ทำความรู้จักคนรุ่นใหม่รักบ้านเกิด จังหวัดสุพรรณบุรี
ทำความรู้จักคนรุ่นใหม่รักบ้านเกิด จังหวัดสุพรรณบุรี จากโครงการ The Smart City Ambassadors รุ่นที่ 2 กับเป้าหมายในการพัฒนาสุพรรณบุรีสู่เมืองอัจฉริยะ
วันนี้ผมจะพาผู้อ่านทุกท่านมาทำความรู้จักกับน้องเยาวชนจาก โครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2 (The Smart City Ambassadors: SCA Gen 2) จังหวัดสุพรรณบุรีครับ
เจมส์ - ธนะรัชต์ จินดารัตน์ คนสุพรรณที่เกิดและเติบโตในเมืองที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ วัฒนธรรม และประเพณี สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตสุพรรณบุรี คณะศึกษาศาสตร์ เอกพลศึกษา ปัจจุบันรับบทบาทใหม่ในการเป็น SCA ประจำสำนักงานจังหวัดสุพรรณบุรี
เจมส์ บอกว่า สุพรรณบุรีถือเป็นจังหวัดที่มีความโดดเด่นในภาคเกษตรกรรม และการเลี้ยงสัตว์น้ำ นอกจากนี้ยังเป็นจังหวัดที่มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย อาทิ วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร บึงฉวาก รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร เช่น ผาพุเตย ที่สามารถดูพระอาทิตย์ขึ้นและทะเลหมอกได้ แต่สุพรรณบุรีก็ยังมีปัญหาและความท้าทายในการพัฒนาเมือง
เนื่องจากเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มและมีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่าน เมื่อฝนตกหนักจึงเกิดอุทกภัยทุกครั้ง สาเหตุหลักมาจากการระบายน้ำไม่ทัน เพราะสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่มีลักษณะลุ่มต่ำ อีกทั้งมีขยะอุดตันตามท่อระบายน้ำ ซึ่งเกิดจากการที่คนในพื้นที่ทิ้งขยะไม่เป็นที่และขาดความรู้ในการกำจัดหรือคัดแยกขยะ
นอกจากนี้ยังมีปัญหาการจราจร เช่น บางพื้นที่ไม่มีไฟส่องสว่างส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน รวมถึงการทำผิดกฎจราจร และปัญหาด้านเศรษฐกิจปากท้องของคนในพื้นที่ แม้สุพรรณบุรีจะมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย แต่บางสถานที่ยังไม่เป็นที่รู้จักและไม่ได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยว ดังนั้นจะทำอย่างไรเพื่อเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยว และก่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชนมากขึ้น
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาของเมือง ในส่วนของปัญหาน้ำท่วมแบ่งได้เป็นสองสาเหตุคือ สาเหตุจากสภาพทางภูมิศาสตร์และขยะอุดตัน ในเบื้องต้นที่สามารถดำเนินการแก้ไขได้ทันทีคือ ปัญหาขยะอุดตัน โดยการสร้างสื่อประชาสัมพันธ์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการกำจัดขยะหรือเศษอาหารอย่างถูกวิธี พร้อมเผยแพร่บน Social Media ต่าง ๆ ของจังหวัดและผู้นำชุมชน เพื่อสื่อสารให้ประชาชนเห็นถึงปัญหาของการทิ้งขยะไม่เป็นที่ อันจะส่งผลกระทบภาพใหญ่กับจังหวัดและความเป็นอยู่ของประชาชนทุกคน
ส่วนด้านภูมิศาสตร์จะนำเทคโนโลยีมาใช้เก็บข้อมูลพื้นที่และตรวจวัดคาดการณ์ แจ้งเตือนปริมาณน้ำฝนและปริมาณน้ำในแม่น้ำเพื่อป้องกันความสูญเสีย หากน้ำขึ้นสูงถึงระดับที่กำหนดจะมีการแจ้งเตือนผ่านแอปพลิเคชันของจังหวัดเพื่อให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือได้ทันเวลา
ด้านความปลอดภัยจะมีการติดตั้ง CCTV ตามจุดต่าง ๆ เพื่อบันทึกเหตุการณ์ สอดส่อง และเฝ้าระวังเหตุร้าย เชื่อมต่อกับระบบตรวจจับใบหน้าอาชญากร ก่อนแจ้งเจ้าหน้าที่และส่วนงานที่เกี่ยวข้องได้ทันท่วงที อีกทั้งขจัดจุดอับสายตา เพิ่มไฟส่องสว่างให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ พร้อมนำอุปกรณ์ IoT มาใช้ดูแลและบริหารจัดการให้อุปกรณ์อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานเสมอโดยไม่ต้องรอประชาชนร้องเรียน
ขณะที่ด้านการท่องเที่ยว ทางจังหวัดมีการนำสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็น Landmark มาไว้ในเว็บไซต์ เที่ยวทิพย์ (www.teawtrip.com) พร้อมอัปเดตสถานที่เที่ยวใหม่ ๆ อยู่เสมอ และในอนาคตจะมีการพัฒนาแอปพลิเคชันที่สามารถสะสมแต้มจากการใช้จ่ายร้านค้าตามสถานที่ท่องเที่ยวภายในจังหวัด เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน
นอกจากนี้ยังมีการสร้างสื่อประชาสัมพันธ์ให้สถานที่ท่องเที่ยว เช่น เว็บไซต์ และรีวิวสถานที่ท่องเที่ยวผ่านสื่อสังคมออนไลน์ สร้างแพลตฟอร์มวางแผนท่องเที่ยว (Tour Management Platform) โดยเชื่อมโยงฐานข้อมูลเอเจนซีทัวร์ โรงแรม และการเดินทางเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อเอื้อให้นักท่องเที่ยวสามารถออกแบบการท่องเที่ยวของตนเองแบบ Multi-stops
ทั้งหมดคือเป้าหมายสำคัญของการเข้าร่วมโครงการฯ และเป็นสิ่งที่ เจมส์ อยากเห็น เพื่อรอยยิ้มของประชาชนที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
โดย : ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)