“โอกาส หรือปัญหา” กับการแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 รอบ
แนวคิดนโยบายแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 รอบ ของนายกรัฐมนตรีใหม่ป้ายแดง เศรษฐา ทวีสิน แถลงในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก ก่อให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารย์ในวงกว้าง จนขึ้นเทรนด์ของเอ็กซ์ (Twitter) ในชั่วข้ามคืนจากแฮชแท็ก #เงินเดือนข้าราชการ
แนวคิดนโยบายแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 รอบ โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้วันที่ 1 มกราคม 2567 ของนายกรัฐมนตรีใหม่ป้ายแดง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ซึ่งแถลงในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก (13 กันยายน 2566) ก่อให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารย์ในวงกว้าง จนขึ้นเทรนด์ของเอ็กซ์ (Twitter) ในชั่วข้ามคืนจากแฮชแท็ก #เงินเดือนข้าราชการ โดยความคิดเห็นได้แบ่งออกเป็นสองแนวทาง ทั้งความคิดเห็นให้ทิศทางตรงกันข้ามกับนโยบายของนายกรัฐมนตรี แต่ก็มีบางส่วนที่สนับสนุนโดยมองว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับวินัยทางการเงินของแต่ละบุคคลมากกว่า ร้อนจนทำให้ นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกรัฐบาล ต้องออกมาให้ข้อมูลว่า การที่นายกรัฐมนตรีเสนอแนวคิดดังกล่าวนั้น เกิดจากการที่ข้าราชการบางส่วนเกิดภาวะทางการเงินที่เรียกว่าชักหน้าไม่ถึงหลัง เงินเข้าสิ้นเดือนกลางเดือนก็หมดแล้ว ทำให้ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน จึงเรียกร้องมาว่าให้จ่ายเงินเดือน 2 รอบ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน โดยนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงนโยบายของรัฐบาลว่า กรมบัญชีกลางกำลังศึกษาและดูความพร้อมทั้งหมด โดยยืนยันว่าพร้อมที่จะทำตามนโยบายรัฐบาล โดยรายละเอียดยังอยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสม ซึ่งอาจจะมีทางเลือกให้ เช่น อาจจะเสนอให้รัฐบาลเปิดช่องให้ข้าราชการเลือกได้ว่า จะรับเงินเดือนเพียงครั้งเดียว หรือ 2 ครั้ง ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ
แรกเริ่มเดิมทีการจ่ายแบ่งจ่ายเงินเดือน 2 รอบ หรือ 3 รอบ มักจะใช้ในกลุ่มพนักงานที่ปฏิบัติงานในโรงงาน และพนักงานบริษัทบางธุรกิจ เช่น พนักงานโรงแรม ซึ่งออกเป็นวีค (2 สัปดาห์เงินเดือนออก 1 ครั้ง) แต่ในส่วนของหน่วยงานภาครัฐ และบริษัทห้างร้านทั่วไปมีการจ่ายค่าจ้างในรูปแบบเงินเดือน การดำรินโยบายดังกล่าวของนายกรัฐมนตรีสามารถมองได้ว่า กลุ่มที่ได้รับประโยชน์อาจเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูงมากกว่ารายจ่ายพอสมควร หรือเป็นกลุ่มคนที่มีวินัยทางการเงิน ซึ่งเมื่อแบ่งเงินเดือนเป็น 2 รอบแล้วยังสามารถชำระหนี้ และสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มน้อยในสังคมไทย ส่งผลให้แทบไม่ได้รับผลกระทบจากการจ่าย 1 รอบหรือ 2 รอบ แต่สำหรับพนักงานหรือข้าราชการชั้นผู้น้อยซึ่งมีเงินเดือนน้อย ซึ่งมีจำนวนมาก แถมยังมีภาระหนี้สินผูกพันทั้งเงินกู้ธนาคาร เงินกู้สหกรณ์ ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวคิดเป็นรายเดือน และมักจะมีกำหนดชำระในช่วงต้นเดือน ส่งผลเงินเดือนครึ่งหนึ่งซึ่งแบ่งจ่ายในช่วงต้นเดือนแทบจะมลายหายสิ้นไปพร้อม ๆ กับที่ได้รับมา นอกจากนี้การคิดคำนวนดอกเบี้ยเงินกู้ส่วนใหญ่ก็มีการคำนวนในแบบรายเดือนไม่ได้มีการคำนวนทีละครึ่งเดือนแต่อย่างใด
ข้อดี เอาง่าย ๆ ก็คือ เงินเดือนมันได้เท่าเดิมนั่นแหละ แต่ได้เงินมาไวได้หลายรอบขึ้น เป็นการเพิ่มสภาพคล่อง การใช้จ่ายก็คล่องตัวขึ้น รอบของรายรับบ่อยครั้งขึ้น การต้องไปกู้หนี้ยืมสินเพื่อเสริมสภาพคล่องก็น้อยลง โดยในกรณีที่ถ้าคนมีเงินจับจ่ายใช้สอยหลายรอบ ก็มีเงินหมุนเวียนในตลาดมากขึ้น มีกระแสเงินสดในระบบต่อเนื่องมากขึ้น เกิดความคล่องตัวขึ้น ภาพรวมเศรษฐกิจก็จะดีขึ้น เพราะมีเงินหมุนเข้าไปในระบบเร็วขึ้น รอบของการหมุนเวียนเงินตราในระบบมีระยะเวลาสั้นลง
ข้อเสีย ก็คือเรื่องข้อจำกัดในเรื่องของการชำระหนี้ การคิดอัตราดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ซึ่งคิดเป็นรายเดือน หลัก ๆ คือ ได้รับเงินในแต่ละครั้งลดน้อยลง ส่งผลให้ข้าราชการท่านใดที่ติดหนี้ธนาคาร เงินเดือนออกมาครึ่งเดียวธนาคารตัดอัตโนมัติ ถ้าเกิดมีภาระค่าใช้จ่ายเยอะธนาคารตัดหมด ก็แทบจะไม่เหลือเงินในการจับจ่ายใช้สอย เพราะข้าราชการส่วนใหญ่มีหนี้สินกันเยอะ ทั้งผ่อนบ้าน ผ่อนรถ นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มความซับซ้อน และภาระงานของการจัดทำบัญชี โดยหน่วยงานราชการใช้ระบบเบิกจ่าย ผ่าน GFMIS Web Online ก็ต้องทำเพิ่มเป็นเดือนละ 2 รอบ
ดังนั้นการแบ่งจ่ายเงินเดือนสองรอบอาจเป็นการเกาไม่ถูกที่คันเท่าใดนัก เพราะปัญหาของข้าราชการที่ควรได้รับการแก้ไขก่อนอาจเป็นเรื่องวินัยทางการเงิน อีกทั้งเมื่อมองในมุมของประชาชนสิ่งที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญก่อนอาจเป็นการแก้ปัญหาเรื่องการเพิ่มรายได้ขั้นต่ำ หรือการปรับเงินเดือนให้สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบันซึ่งพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง การลดค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณูปโภค ทั้งค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าน้ำมัน ค่าก๊าซหุงต้ม รวมถึงการปรับปรุงคุณภาพและมาตรฐานการบริการของขนส่งมวลชน การจราจรที่ติดขัดบนท้องถนนโดยเฉพาะในเขตเมืองหรือไม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลโดยตรงต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในสังคม มากกว่าการที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบการจ่ายค่าจ้างเงินเดือน
แนวทางแก้ไข อาจต้องแก้จากต้นเหตุในการสร้างวินัยทางการเงิน การลดค่าครองชีพ และจัดการเชิงโครงสร้างทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นการคิดอัตราดอกเบี้ย และการชำระหนี้ โดยคนที่ติดหนี้ เวลาที่ธนาคารหรือเจ้าหนี้ตัดเงินจากเงินเดือนอัตโนมัติ ก็ต้องจ่ายครึ่งของหนี้ที่จ่ายปกติด้วยจึงจะสอดคล้องกัน รวมถึงให้ทางเลือกในการรับเงินเดือนแบบยืดหยุ่นตามรูปแบบการดำเนินชีวิต ดังนั้นก็ต้องขอให้ทางทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลได้วิเคราะห์ข้อดีข้อเสียดังกล่าวอย่างรอบคอบ และนำเสนอข้อมูลแก่สังคมอย่างตรงไปตรงมา รวมถึงการทำประชาพิจารณ์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของข้าราชการว่าต้องการให้มีการจ่ายเงินเดือนรูปแบบใดน่าจะส่งผลดีต่อสังคมในภาพรวมมากกว่า