ขายอาหารเดลิเวอรี่ ต้องเสียภาษีอย่างไร
ร้านขายอาหารก็เป็นส่วนหนึ่งที่ใช้บริการแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ต่างๆ หากมีรายได้ มีกำไร หรือขาดทุนเท่าไหร่ ก็ต้องยื่นภาษีทุกปี ส่วนจะต้องเสียภาษีเพิ่มหรือไม่ และเสียเพิ่มเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับเงินได้สุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่างๆ
เพราะการใช้บริการแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ที่เพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้มีผู้ประกอบการแพลตฟอร์มสั่งอาหารเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งการแข่งขันของแต่ละแพลตฟอร์มนั้น จะพยายามสร้างความแตกต่างด้านบริการที่หลากหลายเพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค
นอกจากนี้ร้านขายอาหารก็เป็นส่วนหนึ่งที่ใช้บริการแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ต่างๆ ในการส่งอาหาร ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารเล็กหรือใหญ่ มีหน้าร้านหรือไม่มีหน้าร้าน หากมีรายได้ มีกำไร หรือขาดทุนเท่าไหร่ ก็ต้องยื่นภาษีทุกปี เป็นหน้าที่ตามกฎหมายของทุกคน ส่วนจะต้องเสียภาษีเพิ่มหรือไม่ และเสียเพิ่มเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับเงินได้สุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่างๆ และเรื่องภาษีมีรายละเอียดอีกมากมาย ซึ่งในวันนี้จะพามาค้นหาคำตอบเกี่ยวกับภาษีที่เจ้าของร้านอาหารเดลิเวอรี่สงสัย ว่าตนเองจะต้องเสียภาษีอะไรบ้าง สามารถอธิบายได้ดังนี้
เปิดขายอาหารผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ มีภาษีอะไรบ้างที่เกี่ยวข้อง
เนื่องจากความรู้เกี่ยวกับ ภาษีขายอาหารผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ ถือว่าเป็นข้อมูลพื้นฐานที่มีความจำเป็นต่อการขายอาหารเป็นอย่างมาก ซึ่งผู้มีรายได้จำเป็นต้องทราบก่อนว่า บุคคลธรรมดาเมื่อมีรายได้อื่นๆ ที่ไม่ใช่เงินเดือน 60,000 บาท ต้องยื่นภาษี โดยมีภาษีที่เกี่ยวข้องดังนี้
1.เสียภาษีแบบบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล เมื่อมีการขายอาหารผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่เกิดขึ้น นับเป็นภาษีเงินได้จากการขายอาหาร ซึ่งจะมีการแบ่งการคำนวณเป็น 2 ประเภท คือ
1.1 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากเป็นร้านอาหารที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล มีวิธีการคำนวณ 2 แบบ คือ
– (รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย
– รายได้ x 0.5% (สำหรับรายได้ที่เกิน 1 ล้านบาทต่อปี)
จากนั้นให้ดูรายได้ นำทั้ง 2 แบบมาเปรียบเทียบ หากตัวเลขไหนมากกว่าให้ใช้แบบนั้นยื่นภาษี
1.2 ภาษีเงินได้นิติบุคคล หากร้านอาหารมีการจดทะเบียนเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล วิธีการคำนวณภาษีคือ (รายได้ – ค่าใช้จ่าย) = กำไรสุทธิ แล้วนำกำไรสุทธิที่ได้มาคิดภาษีตามอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล
2.ภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับร้านขายอาหารผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่แบบมีหน้าร้านและไม่มีหน้าร้าน หากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท ต้องดำเนินการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยกฎหมายมีการบังคับให้ผู้มีรายได้จากการประกอบธุรกิจเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไม่เกิน 30 วัน นับจากวันที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มทุกๆ เดือน นับตั้งแต่วันที่ยื่นจดทะเบียนเป็นต้นไป
3.ภาษีออนไลน์ (กรณีลูกค้าโอนเงินซื้ออาหารผ่านหน้าร้าน) เป็นการส่งข้อมูลยอดเงินของเจ้าของบัญชีเงินฝากธนาคารทั้งที่เปิดแบบบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ให้แก่สรรพากร โดยมีเงื่อนไขในการส่งข้อมูลให้สรรพากรคือ มีเงินเข้าบัญชี 3,000 ครั้งต่อปี ไม่ดูจำนวนเงิน หรือมีเงินเข้าบัญชี 400 ครั้งต่อปี โดยนับเฉพาะจำนวนเงินรับฝากเข้า และมีจำนวนเงินที่รับฝากรวมเกิน 2 ล้านบาท
4.ภาษีป้าย ในกรณีร้านอาหารมีหน้าร้านและมีการติดป้ายชื่อร้าน ยี่ห้อ เครื่องหมายการค้า หรือการโฆษณาร้าน ที่ประกอบด้วยอักษร ภาพ ไม่ว่าจะเป็นป้ายทั่วไป ป้ายผ้าใบ รวมถึงป้ายไฟ
สำหรับร้านอาหารที่เปิดแบบไม่มีหน้าร้าน ขายผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่เท่านั้น จะต้องยื่นภาษีด้วยเช่นกัน โดยกรมสรรพากรนั้นจะมีฐานข้อมูลร้านอาหารเดลิเวอรี่ รวมถึงรายได้ในแต่ละเดือน จากการที่แพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ต้องยื่นเสียภาษีในทุกๆ เดือนอยู่แล้ว ดังนั้นไม่ว่าจะเปิดหน้าร้านด้วย หรือขายผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่อย่างเดียวก็จำเป็นต้องนำรายได้จากทุกช่องทางขายมารวมกันเพื่อคำนวณอัตราภาษี และควรยื่นภาษีในทุกๆ ปีเช่นกัน
ค่าลดหย่อนร้านอาหารผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่มีอะไรบ้าง
ในกรณีร้านอาหารมีหน้าร้านและไม่มีหน้าร้าน แบบบุคคลธรรมดา ต้องยื่นภาษีเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 หรือมาตรา 40(8) และมีรายละเอียดลดหย่อนได้ดังนี้
-เจ้าของร้านอาหารสามารถลดหย่อนภาษีจากค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้ เช่น ค่าใช้จ่ายส่วนตัว สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้เป็นจำนวนเงิน 60,000 บาทโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ รวมถึงค่าลดหย่อนสำหรับครอบครัว ค่าการทำประกัน และการลงทุน หรือค่าเงินบริจาค โดยเจ้าของร้านอาหารควรที่จดบัญชีรายได้ และรายจ่ายไว้
-นอกจากการลดหย่อนจากค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว สำหรับการเข้าร่วมโครงการของรัฐก็ช่วยให้ร้านอาหารนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษีได้ เช่น โครงการคนละครึ่ง และโครงการช้อปดีมีคืน ก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
หากเป็นในกรณีร้านอาหารที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จะมีค่าลดหย่อนที่สามารถนำมาใช้ได้ เช่น การลดหย่อนภาษีจากค่าเสื่อม ค่าสึกหรอของอุปกรณ์ต่างๆ ภายในร้าน การลดหย่อนภาษีจากการอบรมพนักงาน ลดหย่อนภาษีจากการทำประกันความคุ้มครอง เป็นต้น
กล่าวโดยสรุป สำหรับร้านอาหารทั้งที่มีหน้าร้านและไม่มีหน้าร้าน ที่ไม่เคยยื่นภาษีมาก่อนนั้น หากรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ทางกรมสรรพากรกำหนดจะไม่เป็นปัญหา แต่หากกรมสรรพากรตรวจสอบแล้วพบว่ารายได้ต่อปีเกิน 1.8 ล้านบาท อาจมีการเรียกเก็บย้อนหลังไปตามระเบียบ และการหลบหลีกหรือไม่ยื่นภาษีเลยนั้นไม่ใช่ทางออกที่ดี เพราะยิ่งนานไปหากกรมสรรพากรตรวจสอบพบก็อาจโดนเรียกเก็บค่าปรับย้อนหลังด้วยเช่นกัน
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ Inflow Accounting