posttoday

กฎหมายและภาษีที่ผู้ผลิต-จำหน่ายกัญชาต้องรู้

06 เมษายน 2566

การเปิดเสรีกัญชาให้เป็นสิ่งถูกกฎหมาย เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ หากใครกำลังคิดที่จะทำธุรกิจเกี่ยวกับกัญชา ควรศึกษาแนวทางการทำธุรกิจประเภทนี้ โดยเฉพาะการยื่นภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมายกำหนด

          การเปิดเสรีกัญชาให้เป็นสิ่งถูกกฎหมาย เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ หากใครกำลังคิดที่จะทำธุรกิจเกี่ยวกับกัญชา ควรศึกษาแนวทางการทำธุรกิจประเภทนี้ โดยเฉพาะการยื่นภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมายกำหนด  อย่างเช่น การขออนุญาตปลูกกัญชา การนำกัญชามาปรุงอาหาร โดยกฎหมายได้อนุญาตให้บุคคล 4 กลุ่ม ที่สามารถปลูกกัญชาได้แต่ต้องขออนุญาตก่อน คือ หน่วยงานของรัฐ  ผู้ประกอบวิชาชีพทางด้านการแพทย์ สถาบันอุดมศึกษา และอาชีพเกษตรกรรม  

          ดังนั้น การเปิดเสรีกัญชา เพื่อใช้ประโยชน์ก็ยังมีการควบคุมการผลิตและจำหน่ายอยู่ ซึ่งใครที่กำลังหันมาทำธุรกิจกัญชา จะต้องศึกษาแนวทางการทำธุรกิจประเภทนี้ให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดดังนี้ 

ข้อยกเว้นกฎหมายสำคัญในการใช้กัญชา

1.สามารถผลิต นำเข้า หรือส่งออก

         ในกรณีจำเป็นเพื่อใช้ประโยชน์ของทางราชการ ทาง การแพทย์ การรักษาผู้ป่วย หรือเพื่อการศึกษาวิจัยและพัฒนา ทั้งนี้ให้รวมถึงการเกษตรกรรม พาณิชกรรม วิทยาศาสตร์ หรืออุตสาหกรรม ซึ่งต้องได้รับการอนุญาตจากผู้อนุญาต รวมทั้งในกรณีที่นำติดตัวเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรไม่เกินปริมาณที่จำเป็นต่อการใช้รักษาโรคเฉพาะตัว โดยต้องมีใบสั่งยาหรือหนังสือรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ซึ่งเป็นผู้ให้การรักษา

          2.สามารถครอบครองกัญชาได้

          กรณีการมีไว้ในครอบครองไม่เกินปริมาณที่จำเป็นต่อการใช้รักษาโรคเฉพาะตัว โดยต้องมีใบสั่งยาหรือหนังสือรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ซึ่งเป็นผู้ให้การรักษา ทั้งนี้ผู้ประกอบการวิชาชีพการแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้านให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการก่อนนำกัญชามาใช้ต้องขออนุญาตก่อน

          ถ้าเกษตรกรจะทำการปลูกกัญชาเพื่อการเกษตรกรรม จะมีข้อกำหนดว่าต้องรวมตัวกันอยู่ในรูปของวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือสหกรณ์การเกษตร ซึ่งจดทะเบียนอย่างถูกต้อง และดำเนินการภายใต้ความร่วมมือและกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐ วัตถุประสงค์เพื่อปลูกกัญชาโดยเฉพาะ และได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อน จึงจะสามารถปลูกได้ ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้

 

  1.ยื่นคำขอและเอกสาร ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ณ สถานที่ปลูกตั้งอยู่

          2.ตรวจประเมินสถานที่ขออนุญาตปลูกกัญชา

          3.นำเรื่องเข้าที่ประชุมในส่วนงานต่างๆ ของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาใบคำขอ

          4.ออกใบอนุญาต

          โดยการขออนุญาตปลูกกัญชานี้ ผู้ขออนุญาตต้องมีความชัดเจนว่าจะปลูกจำนวนเท่าไร และจะนำผลผลิตดังกล่าวไปขายให้ใคร โดยต้องกำหนดผู้รับซื้อที่ชัดเจนอีกด้วย สำหรับร้านอาหารที่ต้องการซื้อส่วนประกอบของกัญชามาใช้ในการปรุงอาหาร จะต้องซื้อจากแหล่งปลูก ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย และร้านอาหารไม่ต้องทำหนังสือขออนุญาต แต่ควรติดป้ายแนะนำหรือกำหนดอายุของลูกค้าที่จะมาใช้บริการของทางร้านตามแต่ความเหมาะสม

ส่วนของกัญชาที่ถูกและผิดกฎหมาย…ใช้ให้ถูกจุด

          ในส่วนของกัญชาที่ได้ผลิต ไม่ว่าจะเป็นการปลูกหรือสกัด โดยผู้ได้รับอนุญาตตาม มาตรา 26/5 แห่งพ.ร.บ.ฯ ที่จัดเป็นสารเสพติดให้โทษและไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษ สามารถแบ่งออกได้ดังนี้

          1.ส่วนของกัญชาที่จัดเป็นสารเสพติดให้โทษ คือ เมล็ด และช่อดอก

          2.ส่วนของกัญชาที่ไม่จัดว่าเป็นสารเสพติดให้โทษ คือ เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ราก ใบ (ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย) สารสกัดที่มีสารแคนนาบิไดออล (CBD) เป็นส่วนประกอบและต้องมี สารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก และกากหรือเศษที่เหลือจากการสกัดกัญชาและต้องมีสารสกัดเตตราไฮโดร แคนนาบินอล (THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก

ภาษีกัญชาที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและจำหน่าย

          ปัจจุบันภาษีเกี่ยวกับกัญชายังไม่มีกฎหมายออกมาอย่างชัดเจน แต่ตามหลักการภาษีสรรพากร หากมีรายได้จากการจำหน่ายกัญชา กัญชา ทั้งแบบสดและแปรรูป จะต้องเสียภาษีตามลักษณะดังนี้

          1.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เมื่อมีรายได้จากการจำหน่ายกัญชา ทั้งแบบสดและการแปรรูปจัดอยู่เงินได้พึงประเมินมาตรา 40(8) บุคคลธรรมดาเหล่านี้จะต้องนำรายได้ทั้งหมดมารวมเพื่อคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งหากเกิน 150,000 บาท จะต้องเสียภาษีตามอัตราภาษีก้าวหน้าสูงสุด 35% 

          2.ภาษีเงินได้นิติบุคคล เจ้าของธุรกิจขายกัญชาไม่ว่าจะเป็นทั้งแบบสดและการแปรรูป ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ต้องยื่นแบบชำระภาษีต่อกรมสรรพากรปีละ 2 ครั้ง คือ ภาษีเงินได้ครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ภายใน 2 เดือนนับตั้งแต่วันครบ 6 เดือนของรอบระยะเวลาบัญชี และภาษีเงินได้สิ้นรอบระยะเวลาบัญชี ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ภายใน 150 วัน นับตั้งแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี 

          3.ภาษีมูลค่าเพิ่ม กฎหมายได้กำหนดว่า การจำหน่ายพืชผลทางการเกษตรไม่ว่าจะเป็นลำต้น กิ่ง ใบ เปลือกหน่อ ราก เหง้า ดอก หัว ฝัก เมล็ด หรือส่วนอื่นๆ ของพืช และวัตถุพลอยได้จากพืช ที่ได้แปรรูปหรือแปรสภาพเป็นอาหารหรือสินค้าจะไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

          ข้อยกเว้น : หากเป็นการจำหน่ายพืชผลทางการเกษตรไม่ว่าจะเป็น ลำต้น กิ่ง ใบ เปลือก หน่อ ราก เหง้า ดอก หัว ฝัก เมล็ด หรือส่วนอื่นๆ ของพืช และวัตถุพลอยได้จากพืช ที่ไม่ได้แปรรูปตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

กล่าวโดยสรุป หากนำกัญชามาใช้ให้ถูกวัตถุประสงค์ กัญชาจะเป็นพืชที่มีประโยชน์มากโดยเฉพาะทางด้านการแพทย์ แต่อย่างไรก็ตามการปลูกหรือนำมาใช้ ก็ยังต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลและควบคุมของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ไม่ประสงค์ดีนำกัญชามาใช้ในทางที่ก่อโทษมากกว่าประโยชน์

 

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ Inflow Accounting