ปล่อยเช่าพื้นที่ มีภาษีค่าเช่าอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง
ปัจจุบันการบริหารจัดการพื้นที่ใช้สอยในอาคารสถานที่ต่างๆ ได้รับความนิยมในเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารเป็นอย่างมาก นอกจากนี้เมื่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองพื้นที่ภายในสถานที่ต่างๆ เมื่อมีรายได้จากการปล่อยเช่าแล้ว ก็จะมีความเกี่ยวข้องกับภาษีค่าเช่าพ่วงมาด้วยเสมอ
ปัจจุบันการบริหารจัดการพื้นที่ใช้สอยภายในอาคารสถานที่ต่างๆ หรือการสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า ได้รับความนิยมในเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารเป็นอย่างมาก พื้นที่ภายในอาคารจะถูกแบ่งประเภทเป็นสำนักงาน ร้านค้า และที่อยู่อาศัยอย่างชัดเจน โดยเจ้าของหรือผู้ครอบครองจะจัดวางร้านค้า หรือสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เช่าอาคาร ทำให้พื้นที่ภายในอาคารได้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างรายได้ให้กับเจ้าของหรือผู้ครอบครองอย่างต่อเนื่องยาวนาน
นอกจากนี้เมื่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองพื้นที่ภายในสถานที่ต่างๆ รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ เมื่อมีรายได้จากการปล่อยเช่าแล้ว ก็จะมีความเกี่ยวข้องกับภาษีค่าเช่าพ่วงมาด้วยเสมอ แล้วภาษีค่าเช่ามีรายละเอียดอย่างไรบ้าง ลองมาติดตามดูกันเลย
ภาษีค่าเช่า คืออะไร
ภาษีค่าเช่า คือ เงินที่ต้องจ่ายให้กับเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ตนเองเช่าอยู่ การจ่ายภาษีค่าเช่าสำหรับที่อยู่อาศัยจะเป็นไปตามอัตราภาษีที่ผู้ให้เช่าได้กำหนดไว้ ซึ่งการจ่ายภาษีค่าเช่าสำหรับที่พักอาศัยจะถูกนำเข้าในหมวดรายได้เมื่อยื่นภาษีเงินได้
นอกจากนี้การจ่ายภาษีค่าเช่าจะต้องชำระในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่า ซึ่งอาจจะเป็นการชำระเป็นรายเดือนหรือรายปีตามข้อตกลงระหว่างผู้ให้เช่าและผู้เช่า
ภาษีค่าเช่า กับการหักค่าใช้จ่าย
ผู้มีอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า เช่น บ้าน อาคาร ตึก โรงงาน เป็นต้น จัดอยู่ในประเภทเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5 หรือภาษีค่าเช่าตามมาตรา 40(5) ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินจากการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยทรัพย์สินหรืออสังหาริมทรัพย์ และรวมถึงรายได้ที่เกิดจากการผิดสัญญาเช่าของผู้เช่าหรือผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อน
ด้วยภาษีการเช่าประเภทนี้ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ค่าใช้จ่ายหักได้ขึ้นอยู่กับประเภทของอสังหาริมทรัพย์ที่เช่า ดังนี้
1.บ้าน อาคาร ตึก โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง สามารหักค่าใช้จ่ายได้ 30% หรือหักตามจริง
2.ที่ดินสำหรับใช้ทำการเกษตร หักค่าใช้จ่ายได้ 20% หรือหักตามจริง
3.ที่ดินที่ไม่ใช้ทำการเกษตร หักค่าใช้จ่ายได้ 15% หรือหักตามจริง
4.ค่าเช่ายานพาหนะ หักแบบเหมา 30% หรือหักตามจริง
5.ค่าเช่าทรัพย์สินอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ หักแบบเหมา 10% หรือหักตามจริง
อย่างไรก็ตาม หากเจ้าของธุรกิจจำเป็นต้องเช่าพื้นที่สำหรับธุรกิจการค้าของตนเอง ผู้เช่ามีหน้าที่ชำระค่าเช่า แต่ภาระในการชำระค่าเช่าเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะเป็นความรับผิดชอบของผู้ให้เช่า โดยหักค่าใช้จ่าย 30% หรือหักค่าใช้จ่ายตามจริง
ภาษีค่าเช่า สำหรับธุรกิจให้เช่าพื้นที่มีอะไรบ้าง
เจ้าของหรือผู้ครอบครองพื้นที่ให้เช่าจะมีภาระภาษีที่เกี่ยวข้องหลายชนิด แต่ละชนิดมีรายละเอียดในการจัดเก็บจากหน่วยงานของรัฐที่จัดเก็บและอาศัยหลักกฎหมายที่แตกต่างกัน เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น ผู้เสียภาษีจึงต้องดำเนินการให้ถูกต้องและทันตามกำหนดเวลา เพื่อป้องกันการเกิดเบี้ยปรับที่เกิดจากการคำนวณภาษีที่ต้องนำส่งไม่ถูกต้อง ซึ่งภาษีค่าเช่าสำหรับธุรกิจปล่อยเช่าอาคารสถานที่มีรายละเอียด ดังนี้
1.ภาษีเงินได้ กรณีผู้ให้เช่าเป็นบุคคลธรรมดา เงินได้จากการให้เช่าอาคารสถานที่ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(5) คือ เงินที่ให้เช่าทรัพย์สิน เงินค่าเช่าที่ได้รับดังกล่าวจะต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย หากผู้ให้เช่าเป็นนิติบุคคล เงินที่ได้รับจากการให้เช่าจะต้องนำมาคำนวณในกำไรขาดทุนสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้ด้วย ตามมาตรา 65 ทวิ และ 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
2.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เงินที่ได้จากการให้เช่าอาคาร ตึก โรงเรือน ฯลฯ ถือเป็นค่าเช่ารายปีจากทรัพย์สินในปีหนึ่งๆ ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่กรมที่ดินท้องถิ่นทุกปีด้วย ซึ่งภาษีที่ต้องเสียจะคำนวณจากราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากกรมธนารักษ์
3.ภาษีมูลค่าเพิ่ม การให้บริการเช่าอสังหาริมทรัพย์ อาคาร ตึก โรงเรือน ฯลฯ โดยได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ในการปฏิบัติผู้ประกอบธุรกิจมักจะให้บริการอื่นๆ รวมไปถึงการให้บริการสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ และการให้บริการรักษาความปลอดภัย รวมทั้งการให้เช่าเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ซึ่งบริการเหล่านี้ไม่ใช่การให้บริการในธุรกิจให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้น การให้บริการในส่วนนี้จึงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7
4.อากรแสตมป์ ภาษีค่าเช่าที่เกี่ยวข้องกับอากรแสตมป์ จะใช้ในกรณีที่มีการทำสัญญาเช่า กล่าวคือเมื่อเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า ได้มีการทำสัญญาให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ตามหลักการตลอดอายุแล้ว ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องติดอากรแสตมป์ ในอัตรา 1 บาท ต่อมูลค่าสัญญาเช่าทุก 1,000 บาท หรือเศษของ 1,000 บาท และผู้เช่าเป็นผู้ขีดฆ่าแสตมป์ ตลอดอายุสัญญา
5.ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เป็นภาษีค่าเช่าที่เกี่ยวข้องกับผู้เช่าที่จดทะเบียนนิติบุคคลเท่านั้น ที่สามารถหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ โดยหลักการของภาษีหัก ณ ที่จ่ายค่าเช่าคือ
- ค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 5% หากเป็นการส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าให้กับผู้เช่า โดยผู้เช่าต้องดูแลทรัพย์สินที่เช่าเสมือนเป็นทรัพย์สินของตนเอง ทั้งบำรุงรักษาและการซ่อมแซม รวมถึงผู้เช่าเป็นคนถือกุญแจ จะนับเป็นค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์
- จ้างรับเหมาหรือบริการ หักภาษี ณ ที่จ่าย 3% ถ้ายืมสถานที่ไม่มีสิทธิ์ในการถือกุญแจ เช่น เช่าสถานที่เพื่อจัดงานต่างๆ ชั่วคราว จะถือว่าอยู่ในกลุ่มของจ้างรับเหมาหรือบริการ
กล่าวโดยสรุป การปล่อยเช่าอาคาร ตึก คอนโด ฯลฯ ถือเป็นรายได้รูปแบบหนึ่ง ผู้ให้เช่าหรือเจ้าของทรัพย์ต้องเสียภาษีค่าเช่า และจากข้อมูลจะเห็นได้ว่ามีภาษีค่าเช่ามาเกี่ยวข้องหลายอย่างด้วยกัน เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น แต่ภาษีค่าเช่าหลักๆ ที่มีความเกี่ยวข้องจะเป็นภาษีหัก ณ ที่จ่าย ซึ่งหมายถึงผู้เช่าในฐานะนิติบุคคลเท่านั้นที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยอัตราการหักภาษีจะอยู่ที่ 3%-5% ของค่าเช่า ตามเงื่อนไขดังที่กล่าวไปแล้วนั่นเอง
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ Inflow Accounting