ธุรกิจร้านอาหารจัดการภาษีอย่างไรให้ลงตัว
ร้านอาหารต้องรู้เรื่องของ “ภาษี” ถือว่าเป็นทักษะสำคัญที่ควรทำความเข้าใจ และหากเจ้าของธุรกิจเข้าใจแล้วก็สามารถจะจัดการเรื่องภาษีได้ง่ายขึ้น โดยธุรกิจร้านอาหารมีโครงสร้างไม่ซับซ้อนมากนัก แต่ผู้ประกอบการต้องมีการวางแผนที่ชัดเจนเป็นระบบ
โดยในปัจจุบันลูกค้ามักนิยมรับประทานอาหารนอกบ้านเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศและต้องการความสะดวกสบายเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นร้านอาหารขนาดใหญ่มีพื้นที่ให้ลูกค้าได้นั่งรับประทาน ถือเป็นธุรกิจที่มีความมั่นคงทีเดียว และทำให้มีรายได้เข้ามาตลอด
และจากรายได้นี้เองทางเจ้าของธุรกิจก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามกฎหมายด้วยเช่นกัน การเปิดร้านอาหารขนาดใหญ่หรือกิจการที่ต้องการขยายสาขา อาจควรพิจารณาการทำธุรกิจในรูปแบบบริษัท ซึ่งประหยัดภาษีได้มากกว่า ซึ่งข้อมูลและรายละเอียดมีอะไรบ้างมาค้นหาคำตอบไปด้วยกันเลย
เปิดร้านอาหารในนามนิติบุคคลต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
การเปิดร้านอาหารที่ผู้ประกอบการต้องการทำธุรกิจในนาม "นิติบุคคล" ซึ่งสิ่งที่ต้องทำประกอบด้วยการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ซึ่งส่วนใหญ่จะนิยมจดอยู่ 2 ประเภท คือ บริษัทจำกัด กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ซึ่งผู้ประกอบการร้านอาหารจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยหุ้นส่วนบริษัทดังนี้
- ให้ผู้เริ่มจัดตั้งบริษัท จัดทำหนังสือบริคณห์สนธิ กำหนดทุนจดทะเบียน และหาผู้ร่วมทุนเข้ามาซื้อหุ้นบริษัท
- กำหนดมูลค่าหุ้น และผู้ถือหุ้นสามารถจัดสรรกันเองได้ว่า ผู้ถือหุ้นจะถือหุ้นคนละจำนวนเท่าไร
- ผู้ถือหุ้นทั้งหมดทำการเลือกกรรมการหนึ่งคน หรืออาจจะหลายคนก็ได้ ให้เข้ามาบริหารจัดการร้านอาหาร ซึ่งทั้งหมดจะต้องจดแจ้งไว้ในรายการที่จดทะเบียน และ
- ผู้ประกอบการต้องระบุวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับการจำหน่ายอาหาร หรือธุรกิจร้านอาหารในหนังสือรับรองนิติบุคคล
ทั้งนี้ ร้านอาหารที่ขอจดทะเบียนนิติบุคคล หากอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สามารถยื่นขอจดทะเบียนได้ที่ สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลาง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ หรือสำนักงานทะเบียนพาณิชย์เขต และถ้าอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดสามารถยื่นขอจดทะเบียนได้ที่ สำนักงานทะเบียนพาณิชย์จังหวัด
โดยมีเอกสารที่ต้องใช้ยื่นขอจดทะเบียนนิติบุคคลคือ
- ชุดคำขอจดทะเบียน ที่แสดงรายชื่อผู้ถือ ชื่อบริษัท รายชื่อกรรมการ วัตถุประสงค์ และข้อมูลอื่นๆในการจัดตั้งบริษัท (สามารถดาวน์โหลด หรือดูตัวอย่างการกรอกข้อมูลจากเว็บไซต์ของกรมพัฒน์ได้ ที่นี่
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน
- สำเนาทะเบียนบ้านของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน
- แผนที่แสดงที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่และสถานที่สำคัญบริเวณใกล้เคียงโดยสังเขป
- หนังสือมอบอำนาจ (กรณีที่เจ้าของไม่ได้ไปยื่นจดทะเบียนด้วยตัวเอง) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ (ถ้ามี)
หลังจากจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเป็นนิติบุคคลแล้ว การดำเนินการจะต้องผ่านกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ภายใต้วัตถุประสงค์ของบริษัทที่ได้กำหนดไว้ในรายการจดทะเบียน
เมื่อผู้ประกอบการร้านอาหารได้จดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคลแล้ว กำไรที่เกิดขึ้นจะถูกนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งมีหลักการ (สำหรับกิจการที่มีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี และมีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท จะได้รับสิทธิภาษีอัตราของ SME) ดังนี้
กำไร 300,000 บาทแรก ได้รับยกเว้นภาษี
กำไร 300,001 – 3 ล้าน ต้องเสียภาษี 15%
และกำไรมากกว่า 3 ล้านบาทขึ้นไป ต้องเสียภาษี 20%
โดยสามารถยื่นแบบชำระภาษีปีละ 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 ยื่นแบบชำระภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.51) โดยต้องยื่นและชำระภาษีภายใน 2 เดือนนับจากวันสุดท้ายของ 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี ครั้งที่ 2 ยื่นแบบชำระภาษีสิ้นปี (ภ.ง.ด.50) โดยต้องยื่นแบบและชำระภาษีภายใน 150 วันนับจากวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี
ร้านอาหารขนาดใหญ่กับการเสียภาษีอื่นๆ ที่ควรรู้
นอกจากข้อมูลเบื้องต้นที่กล่าวไปแล้วนั้น การเปิดร้านอาหารขนาดใหญ่ ยังต้องทราบถึงภาษีอื่นๆ ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย คือ
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ประกอบการร้านอาหารมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT 7%) ภายใน 30 วัน และต้องทำการยื่นภาษีแบบ ภ.พ.30 ภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน
- ภาษีป้าย ในกรณีที่ร้านอาหารมีการติดป้ายชื่อร้าน ยี่ห้อ เครื่องหมายการค้า หรือการโฆษณาร้าน จะต้องเสียภาษีตาม พ.ร.บ.ภาษีป้าย พ.ศ.2510 โดยเก็บภาษีตามลักษณะป้าย ดังนี้
- ป้ายที่มีอักษรภาษาไทยล้วน อัตราภาษีป้ายทั่วไป 5 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.และป้ายแบบข้อความเคลื่อนที่/เปลี่ยนได้ 10 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
- ป้ายที่มีอักษรภาษาไทยปนภาษาต่างประเทศ และ/หรือปนกับภาพ และ/หรือเครื่องหมายอื่นอัตราภาษีป้ายทั่วไป 26 บาท ต่อ 500 ตร.ซม. และป้ายแบบข้อความเคลื่อนที่/เปลี่ยนได้ 52 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
- ป้ายที่ไม่มีอักษรไทยไม่ว่าจะมีภาพหรือเครื่องหมายใดๆ หรือไม่ และป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วน หรือทั้งหมดอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ อัตราภาษีป้ายทั่วไป 50 บาท ต่อ 500 ตร.ซม. และป้ายแบบข้อความเคลื่อนที่/เปลี่ยนได้ 52 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
- ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สำหรับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ต้องพิจารณาก่อนว่าพื้นที่ร้านอาหารเป็นของผู้ประกอบการเองหรือเช่า ในกรณีที่เช่าจะต้องทำการตกลงให้ชัดเจนกับเจ้าของพื้นที่ว่าภาษีในส่วนนี้ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ
ทั้งนี้ อัตราภาษีที่ต้องเสียหากเป็นที่ดินจะใช้การประเมินทุนทรัพย์สิน และสิ่งปลูกสร้างจะใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์สิ่งปลูกสร้าง ดังนี้
มูลค่า 0-50 ล้านบาท อัตราภาษี 0.30%
มูลค่า > 50 – 200 ล้านบาท อัตราภาษี 0.40%
มูลค่า > 200 – 1,000 ล้านบาท อัตราภาษี 0.50%
มูลค่า > 1,000 – 5,000 ล้านบาท อัตราภาษี 0.60%
มูลค่า > 5,000 ล้านบาท อัตราภาษี 0.70%
บทสรุป...ภาษีที่เกี่ยวข้องกับร้านอาหารในนามนิติบุคคล
บทสรุปส่งท้าย ร้านอาหารขนาดใหญ่ที่เปิดในนามนิติบุคคลจะมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ ซึ่งจะเห็นได้จากขั้นตอนการจัดเตรียมเอกสาร และในเรื่องภาษีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีป้าย ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ดังที่กล่าวไว้แล้วด้านบน
นอกจากนี้ผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดใหญ่ต้องมองถึงด้านการตลาดด้วย ดังนั้นการขยายฐานลูกค้าในพื้นที่ใกล้เคียงควรจัดทำโปรโมชั่นร่วมด้วย เพื่อเพิ่มยอดขายและความมั่นคงให้กับทางร้าน
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมได้ที่ Inflow Account