สรรพากรแจ้ง! อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มต้องมีบัญชีพิเศษ
การขายของผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เป็นอาชีพยอดฮิตในปัจจุบัน ซึ่งรายได้ต้องมีการยื่นและเสียภาษี กรมสรรพากรจึงได้มีคำสั่งให้ จัดทำบัญชีพิเศษขึ้น เพื่อนำส่งข้อมูลรายรับของผู้ประกอบการ บังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
อาชีพยอดฮิตในปัจจุบันคงหนีไม่พ้นการขายของออนไลน์ ซึ่งมีพ่อค้าแม่ค้าขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Shopee, Instagram, TikTok, Lazada, Line Man, Grab เป็นต้น ซึ่งรายได้จากการขายของออนไลน์เหล่านี้ ควรมีการยื่นและเสียภาษีให้ถูกต้องด้วย แต่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ส่วนใหญ่ จะขายในนามบุคคลธรรมดา จึงไม่เชี่ยวชาญเรื่องภาษี บางรายอาจยื่นผิดพลาด หรือในหลายๆ รายก็ไม่ได้ยื่นภาษีหรือเสียภาษีเลยก็มี
และด้วยเหตุนี้เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา กรมสรรพากรจึงได้มีคำสั่งให้อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มต่างๆ จัดทำบัญชีพิเศษขึ้น เพื่อนำส่งข้อมูลรายรับของผู้ประกอบการให้กับกรมสรรพากร โดยจะมีผลบังคับใช้กับข้อมูลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
โดยรายละเอียดหรือข้อกำหนดเกี่ยวกับประกาศฉบับนี้มีอะไรบ้าง และผู้ประกอบการออนไลน์ต้องทราบเกี่ยวกับภาษีอย่างไรบ้าง ลองมาพิจารณาไปพร้อมๆ กันดังนี้
เงื่อนไขและข้อกำหนดเกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มต้องมีบัญชีพิเศษ
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป กรมสรรพากรได้กำหนดเงื่อนไขให้อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มที่เป็นศูนย์กลางการค้าขายและให้บริการ เช่น Tiktok Shopee Lazada Line Man Grab ที่จดทะเบียนในประเทศไทย และมีรายได้ในรอบบัญชีเกิน 1,000 ล้านบาท ต้องทำบัญชีพิเศษ หรือบัญชีที่แสดงข้อมูลรายรับของอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มที่ได้รับจากผู้ประกอบการ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่ขายสินค้า หรือบริการบนแพลตฟอร์ม โดยต้องนำส่งไปให้กรมสรรพากร ภายใน 150 วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี และหากในกรณีแพลตฟอร์มที่จดทะเบียนในประเทศไทยในปีถัดไปมีรายได้ไม่ถึง 1,000 ล้านบาท ก็ยังจำเป็นต้องทำบัญชีพิเศษต่อไปด้วย
นอกจากนี้การจัดทำบัญชีพิเศษสำหรับอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มจะต้องนำส่งข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏอยู่บนแพลตฟอร์มเพื่อความโปร่งใส ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1. จำนวนเงินฐานในการคำนวณรายรับอื่นๆ (รวมทุกบัญชีของผู้ประกอบการขายสินค้าหรือให้บริการบนอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม)
2.เลขบัตรประจำตัวประชาขน หรือเลขทะเบียนนิติบุคคลของผู้ประกอบการขายสินค้า หรือให้บริการบนอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม
3.ชื่อกลางของผู้ประกอบการขายสินค้าหรือให้บริการบนอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม
4.ยอดรวมจำนวนเงินที่เป็นฐานในการคำนวณค่าธรรมเนียม (รายรับค่าธรรมเนียม) (รวมทุกบัญชีของผู้ประกอบการขายสินค้าหรือให้บริการบนอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม)
5.ยอดรวมจำนวนเงินที่เป็นฐานในการคำนวณค่านายหน้า (รายรับค่านายหน้า) (รวมทุกบัญชีของผู้ประกอบการขายสินค้าหรือให้บริการบนอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม)
6.ข้อมูลบัญชีธนาคาร (รวมทุกบัญชีของผู้ประกอบการขายสินค้าหรือให้บริการบนอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม)
7.ชื่อผู้ประกอบการ ชื่อนิติบุคคลของผู้ประกอบการขายสินค้าหรือให้บริการบนอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม
ผู้ประกอบการ (พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์) ต้องเสียภาษีตามเงื่อนไขใดบ้าง
จากประกาศของกรมสรรพากร ทำให้สามารถประเมินสถานการณ์ได้ว่า ผู้ประกอบการ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่ขายสินค้า หรือบริการบนแพลตฟอร์มเหล่านี้ จะถูกส่งข้อมูลรายได้ให้กับกรมสรรพากร จึงถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้กรมสรรพากรสามารถรู้รายได้ของพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ได้
ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่ทำธุรกิจในนามบุคคลธรรมดา โดยเฉพาะที่มีบริการผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ต้องวางแผนภาษีให้ดี และจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องยื่นภาษี พร้อมกับเสียภาษีหากคำนวณแล้วมีภาษีที่ต้องเสีย
โดยต้องประเมินเบื้องต้นก่อนว่ารายได้ที่ได้รับมามากน้อยแค่ไหน ซึ่งสำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผู้ที่มีรายได้จากการขายของออนไลน์เกิน 60,000 บาท ต้องยื่นภาษี และถ้ามีเงินได้สุทธิ 150,000 บาทขึ้นไป จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งจัดอยู่เงินได้พึงประเมินที่ 8 หรือมาตรา 40 (8) โดยจะต้องยื่นภาษี 2 ช่วงด้วยกัน ซึ่งประกอบด้วย
- ภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) ให้นำรายได้ตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน ของปีภาษีนั้น มายื่นภาษีช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน ของปีที่มีเงินได้ หรือยื่นผ่านอินเตอร์เน็ตได้ภายในวันที่ 8 ตุลาคมของทุกปี
– ภาษีสิ้นปี (ภ.ง.ด.90) ให้นำรายได้ช่วงเดือนมกราคม – ธันวาคม ของปีภาษี ยื่นภาษีตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม ของปีภาษีถัดไป หรือยื่นผ่านอินเตอร์เน็ตภายในวันที่ 8 เมษายนของปีถัดไป
ทั้งนี้ มีหลักการคำนวณภาษีคือ ให้นำรายได้หักลบด้วยค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน จากนั้นนำมาคูณกับอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภาษีก้าวหน้า) ก็จะได้เป็นภาษีที่ต้องเสีย
นอกจากนี้ยังมีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับรายได้ที่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ต้องระวัง คือ เมื่อผู้ประกอบการ (พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์) ที่ทำการค้าขายหรือบริการผ่านอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มต่างๆ หากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท ต้องดำเนินการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
โดยกฎหมายมีการบังคับให้ผู้มีรายได้จากการประกอบธุรกิจเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไม่เกิน 30 วัน นับจากวันที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มทุกๆ เดือน นับตั้งแต่วันที่ยื่นจดทะเบียนเป็นต้นไป แม้ว่าเดือนนั้นจะไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องส่งก็ตาม
กล่าวโดยสรุป จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่ากรมสรรพากรสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ตรงตามกลุ่มเป้าหมายและสามารถเจาะลึกได้ยิ่งขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการ (พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์) ต้องเตรียมตัวนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป คือ การยื่นภาษีให้ถูกต้องตรงเวลาและการจัดทำบัญชีให้ถูกต้อง ซึ่งอาจทำให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์หนักใจอยู่ไม่น้อย เพราะเรื่องภาษีและบัญชีอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับใครหลายคน
และใครที่คิดจะอยู่นอกระบบภาษีเหมือนแต่ก่อนคงทำได้ยากขึ้น เพราะแพลตฟอร์มต้องแจ้งรายละเอียดว่าได้รับค่าธรรมเนียม ค่านายหน้ามาจากพ่อค้าแม่ค้ารายใด เป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ คำนวณจากธุรกรรมมีมูลค่ากี่บาท โดยข้อมูลจะถูกส่งต่อไปที่กรมสรรพากรโดยตรง จึงทำให้สรรพากรรู้ตัวคนขายและรายได้ที่ชัดเจนด้วย
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ Inflow Accounting