posttoday

อากรแสตมป์ สำคัญอย่างไรกับธุรกิจเช่า ซื้อ กู้ยืม

04 ตุลาคม 2566

ทราบหรือไม่ว่าในธุรกิจการเช่า ซื้อ หรือการกู้ยืม จะต้องติดอากรแสตมป์ด้วยเมื่อมีการทำสัญญาเกิดขึ้น ซึ่งอากรแสตมป์นั้นถือเป็นภาษีอากรประเภทหนึ่ง ที่อีกหลายคนอาจเกิดความสับสนว่าต้องติดอากรแสตมป์ในราคาเท่าไหร่ แล้วติดยังไง ใครต้องติด รวมถึงซื้อได้จากที่ไหนบ้าง

          ทราบหรือไม่ว่าในธุรกิจการเช่า ซื้อ หรือการกู้ยืม จะต้องติดอากรแสตมป์ด้วยเมื่อมีการทำสัญญาเกิดขึ้น ซึ่งอากรแสตมป์นั้นถือเป็นภาษีอากรประเภทหนึ่ง ที่อีกหลายคนอาจเกิดความสับสนว่าต้องติดอากรแสตมป์ในราคาเท่าไหร่ แล้วติดยังไง ใครต้องติด รวมถึงซื้อได้จากที่ไหนบ้าง

          และจากข้อสงสัยเหล่านี้ ในบทความที่จะมานำเสนอได้หาคำตอบมาให้หมดครบทุกคำถามแล้ว ลองมาศึกษาและทำความรู้จักกับอากรแสตมป์ไปพร้อมๆ กันดังนี้

ลักษณะตราสารที่ต้องติดอากรแสตมป์มีอะไรบ้าง

          ในธุรกิจที่มีการเช่า ซื้อขาย หรือกู้ยืม ต้องมีการทำสัญญา เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างถูกต้อง และมีผลในทางกฎหมาย ซึ่งเอกสารในการทำสัญญาก็จะต้องติดอากรแสตมป์ด้วยทุกครั้ง หรือภาษาทางการเรียกว่า ตราสาร ซึ่งอากรแสตมป์เป็นภาษีตามประมวลรัษฎากรประเภทหนึ่ง จัดเก็บจากการกระทำ ตราสาร 28 ลักษณะ ดังนี้

          1.ใบรับสำหรับการขาย ขายฝาก ให้เช่าซื้อ หรือโอนกรรมสิทธิ์ยานพาหนะ ทั้งนี้เฉพาะยานพาหนะซึ่งมีการจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยยานพาหนะนั้นๆ

          2.หนังสือสัญญาห้างหุ้นส่วน

          3.ข้อบังคับใหม่หรือสำเนาหนังสือบริคณห์สนธิหรือข้อบังคับของบริษัทจำกัด ซึ่งเปลี่ยนแปลงใหม่ที่ส่งต่อนายทะเบียน

          4.ข้อบังคับของบริษัทจำกัดที่ส่งต่อนายทะเบียน

          5.หนังสือบริคณห์สนธิของบริษัทจำกัดที่ส่งต่อนายทะเบียน

          6.คู่ฉบับหรือคู่ฉีกแห่งตราสาร

          7.คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ

          8.ตัวแทน

          9.คำสั่งให้ส่งมอบของ

          10.ใบรับของคลังสินค้า

          11.จำนำ

          12.ค้ำประกัน

          13.ใบรับรอง

          14.เช็คสำหรับผู้เดินทาง

          15.เลตเตอร์ออฟเครดิต

          16.ใบรับฝากเงินประเภทประจำของธนาคารโดยมีดอกเบี้ย

          17.เช็ค หรือหนังสือคำสั่งใดๆ ซึ่งใช้แทนเช็ค

          18. ใบหุ้น หรือใบหุ้นกู้ หรือใบรับรองหนี้ของบริษัท สมาคม คณะบุคคล หรือองค์การใดๆ และพันธบัตรของรัฐบาลใดๆ ที่ขายในประเทศไทย

          19.บิลออฟเลดิง

          20.ตั๋วแลกเงินหรือตราสารทำนองเดียวกับที่ใช้อ่างตั๋วแลกเงิน และตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือตราสารทำนองเดียวกับที่ใช้อย่างตั๋วสัญญาใช้เงิน

          21.ใบมอบฉันทะสำหรับให้ลงมติ 

          22.ใบมอบอำนาจ

          23.กรมธรรม์ประกันภัย

          24.กู้ยืมเงิน หรือการตกลงให้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคาร

          25.จ้างทำของ

          26.เช่าซื้อทรัพย์สิน

          27.โอนใบหุ้น ใบหุ้นกู้ พันธบัตรและใบรับรองหนี้ ซึ่งบริษัท สมาคม คณะบุคคลหรือองค์การใดๆ เป็นผู้ออก

          28.เช่าที่ดิน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นหรือแพ

          ทั้งนี้อากรแสตมป์เป็นภาษีอากรที่จัดเก็บจากการกระทำตราสาร โดยคำว่า กระทำ หมายความว่า การลงลายมือชื่อตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ผู้มีหน้าที่เสียอากรแสตมป์มีใครบ้าง

ผู้มีหน้าที่เสียอากรแสตมป์มีรายละเอียดดังนี้ 

           1. บุคคลตามที่ระบุไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ เช่น ผู้รับประกันภัย ผู้ให้กู้ เป็นต้น

           2. อนุญาตให้ทำตราสารนอกประเทศได้ แต่เจ้าของตราสารคนแรกในประเทศไทยคือผู้เสียภาษีอากร ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับตราสาร ถ้าหากไม่ได้ปฏิบัติตามความข้างต้น ผู้ทรงคนใดคนหนึ่งต้องเสียอากรแล้ว จึงยื่นตราสารเพื่อให้จ่ายเงิน รับรอง สลักหลัง โอนหรือถือเอาประโยชน์ได้

           3. ตั๋วเงินที่ยื่นให้ชำระเงิน ไม่ได้ปิดแสตมป์อย่างสมบูรณ์ผู้รับตั๋วเงินจะเสียอากรและใช้สิทธิไล่เบี้ยจากผู้มีหน้าที่เสียอากร หรือหักเงินที่ชำระก็ได้

           4. ผู้มีหน้าที่เสียอากรตามที่ระบุไว้ในบัญชีอากรแสตมป์อาจตกลงในคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้เสียอากรแสตมป์ก็ได้ เว้นแต่กรณีตามข้อ 2   

การชำระค่าอากรแสตมป์มีกี่วิธี

           วิธีการชำระและขอคืนอากรแสตมป์ มี 3 รูปแบบ และในกรณีชำระเกินอาจขอคืนได้

           1.การชำระอากรแสตมป์โดยวิธีปิดทับ การใช้แสตมป์ปิดทับต้องทำก่อนหรือขณะทำตราสารเป็นราคาแสตมป์ไม่น้อยกว่าอากรที่ต้องเสีย

           2.ชำระเป็นตัวเงิน ใช้แบบของและอนุมัติให้เสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน อ.ส.4 ยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ โดยแนบตราสารที่ขอเสียอากรไปด้วย และให้ยื่นต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา

           3.แสตมป์ดุน เป็นการเสียอากรโดยใช้แสตมป์ดุนเป็นราคาไม่น้อยกว่าอากรที่ต้องเสียและขีดฆ่า หรือโดยยื่นตราสารให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประทับแสตมป์ดุน และชำระเงินเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าอากรที่ต้องเสียและขีดฆ่าแล้ว

อัตราอากรแสตมป์ที่ต้องจ่าย แตกต่างกันตามประเภทของสัญญา

          การจัดทำเอกสารสัญญาต่างๆ ที่ต้องปิดอากรแสตมป์ ตามที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ จะมีอัตราที่แตกต่างกันตามประเภทสัญญาที่ทำ ตัวอย่างเช่น

          - กู้ยืมเงิน ผู้ให้กู้มีหน้าที่เสียค่าอากรแสตมป์ 1 บาทต่อจำนวนเงิน 2,000 บาท หรือเศษของเงิน 2,000 บาท แห่งยอดเงินที่กู้ยืม ค่าอากรตามลักษณะแห่งตราสารนี้ เมื่อคำนวณแล้วถ้าเกิน 10,000 บาท ให้เสีย 10,000 บาท โดยสามารถตรวจสอบอัตราอากรแสตมป์ได้จากบัญชีอัตราอากรแสตมป์

          - การจ้างทำของ ยกเว้นสัญญาที่ทำขึ้นนอกประเทศไทยและการปฏิบัติตามข้อสัญญานั้นไม่ได้ทำในประเทศไทย ผู้รับจ้างมีหน้าที่เสียค่าอากรแสตมป์ 1 บาทต่อจำนวนเงิน 1,000 บาท หรือเศษของเงิน 1,000 บาท แห่งสินจ้างที่กำหนดไว้

          - เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า มีการจัดทำสัญญาให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ เช่น เช่าที่ดิน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นหรือแพ ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ติดอากรแสตมป์ ในอัตราภาษี คือมูลค่าสัญญาเช่า 1,000 บาท ติดอากรแสตมป์ 1 บาท

ทั้งนี้สามารถเข้าไปตรวจสอบรายละเอียดได้ที่บัญชีอัตราอากรแสตมป์จากกรมสรรพากร

          ทั้งนี้ หากผู้ใดเสียอากรหรือเงินเพิ่มอากรสำหรับตราสารลักษณะเดียวหรือฉบับเดียวกันเกินไปไม่น้อยกว่า 2 บาท อาจทำหนังสือแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ได้ภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่เสียอากรหรือค่าเพิ่มอากร หากอธิบดีเห็นว่าจำนวนเงินดังกล่าว เสียเกินไปจริงก็จะคืนให้ผู้เสียภาษี

          กล่าวโดยสรุป การจัดการอากรแสตมป์ภายในธุรกิจที่มีความจำเป็นต้องติดอากรแสตมป์ ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยกว่าภาษีอื่นๆ และยังช่วยลดความเสี่ยงทางด้านภาษีอากรอีกด้วย ซึ่งแหล่งจำหน่ายอากรแสตมป์มีอยู่ทั่วไป เช่น ไปรษณีย์ไทย  ร้านสะดวกซื้อ (อาจมีขายเป็นบางสาขา) กรมสรรพากร เป็นต้น

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ Inflow Accounting