ว จะถือว่าเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการให้แก่พนักงานทุกคน โดยไม่ได้เลือกปฏิบัติ เพื่อเป็นการสร้างความสามัคคีในองค์กร และเพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการทำงานของพนักงาน  

     หากเป็นไปตามเงื่อนไขข้างต้น กิจการสามารถนำรายจ่ายเหล่านี้มาใช้สิทธิ์ทางภาษีได้ โดยให้คำนึงถึงหลักกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งแบ่งเป็นส่วนของกิจการและพนักงานที่ได้รับของขวัญปีใหม่ ดังนี้
 

 

เงื่อนไขฝั่งนายจ้าง

     1.ภาษีเงินได้นิติบุคคล สามารถนำมาเป็นรายจ่ายได้ไม่ถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม

     2.ภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถแบ่งเป็น 2 ประเด็น คือ

          2.1 ภาษีซื้อ กรณีที่กิจการได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภาษีซื้อของขวัญจับฉลากปีใหม่ถือเป็นภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการขายสินค้า หรือให้บริการของกิจการโดยตรง ลักษณะนี้ไม่ถือเป็นภาษีซื้อต้องห้าม สามารถนำมาคำนวณหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ หรือเครดิตภาษีขาย รวมถึงสามารถขอคืนภาษีซื้อได้ แต่ส่วนใหญ่จะนิยมเครดิตภาษีขายมากกว่า

          2.2 ภาษีขาย เมื่อกิจการให้ของขวัญปีใหม่กับพนักงาน ลักษณะนี้จะถือเป็นการขายสินค้า กิจการต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีขาย) และนำส่งภาษีขายภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป แต่ไม่ต้องทำใบกำกับภาษี

     ทั้งนี้ ถ้าหากให้เป็นเงินหรือบัตรกำนัล จะได้ยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

     3.ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามกฎหมายกำหนดว่า กิจการจำเป็นต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายจากพนักงาน เมื่อพนักงานได้รับของขวัญปีใหม่ ซึ่งปกติกิจการจะเป็นผู้ออกค่าภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้กับพนักงานอยู่แล้ว ถ้ากิจการมีสัญญาว่าจะออกค่าภาษีให้ แต่ถ้าหากกิจการไม่มีสัญญาว่าจะออกให้ จะถือเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม 

เงื่อนไขฝั่งลูกจ้าง

     สำหรับเงื่อนไขทางฝั่งของพนักงานที่ได้ของขวัญของรางวัลนั้น จะเกี่ยวข้องกับภาษีบุคคลธรรมดา ซึ่งของขวัญปีใหม่ที่พนักงานได้รับจากการจับฉลากปีใหม่ เมื่อจับได้จะถือเป็นประโยชน์เพิ่มของพนักงาน เป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน

     จึงถือเป็นเงินได้พึงประเมินมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร พนักงานผู้ได้รับจะต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตอนสิ้นปีด้วย

 

ภาษีของขวัญปีใหม่ที่บริษัทให้ให้ลูกค้าฟรี

     ตามธรรมเนียมปฏิบัติที่ทำต่อๆ กันมาทุกปี สำหรับบริษัทและลูกค้า รวมถึงพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ คือจะต้องมีการนำกระเช้าของขวัญหรือของชำร่วยไปสวัสดีปีใหม่ มอบให้กับลูกค้าและพาร์ทเนอร์ผู้ให้การสนับสนุนกันมาตลอดทั้งปี ซึ่งของขวัญที่นำไปมอบให้นั้น สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ดังนี้

     1.ภาษีเงินได้นิติบุคคล กฎหมายกำหนดว่ากระเช้าของขวัญหรือของชำร่วยที่ให้แก่ลูกค้า ถือเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม แต่สามารถทำให้เป็นรายจ่ายทางภาษีได้ โดยต้องทำเป็นค่ารับรองตามหลักเกณฑ์ที่สรรพากรกำหนดคือ    
     - เป็นการให้ของขวัญ หรือรายจ่ายตามธรรมเนียมประเพณีทางธุรกิจทั่วไป หรือเทศกาลสำคัญต่างๆ
     - เป็นการจ่ายรับรองให้กับบุคคลภายนอก
     - ได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจ และมีหลักฐานการจ่ายอย่างถูกต้อง
     - ค่าสิ่งของที่กิจการสามารถนำค่าใช้จ่ายไปหักเป็นรายจ่ายทางภาษีได้ ถ้าเป็นสิ่งของราคาต้องไม่เกิน 2,000 บาท ต่อชิ้น (รวม VAT) และเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 0.3% ของยอดรายได้ ยอดขาย หรือทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว ขึ้นอยู่กับว่ายอดไหนมากที่สุด และต้องไม่เกิน 10 ล้านบาท

     2.ภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถแบ่งเป็น 2 ประเด็น คือ

     2.1 ภาษีซื้อ ของขวัญสวัสดีปีใหม่หรือของชำร่วยที่กิจการมอบให้ลูกค้า พาร์ทเนอร์ จัดเป็นภาษีซื้อต้องห้าม เนื่องจากกฎหมายถือเป็นค่ารับรอง จึงไม่สามารถนำมาหักออกจากภาษีขายได้ แต่สามารถนำไปหักเป็นรายจ่ายค่ารับรองได้   
    2.2 ภาษีขาย ถ้ากิจการนำของขวัญหรือของชำร่วยไปมอบให้ลูกค้า พาร์ทเนอร์เพื่อสวัสดีปีใหม่ ตามขนบธรรมเนียมประเพณี ถือเป็นการขายในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องนำมูลค่าของขวัญ ของชำร่วยดังกล่าวไปเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมออกใบกำกับภาษีด้วย  
ยกเว้นแต่ว่าของขวัญหรือของชำร่วยเหล่านี้ เข้าเงื่อนไขเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งประกอบด้วย
     - ต้องเป็นของขวัญหรือของชำร่วยที่เป็นสินค้าจำพวกปฏิทิน สมุดบันทึกประจำวัน (Diary) หรือสินค้าที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน โดยมีชื่อของผู้ประกอบการ ชื่อการค้าหรือเครื่องหมายการค้าของผู้ประกอบการปรากฏอยู่
     - มูลค่าของขวัญหรือของชำร่วยที่มอบให้ลูกค้า พาร์ทเนอร์ จะต้องมีราคาไม่สูงเกินไป แต่ถ้าหากกิจการอยากมอบของขวัญที่มีราคาสูงให้แก่ลูกค้า ก็สามารถทำได้แต่ต้องเสียภาษีมูลเพิ่มด้วย

     3.ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ของขวัญหรือของชำร่วยที่กิจการมอบให้แก่ลูกค้า เพื่อสวัสดีปีใหม่ตามประเพณี ถือว่าเป็นการขายสินค้า กิจการไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 

แนวทางประหยัดภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับของขวัญปีใหม่แจกฟรี

     จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ภาษีที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมากคือเรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งกิจการสามารถวางแผนแนวทางการประหยัดภาษีมูลค่าเพิ่มได้ โดยให้กิจการเลือกรางวัลจับฉลากปีใหม่ เป็นเงินหรือบัตรกำนัลกับพนักงานแทนของขวัญ เนื่องจากเงินไม่ถือเป็นสินค้า จึงไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 

     ส่วนของขวัญหรือของชำร่วยที่มอบให้กับลูกค้า กิจการต้องเลือกราคาหรือมูลค่าของขวัญที่ไม่สูงเกินไป เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มนั่นเอง

Source: by Inflow Accounting

Thailand Web Stat