กิจการจด VAT ดู “ใบกำกับภาษี” ให้ดี ลักษณะไหนใช้ทางภาษีได้
กิจการต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการออก “ใบกำกับภาษี” โดยทั้งฝั่งผู้ซื้อ และฝั่งกิจการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้อย่างถูกต้องถูกกฎหมาย
ในปัจจุบันต้องยอมรับว่า ในทุกๆ กิจการต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการออก “ใบกำกับภาษี” โดยทั้งฝั่งผู้ซื้อ และฝั่งกิจการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ต้องคอยตรวจสอบรายละเอียดสำคัญที่อยู่ในใบกำกับภาษี เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้อย่างถูกต้องถูกกฎหมาย
ดังนั้น เชื่อว่าต้องมีกิจการจำนวนไม่น้อย ที่พบปัญหาเกี่ยวกับการซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ เวลาผู้ขายออกใบกำกับภาษีให้ แต่ผู้ซื้อลืมไม่ได้ขอใบกำกับภาษีมา หรือขอมาแล้วแต่เป็นใบกำกับภาษีผิดรูปแบบก็ไม่สามารถนำมาเบิกได้ เพราะถือเป็นใบกำกับภาษีปลอม เมื่อพบจุดผิดพลาดให้รีบแก้ไขจะได้ทันเวลา โดยสามารถศึกษาข้อมูลได้ดังนี้
มาทำความรู้จักกับ “ใบกำกับภาษี”
ใบกำกับภาษี หมายถึง เอกสารหลักฐานที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีหน้าที่จัดทำและออกให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการทุกครั้งที่ขายสินค้าหรือให้บริการ และต้องจัดทำในทันทีเมื่อการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น เพื่อแสดงมูลค่าของสินค้าหรือบริการ
นอกจากนี้ จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการเรียกเก็บจากการขายสินค้าหรือให้บริการในแต่ละครั้ง เว้นแต่ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ขายสินค้าชนิดและประเภทเดียวกันให้แก่ผู้ซื้อสินค้ารายหนึ่งรายใดเป็นจำนวนหลายครั้งในหนึ่งวันทำการ ผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าว สามารถจัดทำใบกำกับภาษีรวมเพียงครั้งเดียวในหนึ่งวันทำการสำหรับผู้ซื้อสินค้ารายนั้นก็ได้
ข้อมูลในใบกำกับภาษีที่ถูกต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง
ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยทั่วไป มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือบริการ เว้นเสียแต่ผู้ประกอบกิจการค้าปลีกที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งมีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ รายละเอียดในใบกำกับภาษีมีความจำเป็นต่อการนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีเป็นอย่างมาก เนื่องจากกฎหมายได้กำหนดรายละเอียดที่จำเป็นต้องมีในใบกำกับภาษีไว้ หากมีไม่ครบตามที่กำหนด จะถือว่าเป็นใบกำกับภาษีปลอม ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้
โดยใบกำกับภาษีแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ใบกำกับภาษีอย่างย่อ และใบกำกับภาษีอย่างย่อที่ออกโดยเครื่องบันทึกการเก็บเงิน ซึ่งในใบกำกับภาษีทั้ง 3 ประเภทต้องมีละเอียดดังต่อไปนี้
1.ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ต้องมีข้อความดังนี้
- คำว่า “ใบกำกับภาษี” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
- ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียน ที่ออกใบกำกับภาษี และในกรณีที่ตัวแทนเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน ตามมาตรา 86 วรรคสี่ หรือมาตรา 86/2 หรือผู้ทอดตลาดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน ตามมาตรา 86/3 ให้ระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร ของตัวแทนนั้นด้วย
- ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
- หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)
- ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ
- จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกจากมูลค่าของสินค้า และบริการให้ชัดเจน
- วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
- ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด
2.ใบกำกับภาษีแบบย่อ เฉพาะผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ประกอบกิจการค้าปลีก ต้องมีข้อความดังนี้
- คำว่า “ใบกำกับภาษีอย่างย่อ” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
- ชื่อ หรือชื่อย่อ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี
- หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)
- ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ
- ราคาสินค้าหรือราคาค่าบริการ โดยต้องมีข้อความระบุชัดเจนว่าได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว
- วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
- ข้อความอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
3.ใบกำกับภาษีอย่างย่อที่ออกโดยเครื่องบันทึกการเก็บเงิน มีรายละเอียดดังนี้
กิจการที่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อที่ออกโดยเครื่องบันทึกการเก็บเงิน ประกอบด้วย กิจการที่เป็นการขายสินค้าในลักษณะขายปลีก เป็นการขายให้แก่ผู้บริโภคโดยตรงเพื่อนำไปบริโภคหรือใช้สอย โดยไม่ได้มีวัตถุประสงค์นำไปขายต่อ เช่น ร้านขายยา ร้านขายของชำ ห้างสรรพสินค้า
และกิจการให้บริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก เช่น กิจการภัตตาคาร กิจการโรงแรม ซ่อมแซมทุกชนิด ซึ่งประสงค์จะใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงิน เพื่อการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ ให้ยื่นคำขออนุมัติต่ออธิบดีกรมสรรพากร พร้อมทั้งต้องมีข้อความดังนี้
- คำว่า “ใบกำกับภาษีอย่างย่อ” หรือคำว่า “TAX INV (ABB)” หรือคำว่า “TAX INVOICE (ABB)”
- ชื่อ หรือชื่อย่อ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร ของผู้ประกอบการจดทะเบียน
- วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
- หมายเลขลำดับใบกำกับภาษี
- ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ
- ราคาสินค้าหรือค่าบริการ โดยระบุข้อความชัดเจน “รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว” หรือ VAT INCLUDED
- เลขรหัสประจำเครื่องบันทึกการเก็บเงิน
กล่าวโดยสรุป ปัญหาในทางปฏิบัติที่พบมากที่สุดในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ ปัญหาเกี่ยวกับใบกำกับภาษี โดยเฉพาะใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปที่เป็นหลักฐานในการนำส่งหรือขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งผู้ประกอบการยังปฏิบัติไม่ถูกต้อง เช่น ผู้ขายหลีกเลี่ยงหรือออกใบกำกับภาษีไม่ถูกต้อง ปลอมแปลง ออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิ หรือผู้ซื้อนำใบกำกับภาษีที่ไม่ถูกต้องมาขอคืนภาษี เป็นต้น
ซึ่งไม่สามารถใช้ประโยชน์ทางภาษีได้ ไม่ว่าจะเป็นนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัท ขอคืนภาษีซื้อ หรือเครดิตภาษีได้ และต้องรับผิดเบี้ยปรับตามมาตรา 89(7) นำใบกำกับภาษีปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนมาใช้ในการคำนวณภาษี จะต้องเสียเบี้ยปรับอีก 2 เท่า ของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษีนั้น
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ Inflow Accounting