posttoday

“Easy E-Receipt” กับเงื่อนไขโครงการซื้อสินค้าและบริการใช้ลดหย่อนภาษีได้

03 มกราคม 2567

สำหรับผู้ที่พลาดโอกาสจากโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เนื่องจากมีคุณสมบัติไม่ตรงตามเงื่อนไข จากกรณีดังกล่าวข้างต้น ทำให้รัฐผุดโครงการที่มีชื่อว่า “Easy E-Receipt” เพื่อมอบให้กับผู้ที่พลาดโอกาสจากโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไปในตัว

          สำหรับผู้ที่พลาดโอกาสจากโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เนื่องจากมีคุณสมบัติไม่ตรงตามเงื่อนไขที่โครงการกำหนด กล่าวคือ ผู้มีรายได้น้อยกว่า 70,000 บาท แต่มีเงินฝากเกิน 500,000 บาท ก็จะไม่สามารถเข้าร่วมรับสิทธิเงินดิจิทัล 10,000 บาทได้ หรือมีรายได้มากกว่า 70,000 บาท แต่มีเงินฝากในธนาคารน้อยกว่า 500,000 บาท ก็ไม่สามารถเข้าร่วมสิทธิได้เช่นกัน 

          ดังนั้นจากกรณีดังกล่าวข้างต้น ทำให้รัฐผุดโครงการที่มีชื่อว่า “Easy E-Receipt” ขึ้นมา หรือชื่อเดิม “โครงการ E-Refund” เพื่อมอบให้กับผู้ที่พลาดโอกาสจากโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท  แถมยังเป็นมาตรการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไปในตัวอีกด้วย ซึ่งโครงการ “Easy E-Receipt” เป็นการซื้อสินค้าและบริการ ที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท โดยจะมีเงื่อนไขโครงการอย่างไรบ้าง นอกจากนี้สามารถซื้อสินค้าและบริการลักษณะไหนที่นำมาลดหย่อนภาษีได้บ้าง ลองมาศึกษารายละเอียดไปพร้อมๆ กันดังนี้ 

เสียภาษีไว้เกินสามารถขอคืนภาษีได้ (E-Refund)

          การขอคืนภาษี (E-Refund) เป็นกระบวนการที่รัฐบาลคืนเงินให้กับผู้เสียภาษีเกินในปีภาษีที่ผ่านมา ดังนั้นผู้เสียภาษีสามารถขอคืนภาษีได้โดยยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประจำปี ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 ผ่านเว็บของกรมสรรพากร พร้อมเอกสารประกอบที่จำเป็น โดยการส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องกับรายได้ที่ได้รับผ่านระบบออนไลน์ ใช้เวลายื่นภาษีประมาณตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายนของทุกปี หลังจากนั้นทางกรมสรรพากรจะพิจารณาการขอคืนเงินดังกล่าวตามเงื่อนไขและคืนเงินภาษีบางส่วนที่เกินจำนวนที่ผู้เสียภาษีจ่ายจริงกลับมาให้แก่ผู้มีรายได้

          ดังนั้นผู้เสียภาษีหากยื่นชำระภาษีเกินมา สามารถทำตามขั้นตอนการขอคืนได้ โดยเข้าไปที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร จากนั้นให้คลิกที่สอบถามการคืนภาษี (E-Refund) กรอกข้อมูลส่วนตัว หน้าเว็บไซต์จะถามว่าต้องการขอคืนภาษีที่ชำระเกินหรือไม่ หากต้องการให้คลิกตกลงเพื่อขอคืนภาษีที่ชำระเกินได้ทันที

โครงการ Easy E-Receipt ไม่สามารถซื้อสินค้าและบริการบางประเภทได้

          สำหรับผู้มีรายได้เข้าเกณฑ์ต้องเสียภาษี และกลุ่มผู้มีรายได้สูงที่ไม่ได้รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท ก็จะสามารถเข้าร่วมโครงการ Easy E-Receipt นี้ได้ โดยมีการกำหนดสินค้าและบริการบางประเภทที่ไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีตามมาตรการได้ ประกอบด้วย 6 รายการด้วยกัน ดังนี้
          1.ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์ 
          2.ค่าซื้อยาสูบ
          3.ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
          4.ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
          5.ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต ค่าบริการสำหรับบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาว ซึ่งเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 ม.ค. 67 หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 15 ก.พ. 67 แม้ว่าจะจ่ายค่าบริการระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 67 ถึงวันที่ 15 ก.พ. 67 ก็ตาม
          6.ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
          นอกจากนี้ยังมีสินค้าและบริการที่สามารถใช้สิทธิได้จำนวน 3 รายการ ที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกอบด้วย
          1.ค่าหนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร
          2.ค่าบริการหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
          3.ค่าสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว

เงื่อนไขพร้อมคุณสมบัติ โครงการ Easy E-Receipt เพื่อใช้ในการลดหย่อนภาษี

          โครงการ Easy E-Receipt หรือ “โครงการ E-Refund” เดิม ผู้มีรายได้ถึงเกณฑ์เสียภาษี สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าและบริการสูงสุด 50,000 บาท มาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ตามเกณฑ์รายได้สูงสุดที่อัตรา 35% หากใช้สิทธิลดหย่อน 50,000 บาท จะได้เงินคืนภาษีสูงสุดถึง 17,500 บาทต่อคน โดยจะต้องซื้อสินค้าจากร้านค้าที่เข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ ผ่านระบบ e-Tax invoice ของกรมสรรพากร 

          ดังนั้นเงื่อนไขและคุณสมบัติสำหรับโครงการ Easy E-Receipt หลักๆ จึงประกอบด้วย  

          1.ผู้มีรายได้ที่ถึงเกณฑ์เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทุกคน สามารถใช้สิทธิ์โครงการ Easy E-Receipt ได้
          2.ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
          3..รองรับผู้ที่มีรายได้ทั้งที่เกินและไม่เกิน 70,000 บาท
          4.ผู้ที่รับเงินโครงการเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท ยังสามารถเข้าร่วม Easy E-Receipt เพื่อลดหย่อนภาษีได้
          5.ซื้อสินค้าจากร้านค้าที่อยู่ในฐานระบบภาษี ที่สามารถออกใบกำกับภาษีในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้เท่านั้น
          6.นำใบกำกับภาษีจากการซื้อสินค้าและบริการ มูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท มาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 

โครงการ Easy E-Receipt มีหลักการคำนวณภาษียังไง

          สำหรับโครงการ Easy E-Receipt มีหลักการคำนวณลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ที่ซื้อสินค้าและบริการมูลค่า 50,000 บาท จะสามารถนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ตามเกณฑ์รายได้สูงสุดอัตรา 35% หากใช้สิทธิลดหย่อนเต็มจำนวน 50,000 บาท ในอัตราภาษีที่ต้องเสีย 35% ผู้เสียภาษีจะได้คืนภาษีสูงสุดถึง 17,500 บาทต่อคน หรือหากใช้สิทธิลดหย่อนแค่ 10,000 บาท อัตราภาษีที่ต้องเสียอยู่ที่ 35% ก็จะได้คืนภาษี 3,500 บาท และอัตราภาษีต่ำสุดที่ 5% จะได้เงินคืนภาษีอยู่ที่ 500 บาท ตามตารางดังนี้

“Easy E-Receipt” กับเงื่อนไขโครงการซื้อสินค้าและบริการใช้ลดหย่อนภาษีได้       
          ผู้เสียภาษีสามารถยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ที่สำนักงานสรรพากรในพื้นที่ หรือยื่นแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร ทั้งนี้หากมีภาษีที่ชำระไว้เกิน ทางกรมสรรพากรจะดำเนินการคืนเงินภาษีให้ผ่านระบบพร้อมเพย์

          กล่าวโดยสรุป โครงการ Easy E-Receipt เป็นมาตรการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ สนับสนุนการบริโภคภายในประเทศรวมถึงสนับผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีให้ใช้จ่ายผ่านระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเบื้องต้นโครงการ Easy E-Receipt จะเริ่มต้นใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 โดยสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าและบริการตามส่วนที่จ่ายจริงไปหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 50,000 บาท ตามข้อมูลที่นำเสนอไปข้างต้น

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่  Inflow Accounting