เช็กข้อมูลเงินบริจาคช่วยการกีฬาฯ หักลดหย่อนได้ 2 เท่า
หลักเกณฑ์ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการบริจาคเพื่อสนับสนุนการกีฬา และพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 772 เรื่อง พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการกีฬา มีเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์อะไรบ้าง
จากประกาศอธิบดีกรมสรรพากรล่าสุดในช่วงเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับการบริจาคเพื่อสนับสนุนการกีฬา ผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์
นอกจากนี้ยังมีในส่วนของพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 772 เรื่อง พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการกีฬา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2567 รวมระยะเวลา 2 ปีภาษี แต่จะมีเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์อะไรบ้างลองตามมาเช็กกันดู
บริจาคเงินหรือทรัพย์สินเพื่อสนับสนุนการกีฬา หักลดหย่อนได้ 2 เท่า และยกเว้นภาษี
กรณีบริจาคเงินหรือทรัพย์สินเพื่อสนับสนุนการกีฬา ไม่ว่าจะเป็นในกรณีบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยสามารถนำจำนวนเงินที่บริจาคหรือทรัพย์สินมาหักลดหย่อนภาษีได้ โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมดังนี้
ในกรณีที่บุคคลธรรมดาบริจาคเป็นเงินอย่างเดียว จะได้สิทธิประโยชน์หักลดหย่อนได้เป็นจำนวน 2 เท่า แต่เมื่อรวมการบริจาคทุกรายการแล้วต้องไม่เกิน ร้อยละ 10 ของเงินได้ทั้งหมดที่ได้รับหลังจากหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนอื่นตามกฎหมายแล้ว
ส่วนกรณีเป็นบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่บริจาคเป็นทรัพย์สินหรือบริจาคเป็นเงิน จะได้สิทธิสามารถนำไปหักรายจ่ายได้ 2 เท่า ของจำนวนเงินหรือมูลค่าทรัพย์สินที่บริจาค แต่เมื่อรวมการบริจาคทุกรายการ แล้วต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่าย
และสุดท้ายในกรณีที่ผู้บริจาคโอนทรัพย์สินหรือสินค้าที่มีไว้ขายเพื่อสนับสนุนการกีฬาในนามบุคคลธรรมดา หรือบริษัท ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ แต่ให้หักได้ตามต้นทุนมูลค่าสินค้าที่เหลืออยู่เท่านั้น
นอกจากนี้เมื่อหักเป็นต้นทุนทางบัญชีแล้ว ไม่ควรนำไปหักเป็นค่าใช้จ่ายอีก และไม่ถือเป็นมูลค่าขายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
หลักเกณฑ์เพิ่มเติมในการบริจาคเป็นทรัพย์สินหรือสินค้า เพื่อสนับสนุนการกีฬา
1.ลักษณะการบริจาคในรูปแบบของการซื้อสินทรัพย์มาบริจาค ต้องมีหลักฐาน การได้มาซึ่งทรัพย์สินที่ระบุจำนวนและมูลค่าของทรัพย์สินนั้น โดยให้ถือว่ามูลค่าตามหลักฐาน ดังกล่าว เป็นมูลค่าของรายจ่ายที่บริจาค
2.การนำสินทรัพย์สินของบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ได้มีการบันทึกบัญชีนำมาบริจาค โดยมีหลักฐาน ให้ถือเอามูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือจากการคำนวณ หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน เป็นมูลค่าของรายจ่ายที่บริจาค
3.การนำสินค้าที่ผลิตเอง หรือซื้อมาเพื่อขาย โดยมีหลักฐานให้ถือเอามูลค่าต้นทุนของสินค้าดังกล่าวที่สามารถพิสูจน์ได้เป็นมูลค่าของรายจ่าย ที่บริจาค แต่มูลค่าดังกล่าวต้องไม่เกินราคาสินค้าคงเหลือยกมา
4.มูลค่าของทรัพย์สินหรือสินค้าที่ซื้อมาเพื่อบริจาค จะต้องมีราคาที่ไม่สูงเกินจริง
ต้องบริจาคผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากรเท่านั้น
ในส่วนของการบริจาคเพื่อสนับสนุนการกีฬา บุคคลธรรมดา และบริษัท ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถหักเป็นค่าลดหย่อน และรายจ่ายได้ 2 เท่าของจำนวนเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาค หากทำการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากรให้แก่ 5 องค์กร ดังนี้
1.การกีฬาแห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการกีฬา
2.คณะกรรมการกีฬาจังหวัด ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการ กีฬาแห่งประเทศไทย
3.กรมพลศึกษา
4.สมาคมกีฬาที่ได้รับอนุญาต ให้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการ กีฬาแห่งประเทศไทย
5.กองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ หรือสมาคมกีฬาที่ใช้คำว่า แห่งประเทศไทย ต่อท้าย
และยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สินหรือการขายสินค้า หรือสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมากจากการบริจาคให้แก่องค์กรดังกล่าว
โดยการบริจาคผ่านระบบ e-Donation จะสามารถหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า โดยไม่ต้องเก็บหลักฐานการบริจาคไว้ เพราะเป็นระบบบริจาคเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่กรมสรรพากรใช้รองรับข้อมูลการรับบริจาคของหน่วยงานต่างๆ เพื่อความสะดวกสบายแก่ประชาชน
กล่าวโดยสรุป เมื่อบุคคลธรรมดา และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ทำการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่การกีฬาแห่งประเทศไทย หรือสมาคมกีฬาที่ใช้คำว่า แห่งประเทศไทย จะเห็นได้ว่านโยบายสนับสนุนและส่งเสริมการกีฬาดังกล่าว ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนด้านการกีฬามากขึ้น ซึ่งการบริจาคนั้นจะต้องบริจาคผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากรเท่านั้น
นอกจากนี้ยังสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ถึง 2 เท่าทีเดียว ซึ่งมาตรการนี้ถือว่ามีประโยชน์ต่อผู้ให้และผู้รับเป็นอย่างมาก
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ Inflow Accounting