posttoday

เปิดร้านขายของชำ ต้องเสียภาษีอะไรบ้าง?

26 เมษายน 2566

ในยุคปัจจุบันเจ้าของร้านชำต้องคำนึงถึงในเรื่องภาษี ที่เจ้าของร้านอาจจะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวจึงมองข้ามผ่านไป แต่จริงๆ แล้วเรื่องภาษีเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก บางทีเจ้าของร้านอาจจะโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลังก็เป็นได้

     ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันร้านขายของชำผุดขึ้นทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด ซึ่งสมัยก่อนการเปิดร้านขายของชำจะไม่มีความพิถีพิถันมากนักจะเป็นการซื้อมาขายไป 

     แต่ในยุค Digital มีการเปลี่ยนแปลงไปไม่ใช่แค่เรื่องซื้อมาขายไปเท่านั้น เจ้าของร้านชำยังต้องคำนึงถึงในเรื่องภาษี ที่เจ้าของร้านอาจจะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวจึงมองข้ามผ่านไป แต่จริงๆ แล้วเรื่องภาษีเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก บางทีเจ้าของร้านอาจจะโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลังก็เป็นได้

     ถึงแม้ว่าเจ้าของร้านชำจะเป็นเพียงบุคคลธรรมดาที่เปิดร้านขายของชำเล็กๆ ไม่ได้มีการจดทะเบียนเป็นบริษัทก็ตาม เมื่อมีรายได้สุทธิถึงเกณฑ์ที่กำหนด ก็จำเป็นต้องเสียภาษีด้วยกันทั้งสิ้น แล้วเจ้าของร้านชำต้องรู้เกี่ยวกับภาษีอะไรบ้าง ลองมาค้นหาคำตอบได้ดังนี้

เปิดร้านขายของแบบบ้านๆ รายได้เท่าไรต้องเสียภาษี

     ตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีได้กำหนดไว้ว่า เมื่อผู้มีรายได้ที่ไม่ใช่ค่าจ้างหรือเงินเดือน มีเฉพาะเงินประเภทอื่น เช่น เงินจากการขายของ หากเกิน 60,000 บาท จะต้องยื่นภาษี แต่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี แต่หากรายได้สุทธิหลังจากหักค่าลดหย่อนต่างๆ แล้วเกิน 150,000 บาท จะต้องเสียภาษี โดยการเสียภาษีจะแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ 

     1. แบบเหมา 60% (เป็นการเลือกหักต้นทุน) วิธีนี้ไม่จำเป็นต้องทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายเพื่อยื่นภาษี และไม่ต้องเก็บเอกสารประกอบเพื่อใช้ยื่นภาษี เพราะไม่ต้องพิสูจน์รายได้ ซึ่งเหมาะกับเจ้าของร้านขายของชำที่มีต้นทุนน้อยกว่า 60% และมีกำไรมากถึง 40%

     2. แบบหักค่าใช้จ่ายตามจริง จะเหมาะกับเจ้าของร้านขายของชำที่มีต้นทุนสูง และมีกำไรน้อยกว่า 40% โดยจะต้องทำบันทึกรายรับ-รายจ่ายและกำไรทุกเดือน เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการคำนวณยื่นภาษี และต้องเก็บเอกสารทุกใบที่มีข้อมูลระบุชัดเจนและถูกต้องตามที่กรมสรรพากรกำหนดให้ครบ 

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

     เมื่อเจ้าของร้านชำไม่ได้มีการจดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคล จะต้องมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งปกติแล้วเจ้าของร้านชำจะมีการทำรายรับ-รายจ่ายเป็นประจำอยู่แล้ว ดังนั้นให้นำข้อมูลดังกล่าวไปยื่นกรมสรรพากร ตามมาตรา 40(8) และนำมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามสูตร คือ (รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย จากนั้นนำมาเปรียบเทียบกับอัตราภาษีก้าวหน้าตั้งแต่ 5 - 35% 

     และให้ยื่นเสียภาษี 2 ช่วง ดังนี้  ครั้งแรก ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 ช่วงเดือนกันยายนสำหรับเงินได้ตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน ส่วนครั้งที่ 2 ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ช่วงเดือนมกราคม - มีนาคมของปีถัดไปสำหรับเงินได้ตลอดทั้งปี (เดือนมกราคม - ธันวาคม) แล้วนำภาษีที่จ่ายครั้งแรกมาหักออกจากภาษีที่คำนวณได้ในครั้งที่ 2

ภาษีเงินได้นิติบุคคล

     เมื่อกิจการค้าขายกำลังเติบโตขยายขึ้น เจ้าของร้านขายของชำเริ่มอยากจดทะเบียนในรูปแบบบริษัท ดังนั้นภาษีที่เข้ามาเกี่ยวข้องจะเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งเป็นภาษีที่คำนวณจากกำไรสุทธิ โดยมีวิธีการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลคือ (รายได้ – ค่าใช้จ่าย) = กำไรสุทธิ จากนั้นนำกำไรสุทธิที่ได้มาเปรียบเทียบอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 20%
ทั้งนี้ เจ้าของร้านขายของชำมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีนิติบุคคล 2 รอบ ซึ่งประกอบด้วย ภ.ง.ด.50 และ ภ.ง.ด.51 ลักษณะการเสียภาษีต่างกัน คือ ภ.ง.ด.51 สำหรับครึ่งปีแรก โดยต้องยื่นและชำระภาษีภายใน 2 เดือนนับจากวันสุดท้ายของ 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี 
และ ภ.ง.ด.50 สำหรับรอบสิ้นปี โดยต้องยื่นแบบและชำระภาษีภายใน 150 วัน นับจากวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี

รายได้ถึงเกณฑ์ต้องยื่นภาษีมูลค่าเพิ่ม

     สำหรับร้านขายของชำที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จำเป็นต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภายใน 30 วัน หลังจากมียอดขายเกิน 1.8 ล้านบาท และนำยอดขายในแต่ละเดือน ยื่นแบบ ภ.พ.30 ทุกเดือน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป หากยื่นออนไลน์สามารถยื่นได้อีก 8 วัน คือภายในวันที่ 23 ของทุกเดือน
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย 

     หากร้านขายของชำในนามนิติบุคคลมีการว่าจ้างพนักงาน หรือมีการเช่าสถานที่เพื่อเปิดกิจการ ก็ต้องมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ เช่น หากร้านขายของชำมีการจ่ายเงินเดือนหรือโบนัสให้แก่พนักงาน ทางร้านจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ โดยนำส่งด้วยแบบ ภ.ง.ด.3 หรือ ภ.ง.ด. 53 แก่กรมสรรพากร ภายในวันที่ 7ของเดือนถัดไป 
นอกจากนี้ถ้าทางเจ้าของร้านขายของชำในนามนิติบุคคลมีการเช่าสถานที่เพื่อใช้ประกอบกิจการ เมื่อจ่ายค่าเช่าแล้ว จำเป็นต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ด้วยเช่นกัน

     กล่าวโดยสรุป เมื่อเจ้าของร้านขายของชำมีความรู้ทางด้านภาษีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นภาษีบุคคลธรรมดา ภาษีนิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีหัก ณ ที่จ่าย ซึ่งเป็นภาษีหลักๆ ที่เจ้าของร้านขายของชำต้องได้พบเจอแน่นอน 

     รวมถึงถ้ากิจการร้านขายของชำเริ่มมีรายได้สูงขึ้น ต้องหันมาใส่ใจเรื่องการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ทำให้ทราบยอดรายได้ที่แท้จริง เพื่อยื่นภาษีได้อย่างถูกต้อง และจะทำให้ทราบว่ารายได้กำลังจะเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีหรือยัง ถึงเวลาต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วหรือไม่

     นอกจากนี้ ในกรณีที่ร้านขายของชำมีกำไรมากกว่า 60% ควรเลือกหักแบบเหมา ก็ไม่จำเป็นต้องทำรายรับ-รายจ่ายเพื่อยื่นภาษีได้ ส่วนร้านขายของชำที่มีต้นทุนสูง กำไรน้อยกว่า 40% ให้เลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริง โดยเก็บเอกสารทุกใบไว้ให้ครบ   

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ Inflow Accounting