ChatGPT “เทคโนโลยีตัวตึง” กับความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล
ChatGPT เป็นที่ยอมรับ และถูกนำมาเป็นตัวช่วยในการทำงานอย่างแพร่หลาย ทำให้ปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้มากกว่า 100 ล้านคน อีกมุมกลับพบว่า ทำให้ช่องว่างของความไม่เท่าเทียมขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ตลาดเสี่ยงสูญเสียแรงงานมหาศาล เพราะถูกเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่
ในปัจจุบันเราคงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเทคโนโลยีได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาช่วยให้การทำงานมีความรวดเร็ว แม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมไปถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของระบบอัตโนมัติ (Automation) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ที่ได้เข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากในการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในกระบวนการทำงานของมนุษย์
สำหรับ “ChatGPT” ถือได้ว่าเป็นเทคโนโลยีตัวหนึ่งที่ได้ถูกพูดถึงและนำไปใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน จากข้อมูลล่าสุดพบว่า มีจำนวนผู้ใช้ ChatGPT มากกว่าหนึ่งร้อยล้านคนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมียอดการเข้าใช้โปรแกรมดังกล่าวโดยเฉลี่ยมากกว่าพันล้านครั้งต่อเดือน ซึ่งในมุมหนึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวนี้มีประโยชน์มหาศาลตามที่ได้กล่าวไปในข้างต้น แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ได้เข้ามาทำให้ช่องว่างของความไม่เท่าเทียมขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน
การเปลี่ยนแปลงของการทำงานในปัจจุบันและอนาคต
สำหรับผู้อ่านบางท่านที่อาจจะยังไม่เข้าใจถึงสิ่งที่เรียกว่า “ChatGPT” มากนัก ChatGPT คือโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้เพียงแค่ภาษาที่เราใช้กันอยู่ทั่วไปตามปกติในการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้งานกับChatGPT (Natural Language Processing: NLP) โดยตัวโปรแกรมจะตอบสนองตามคำสั่งของเราในรูปแบบของการสนทนาผ่านตัวหนังสือ และ ChatGPT ยังใช้ระบบ Machine learning ในการค้นคว้าและพัฒนาตนเองเพื่อหาคำตอบที่ดีที่สุดในการสื่อสารกับมนุษย์ซึ่งเป็นผู้ใช้งาน และอย่างที่เราทราบกันดีว่าโปรแกรมดังกล่าวได้เข้ามาช่วยเหลือการทำงานของมนุษย์โดยเฉพาะในกลุ่มของแรงงานที่มีทักษะปานกลาง-สูงค่อนข้างมาก ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ChatGPT มักจะเข้ามาช่วยในงานที่มีลักษณะของการทำงานแบบเป็นกิจวัตรที่อาจถูกมองว่ามีความซ้ำซากจำเจ รวมไปถึงงานบางประเภทที่ต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นการช่วยสืบค้นหาข้อมูล การเขียนรายงานหรือการตอบอีเมล์ต่าง ๆ
นอกจากนี้ ChatGPT ยังสามารถเข้ามาช่วยในงานที่เกี่ยวข้องกับการให้คำแนะนำแก่ลูกค้า ช่วยสอนหนังสือ หรือแม้กระทั่งช่วยเขียนงานวิจัยหรือบทความ แต่อย่างไรก็ดี สำหรับการใช้งานเบื้องต้นของโปรแกรมดังกล่าวก็อาจต้องเป็นคนที่มีความชำนาญการใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัลในระดับหนึ่งจึงจะสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่สำหรับคนที่ไม่สามารถใช้งานหรือเข้าถึงอุปกรณ์ดิจิทัลได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่มีความเปราะบาง อาทิเช่น ผู้สูงอายุบางกลุ่ม ผู้มีฐานะยากจน หรือผู้ที่ไม่ได้มีการศึกษาสูงมากนัก ก็อาจจะถูกกีดกันจากการใช้ประโยชน์ต่าง ๆ จากโปรแกรม ChatGPT ตัวนี้ซึ่งส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลในที่สุด
ในบริบทของการขยายช่องว่างของความเหลื่อมล้ำนั้น ยังมีข้อกังวลในประเด็นของผลกระทบต่อการเข้ามาของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งรวมถึงโปรแกรม ChatGPT ที่มีต่อตลาดแรงงาน กล่าวคือ ยิ่งเทคโนโลยีมีการพัฒนามากขึ้นเท่าไหร่ อาชีพของมนุษย์ก็ยิ่งมีโอกาสถูกทดแทนด้วยระบบคอมพิวเตอร์มากขึ้นเท่านั้น และเมื่อโปรแกรมดังกล่าวเข้ามาทำงานแทนที่มนุษย์ก็จะส่งผลต่อการสูญเสียปริมาณงานจำนวนมหาศาลของแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับข้องการบริการ โดยเฉพาะแรงงานที่ค่อนข้างมีความเปราะบาง อาทิเช่น กลุ่มแรงงานที่มีทักษะต่ำ หรือกลุ่มแรงงานที่มีการศึกษาในระดับไม่สูงมากนัก ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มแรงงานที่ได้รับการจ้างงานในอุตสาหกรรมเหล่านี้อยู่แล้ว โดยข้อมูลจากทางมหาวิทยาลัย Stanford และสำนักข่าว The Guardian ก็ได้ระบุไว้เช่นกันว่า ในปัจจุบัน ChatGPT ได้ถูกนำมาใช้ในงานที่เกี่ยวกับการให้บริการแก่ลูกค้าบางส่วนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งในอนาคตอันใกล้จะส่งผลต่อการสูญเสียตำแหน่งงานอย่างงานมหาศาลอย่างแน่นอน
ผลกระทบสำคัญของประเทศกำลังพัฒนา
จากข้อมูลของ UNCTAD ที่ได้กล่าวถึงผลกระทบของ ChatGPT ที่มีต่อกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาว่าในปัจจุบันงานบางส่วนที่สามารถให้คำปรึกษาในรูปแบบออนไลน์ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มอาชีพของนักบัญชี ที่ปรึกษาทางด้านกฎหมาย นักการตลาด นักทรัพยากรบุคคล หรือนักพัฒนาโปรแกรมและซอฟแวร์ ก็ได้มีการทดแทนด้วยแรงงานที่อยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว หรือที่เราเรียกว่า “Telemigrants” ซึ่งในอนาคตอันใกล้กลุ่มอาชีพดังกล่าวก็มีโอกาสที่จะถูกทดแทนมากขึ้นด้วยโปรแกรมที่มีความทันสมัย อาทิเช่น ChatGPT อีกด้วย โดย UNCTAD ได้สรุปไว้อย่างน่าสนใจว่าโดยปกติกลุ่มประเทศที่สามารถรับประโยชน์จากการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีได้มากที่สุดคือ กลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงอยู่แล้ว ดังนั้น ChatGPT ก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เข้ามาทำให้ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลระหว่างกลุ่มประเทศขยายเพิ่มขึ้นไปอีก
การแบ่งแยกทางดิจิทัลและช่องว่างระหว่างช่วงวัย
สุดท้ายในอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจก็คือเรื่องความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลระหว่างช่วงวัยจากการเข้ามาของเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งอย่างที่เห็นในปัจจุบันสถานที่ทำงานของเราอาจจะมีคนบางกลุ่มที่สามารถใช้อุปกรณ์ดิจิทัลหรือเทคโนโลยีอื่น ๆ รวมไปถึง ChatGPT ในการช่วยเหลือการทำงานและการหาข้อมูลได้เป็นอย่างดี โดยส่วนใหญ่มักพบในกลุ่มคนทำงานที่ยังเป็นเด็กรุ่นใหม่ ซึ่งในทางกลับกันอาจจะมีคนทำงานบางกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดังกล่าวได้ ไม่ว่าสาเหตุนั้นจะมาจากการขาดโอกาสในการเข้าถึงหรือการขาดทักษะในการใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ ซ้ำร้ายการเข้ามาของ ChatGPT ก็ยิ่งจะทำให้สถานการณ์ของพวกเขาแย่ลงไปอีก ทั้งหมดนี้ยิ่งเป็นเหตุซ้ำเติมของความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลที่อาจเกิดขึ้นในที่ทำงานในแง่มุมของการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี
ถึงแม้ว่าการเข้ามาของเทคโนโลยีโดยเฉพาะเจ้า ChatGPT นั้นจะมีประโยชน์มหาศาลมากเพียงใด การพิจารณาถึงผลกระทบต่าง ๆ ทั้งในประเด็นที่เกี่ยวกับการเข้ามาทำงานบางอย่างแทนที่มนุษย์ ซึ่งจะส่งผลต่อการสูญเสียงานจำนวนมหาศาลของแรงงานในอนาคต ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลระหว่างช่วงวัย รวมไปถึงการเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยซึ่งอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน รายได้ และความมั่นคงของงานที่มาจากความเปราะบางทางทักษะดิจิทัล (Digital poverty) ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน
โดย ดร.กติกา ทิพยาลัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย