ผู้สูงอายุกับการเข้าถึงนโยบายสาธารณะในยุคดิจิทัล
นักวิชาการ ห่วงผู้สูงอายุเข้าไม่ถึง "เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท" แนะรัฐศึกษาระดับทักษะการเข้าถึงระบบ พร้อมวางแนวทาง-เครื่องมือรองรับ ก่อนกำหนดนโยบาย เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาคุุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ หรือกลุ่มเปราะบางให้ดีขึ้น
ปัญหาของความเหลื่อมล้ำ การลดความเหลื่อมล้ำ และผลกระทบทางด้านต่าง ๆ ได้ถูกพูดถึงกันอย่างมากในปัจจุบัน ทั้งจากองค์การสหประชาชาติผ่านเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals: SDGs (Goal 10: Reduce inequality within and among countries) รวมไปถึงรัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกที่ต่างให้ความสำคัญในประเด็นนี้เช่นเดียวกัน โดยเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำก็ได้ถูกนำมาช่วยเหลือกลุ่มคนเปราะบางผ่านทางนโยบายหรือมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความช่วยเหลือทางด้านการเงิน การให้สิทธิการรักษาพยาบาลฟรีหรือการร่วมจ่ายโดยภาครัฐ ตลอดจนการยกเว้นค่าใช้จ่ายทางด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นต้น มากไปกว่านั้นการพัฒนาทักษะต่าง ๆ ของแรงงานให้มีความเหมาะสมกับการเปลี่ยนไปของภาคธุรกิจและเศรษฐกิจ (Sectoral shifts) ก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันในประเด็นของการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ถึงอย่างไรก็ตามในยุคปัจจุบันการพัฒนาทักษะทางดิจิทัลก็เริ่มเป็นที่สนใจจากนานาประเทศ เนื่องจากทักษะดังกล่าวได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยเพิ่มโอกาสสำหรับการจ้างงานและการเพิ่มรายได้ให้กับแรงงาน
นอกจากนี้ทักษะทางด้านดิจิทัลยังสามารถเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร หรือการเข้ารับบริการสาธารณะจากภาครัฐและบริการด้านอื่น ๆ จากภาคเอกชนได้เช่นเดียวกัน มากไปกว่านั้นยังพบว่าการลดความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ตลอดจนการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมก็ถือเป็นผลกระทบเชิงบวกจากการมีทักษะดิจิทัลที่สูงขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประชากรผู้สูงอายุอาจกล่าวได้ว่าเป็นกลุ่มประชากรที่มีความเปราะบางมากที่สุดในประเด็นของความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (Digital disparity) ซึ่งจากข้อมูลของ EuDiPro (2017) พบว่า เกือบครึ่งหนึ่ง (44%) ของประชากรผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 65 ปีในกลุ่มประเทศแถบยุโรปมีทักษะทางด้านดิจิทัลขั้นพื้นฐานที่ไม่ค่อยดีมากนัก ซึ่งส่งผลเป็นอย่างมากต่อการอำนวยความสะดวกทั้งในการดำเนินชีวิตประจำวันและการเข้าถึงบริการสาธารณะของภาครัฐในด้านต่าง ๆ
จากรายงานของสหภาพโทรคมนาคมนานาชาติ หรือ ITU ในปี 2020 กล่าวว่า แม้ว่าจำนวนผู้คนบนโลกเราในปัจจุบันนี้สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากกว่าร้อยละ 80 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ภายหลังจากการระบาดของโรคติดต่อร้ายแรง Covid-19 ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทำให้การปรับตัวและการพัฒนาทางทักษะดิจิทัลของประชาชนทั่วโลกเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นอย่างมาก แม้ว่าเทคโนโลยีที่ได้ถูกพัฒนามาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นการทำงานหรือการใช้ชีวิตต่างก็มีประโยชน์มากมายมหาศาล แต่หากใครก็ตามที่ไม่สามารถพัฒนาตนเองให้เท่าทันกับการพัฒนาเทคโนโลยีได้ก็จะทำให้พวกเขาเหล่านั้นอาจจะถูกกีดกันออกจากสังคมได้เช่นเดียวกัน (digital divide) โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่มักจะมีทักษะทางด้านดิจิทัลในระดับต่ำกว่าประชาชนกลุ่มอายุอื่น ๆ อยู่แล้ว ซึ่งสอดรับกับงานวิจัยของ World Economic Forum ที่ได้สรุปไว้ว่าประชาชนทั่วโลกมากกว่าครึ่ง (54%) จำเป็นที่จะต้องทำการปรับปรุงทักษะที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลภายในช่วงปี 2022 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นผู้สูงอายุในประเทศกำลังพัฒนา
ในส่วนของประเทศไทยในปัจจุบันได้เข้าสู่สังคมสูงวัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจากข้อมูลของกรมกิจการผู้สูงอายุในปีพ.ศ. 2565 พบว่าประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุมากกว่า 12 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับประชากรไทยทั้งหมดในประเทศ นอกจากนี้ยังพบว่ามีประมาณ 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุที่ใช้ชีวิตอยู่ในความยากลำบากหรืออาศัยอยู่ในสภาวะเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าเส้นความยากจนสุดขั้ว โดยมีรายได้เพียงแค่ประมาณ 60 บาทต่อวันเท่านั้นเอง ถึงแม้ว่าในประเทศไทยจะมีประชากรกลุ่มอื่นที่อาศัยอยู่ใต้เส้นความยากจนและมีความยากลำบากเช่นเดียวกัน แต่ประชากรกลุ่มผู้สูงอายุน่าจะเป็นกลุ่มคนที่รัฐบาลควรให้ความสนใจและการช่วยเหลือมากที่สุด เนื่องจากด้วยอายุที่มากขึ้น กลุ่มคนดังกล่าวมักขาดโอกาสของการเข้าถึงงานที่เหมาะสม มีสภาวะของสุขภาพกายที่ลดน้อยถอยลง และค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพหรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องก็มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ประชาชนผู้สูงอายุไม่สามารถที่จะหารายได้มาดูแลตนเองได้เมื่อเทียบกับประชากรกลุ่มอื่น
ผู้เขียนขอยกตัวอย่างกรณีที่น่าสนใจในความพยายามเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในช่วงปี 2021 ที่ผ่านมาค่ายโทรศัพท์ยักษ์ใหญ่อย่างบริษัท DTAC ได้ออกโครงการเพื่อมาสนับสนุนการพัฒนาทักษะทางดิจิทัลของผู้สูงอายุเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจที่เรียกว่า Silver economy หรือเศรษฐกิจสีเงิน โดยจะเป็นการพัฒนาทักษะแรงงานที่จ้างงานตนเองหรือมีธุรกิจส่วนตัวตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป โดยโครงการดังกล่าวตั้งเป้าที่จะเพิ่มรายได้ขั้นต่ำร้อยละ 15 ให้กับผู้สูงอายุที่เข้าร่วมที่น่าจะส่งผลต่อสุขภาพกายและจิตใจที่ดีขึ้นของผู้สูงอายุที่ได้ยังสามารถมีงานทำและมีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวอยู่ ภาครัฐโดยกระทรวงศึกษาธิการเองก็ได้ออกโครงการที่น่าสนใจเช่นเดียวกันในชื่อว่า “โครงการสร้างผู้สูงวัยและผู้ด้อยโอกาสเป็นกำลังคนดิจิทัลสู้ภัยไซเบอร์” โดยจะเป็นการสร้างความตระหนัก ความรู้และความเข้าใจในการใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์และระบบดิจิทัล รวมไปถึงการสร้างความรู้และแนวทางการป้องกันในการใช้สื่อและแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ การใช้โปรแกรมประชุมออนไลน์ และการซื้อขายสินค้าในตลาดออนไลน์
โดยโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่สอดคล้องกับ UNDESA ที่ได้สรุปข้อดีของทักษะดิจิทัลของผู้สูงอายุไว้ว่า ทักษะทางดิจิทัลนั้นสามารถทำให้ผู้สูงอายุมีสภาพจิตใจที่ดีมากขึ้น รู้สึกถึงความสามารถในการควบคุมสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้ง่ายและสะดวกขึ้น สามารถทำงานที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายสินค้าในตลาดออนไลน์ได้ มากไปกว่านั้นทักษะทางดิจิทัลยังช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถรักษาความสัมพันธ์กับครอบครัว ลูกหลาน ชุมชนและสังคมในระดับต่าง ๆ ได้ รวมไปถึงทักษะนี้ยังช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ที่จำเป็นทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนได้ง่ายขึ้นเป็นอย่างมาก
มากไปกว่านั้น ในบริบทของทางภาครัฐก็ได้ตอบสนองต่อปัญหาดังกล่าวผ่านการออกนโยบายและ/หรือมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือกลุ่มประชาชนผู้สูงอายุ โดยมุ่งเน้นไปที่การลดความยากจนและการลดความเหลื่อมล้ำ ผ่านแนวคิดการเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายของประชาชนกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายสิทธิบัตรทองเพื่อการลดค่าใช้จ่ายทางด้านการรักษาพยาบาลของผู้สูงอายุที่ไม่มีสิทธิ์รักษาพยาบาลของข้าราชการหรือจากประกันสังคม หรือเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุชาวไทยโดยมีการจัดสรรเงินรายเดือนให้แก่ผู้สูงอายุจำนวน 600 – 1,000 บาทต่อเดือนตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป
ถึงอย่างไรก็ตามในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคติดต่อร้ายแรง Covid-19 รัฐบาลก็ได้ออกนโยบายที่หลากหลายในการช่วยเหลือประชาชนชาวไทย อาทิเช่น นโยบาย “คนละครึ่ง” ที่ภาครัฐจะเข้ามาช่วยลดภาระทางด้านรายจ่ายให้กับประชาชนครึ่งหนึ่งและในส่วนที่เหลือประชาชนจะเป็นผู้จ่ายด้วยตนเอง หรือนโยบาย “เราชนะ” ที่รัฐบาลจะสนับสนุนวงเงินช่วยเหลือเพื่อบรรเทาค่าครองชีพให้กับประชาชนในจำนวนไม่เกิน 3,500 บาทต่อคนต่อเดือนโดยทั้งสองนโยบายนี้จะเน้นการใช้เงินผ่านระบบดิจิทัลเป็นหลัก ซึ่งในการรับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวมีประชาชนจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงสวัสดิการดังกล่าวโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความเปราะบาง ไม่มีสมาร์ทโฟน หรือขาดทักษะทางด้านดิจิทัล
ซึ่งในปัจจุบันรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยก็ได้มีความพยายามที่จะทำนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้เกิดขึ้นได้จริง โดย IMF ได้ให้ความหมายของเงินดิจิทัลไว้ว่า “รูปแบบของเงินหรือการใช้จ่ายเงินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น” แต่สิ่งที่ผู้เขียนกังวลก็คือนโยบายที่ใช้คำว่า “ดิจิทัล” จะทำให้ประชาชนชาวไทยจำนวนเท่าไหร่ที่ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการดังกล่าวได้ ซึ่งตามหลักการและในโลกความเป็นจริงนั้นยังมีคนอีกหลากหลายกลุ่มโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่น่าจะไม่สามารถเข้าถึงเงินดิจิทัล 10,000 บาทได้
ถึงแม้ว่ารัฐบาลอาจจะมีแนวทางให้ผู้สูงอายุสามารถยืนยันตนด้วยบัตรประชาชนและไปรับเงินตามธนาคารของรัฐ แต่กลุ่มคนเหล่านี้อาจจะมีต้นทุนในการรับสวัสดิการที่สูงกว่า และมีความเสี่ยงในแง่มุมต่าง ๆ ในการรับประโยชน์จากสวัสดิการ รวมไปถึงการรับเงินในรูปแบบนี้จะตรงกับชื่อของนโยบายหรือไม่ มากไปกว่านั้นยังมีอีกหลายประเด็นที่น่าเป็นห่วงเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นแหล่งที่มาและลักษณะของเงินงบประมาณ ผลกระทบทางด้านเงินเฟ้อ รูปแบบการใช้เงินของประชาชนในบางช่วงอายุและบางเศรษฐฐานะที่อาจจะไม่ได้สะท้อนให้เกิดผลจากตัวทวีคูณทางการคลังที่รัฐบาลตั้งความหวังเอาไว้ รวมไปถึงความกังวลของธนาคารแห่งประเทศไทยในการให้สวัสดิการดังกล่าวแบบถ้วนหน้าซึ่งอาจจะมีผู้รับสิทธิประโยชน์บางกลุ่มที่อาจจะไม่ได้มีความจำเป็นเท่าไหร่นัก
โดยสรุปแล้วผู้เขียนจึงอยากให้ข้อเสนอในอีกมุมมองหนึ่งว่าก่อนที่รัฐบาลจะกำหนดนโยบายทางสังคม โดยเฉพาะหากเป็นนโยบายที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุหรือกลุ่มคนที่มีความเปราะบางควรจะมีทำการศึกษาถึงระดับทักษะทางด้านดิจิทัลที่มีอยู่ ซึ่งจะมีผลต่อการเข้าถึงสวัสดิการและการบริการสาธารณะจากภาครัฐ รวมไปถึงการออกแบบแนวทาง กลไก ตลอดจนเครื่องมือในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางด้านดิจิทัลของผู้สูงอายุผ่านรูปแบบการพัฒนาทักษะทางดิจิทัลที่เหมาะสมต่อไป โดยเป้าประสงค์สูงสุดของการพัฒนาทักษะทางด้านดิจิทัลของผู้สูงอายุนั้นจะเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลซึ่งเป็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมในอีกรูปแบบหนึ่ง และยังเป็นการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่มีความเปราะบางให้ดีขึ้นในฐานะที่ประชาชนผู้สูงอายุก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเช่นเดียวกัน
โดย อ.ดร.กติกา ทิพยาลัย คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย