posttoday

เปิดกรณีศึกษา Swiftonomics ปั้น "ไทยแลนด์ดินแดนคอนเสิร์ต"

07 มีนาคม 2567

BOI เปิดกรณีศึกษา Swiftonomics ทั้งในสิงคโปร์และต่างแดน ปั้น "ไทยแลนด์ดินแดนคอนเสิร์ต" ดึงเม็ดเงินแฟนคลับต่างชาติ กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ

จากประเด็นร้อนแรงของการทัวร์คอนเสิร์ตของนักร้องคนสวยอย่าง Taylor Swift ในภูมิภาคอาเซียนจากการประกาศ Eras Tours: World Tour ครั้งล่าสุด ซึ่งไม่มีไทย จากใจสวิฟตี้คนนึง (ชื่อแฟนคลับของ Taylor Swift) ที่ควักกระเป๋าซื้อบัตรเมื่อปี 2014 ไว้แต่คอนเสิร์ตถูกยกเลิกไปด้วยเหตุผลบางประการ ทำให้ครั้งนี้มีความหวังมากว่าต้องได้เห็นเทย์ที่ไทยแต่แล้วก็ต้องผิดหวังอีกรอบ เมื่อไม่มีไทยอยู่ใน List คำถามคือ ทำไม? ในแพลตฟอร์ม “X” มีผู้เดาสาเหตุกันไปต่าง ๆ นา ๆ แต่เพิ่งมีเฉลยออกมาเมื่อไม่นานมานี้ว่าสิงคโปร์มีดีลไว้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกินคาดไม่น้อย

Swiftonomics Effect 
Swiftomics คือ คำที่ใช้อธิบายผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการทัวร์คอนเสิร์ตของ Taylor Swift ที่สามารถดึงดูดเม็ดเงินมหาศาล และช่วยกระตุ้น GDP ของประเทศ โดย Bloomberg Economics รายงานว่า Eras Tour ของ Taylor Swift สามารถเพิ่ม GDP ให้กับสหรัฐอเมริกาได้มากว่า 4.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ไม่ว่าจะมีการจัดคอนเสิร์ตที่เมืองไหน ก็จะมียอดการจองโรงแรมเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ แล้วยังทำให้ร้านอาหาร ตลอดจนสถานที่ท่องเที่ยวในท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย 

ทั้งนี้คาดว่าคอนเสิร์ตของ Taylor Swift จะช่วยสร้างเม็ดเงินเข้าสิงคโปร์มากกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยราคาห้องพัก โรงแรม รวมถึงเที่ยวบินในช่วงเวลาที่จัดคอนเสิร์ตมีมูลค่าสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ไม่เพียงแค่สิงคโปร์เท่านั้น แต่ทุกเมืองที่ Taylor Swift ไปจัดคอนเสิร์ตส่งผลบวกต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวของเมืองนั้นด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้ผู้นำประธานบางรายถึงกับใช้ Social Media ในการเชิญชวนให้ Taylor Swift มาเล่นคอนเสิร์ตที่ประเทศตัวเอง อาทิ นายกรัฐมนตรีแคนาดา Justin Trudeau หรือประธานาธิบดีชีลี Gabriel Boric ที่เคยแสดงความประสงค์อยากให้เทย์มาจัดคอนเสิร์ตที่ชิลีบ้าง 

อุตสาหกรรมคอนเสิร์ตขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างไร
ไม่เพียงแต่คอนเสิร์ตของ Taylor Swift เท่านั้น แต่ทุกครั้งที่มีการจัดคอนเสิร์ตจะเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจขึ้น โดยการจัดคอนเสิร์ต 1 ครั้ง นั้นเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย ไม่ว่าจเป็น นักร้จะง ค่ายเพลง นักดนตรี สถานที่ ผู้จัดงาน แฟนเพลงหรือผู้ชม ฝ่ายขายและประชาสัมพันธ์ หน่วยงานที่กำกับดูแล ตลอดจนธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ขนส่งสาธารณะ โรงแรม และร้านอาหาร เป็นต้น ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Oxford Economics และ Munich Personal RePEc Archive (MPRA) ระบุว่า คอนเสิร์ตมีความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ โดยในปี 2019 ธุรกิจคอนเสิร์ตสามารถสร้างรายได้ในสหรัฐฯ มากถึง 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งยังทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 9 แสนตำแหน่งอีกด้วย 
    
ในปีที่ผ่านมา มีงานคอนเสิร์ตในประเทศไทยแทบทุกอาทิตย์ ไม่ว่าจะเป็น ไทย เทศ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น หากไปตามคอนเสิร์ตก็จะเห็นแฟนคลับทั้งชาวไทยและต่างชาติมาชมคอนเสิร์ตเป็นจำนวนมาก ยิ่งระยะหลังมานี้จะพบชาวต่างชาติเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยหรือแม้กระทั่งผู้ที่บินตามศิลปินมาจากต่างประเทศ เพื่อมาดูคอนเสิร์ตนี้โดยเฉพาะ (Gig Tripping) ซึ่งกลุ่มหลังนี้ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก เนื่องจากการมาดูคอนเสิร์ตนั้นไม่ได้มีแค่ค่าบัตรคอนเสิร์ต หากแต่ยังมีค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าสินค้า (Goods) ค่าแท่งไฟ เป็นต้น ทั้งนี้ การจัดคอนเสิร์ตยังก่อให้เกิดธุรกิจใหม่อีกด้วย เช่น ธุรกิจรับจ้างกดบัตรคอนเสิร์ต หรือธุรกิจให้เช่าแท่งไฟ เช่าโทรศัพท์มือถือ หรือ เช่า Adapter เป็นต้น

ทำไมถึงมีชาวต่างชาติมาดูคอนเสิร์ตที่ไทยเพิ่มขึ้น?
ประการแรก คือ การที่ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยว มีค่าครองชีพไม่สูงนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่น จึงมีนักท่องเที่ยวหลายรายที่มาดูคอนเสิร์ตเสร็จแล้วก็มีแผนที่จะเที่ยวต่อ ยิ่งตอนนี้ที่ไทยยกเว้นวีซ่าให้กับชาวจีน คาดว่าในอนาคตจะมีชาวจีนบินมาดูคอนเสิร์ตที่ประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีกมาก  

ประการที่สอง คือ ช่วงที่ผ่านมามีศิลปินเบอร์ใหญ่มาเล่นคอนเสิร์ตที่ไทยอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น Coldplay, Sam Smith, Blackpink, Jay Chou, One OK Rock และ Ed Sheeran ฯลฯ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่ดีพอที่จะจัดคอนเสิร์ตได้

ประการที่สาม คือ กระแส T - Pop ซึ่งถือได้ว่าเป็น Soft Power ที่มีการเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันศิลปิน T - Pop และซีรีส์วายของไทยได้รับความนิยมมากที่ต่างประเทศ โดยหลายวงโกอินเตอร์ จัดคอนเสิร์ต แฟนมิตติ้งที่ต่างประเทศ ทำให้มีกลุ่มแฟนคลับต่างชาติที่สามารถร้องเพลงไทย และตามมาดูคอนเสิร์ตที่ประเทศไทยด้วย 

อยากจะเป็น “ไทยแลนด์ดินแดนคอนเสิร์ต” ควรทำอย่างไร
ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีจุดแข็งอยู่ที่การเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค มีระบบคมนาคมที่มีศักยภาพ สามารถเชื่อมต่อกับประเทศอื่นในภูมิภาค แต่การจัดคอนเสิร์ตการจัดคอนเสิร์ตใน Scale ใหญ่นั้น มักจะจัดวนกันอยู่ไม่กี่แห่ง ที่พบบ่อยจะมี Impact Arena, Thunder Dome, สนามราชมังคลากีฬาสถาน ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตต์ สยามพารากอน สนามศุภชลาศัย Union Mall หรือล่าสุด UOB Live

ทั้งนี้สังเกตได้ว่าการจัดคอนเสิร์ตส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นที่ กรุงเทพ หรือ นนทบุรี เนื่องจากมีสถานที่พร้อมในการจัดคอนเสิร์ต อย่างไรก็ตาม สถานที่ทำการแสดงยังอยู่ห่างจากจุดที่เป็น Hub ในการเดินทาง ต้องต่อรถสองแถวบ้าง วินมอเตอร์ไซค์บ้าง แท็กซี่บ้าง บางครั้งถึงกับต้องเดินออกมาซักระยะนึง จึงจะสามารถหารถกลับบ้านได้  

ขณะที่สิงคโปร์เร่งผลักดันตนเองไปสู่การเป็น Business Event Hub ผ่านโครงการ Business Events in Singapore (BEiS) ซึ่งดำเนินการโดย Singapore Exhibition & Convention BureauTM (SECB) หน่วยงานภายใต้การท่องเที่ยวสิงคโปร์ (Singapore Tourism Board: STB)

โดยรัฐบาลสิงคโปร์เร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน สร้างสนามกีฬาขนาดใหญ่ติดแอร์ที่มีหลังคาเปิด - ปิดได้ สร้างสถานที่แสดงสินค้าขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนจัดกิจกรรมสนับสนุนการจัด Event อาทิช่วยหาสถานที่ในการจัดงาน แนะนำให้กับหน่วยงานรัฐบาลและภาคธุรกิจ รวมถึงทำการตลาดและประชาสัมพันธ์ นอกจากนี้ ยังให้เงินสนับสนุนอีกด้วย ถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการจัดคอนเสิร์ตที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ดังนั้นการจะเป็น ไทยแลนด์ดินแดนคอนเสิร์ต ควรคำนึงถึงปัจจัยดังต่อไปนี้

1)    สร้างสถานที่แสดงคอนเสิร์ตที่มีมาตรฐาน มีการเดินทางที่สะดวก
ถึงแม้ว่าไทยจะมีสถานที่ทำการแสดงคอนเสิร์ต ทั้งแบบ Indoor และ Outdoor อยู่แล้วก็ตาม แต่กลับอยู่ห่างจากจุดที่เป็น Hub ของการขนส่ง ทำให้การเดินทางไม่ได้รับความสะดวกสบายเท่าที่ควร ควรปรับปรุงการเชื่อมต่อระหว่างระบบขนส่งมวลชนและสถานที่แสดงคอนเสิร์ตให้เข้าถึงง่ายมากขึ้น เช่น เพิ่มเส้นทางการเดินรถขนส่งมวลชน เป็นต้น 

นอกจากนี้ ประเทศไทยเป็นเมืองร้อน การจัดคอนเสิร์ตแบบ Outdoor อาจเกิดปัญหาเมื่อมีอากาศร้อน และจะยิ่งแย่เมื่อมีฝนตก หากปรับปรุงสถานที่จัดคอนเสิร์ตให้มีหลังคาเปิดปิดได้ หรือติดเครื่องปรับอากาศ จะช่วยให้บรรยากาศในการชมคอนเสิร์ตดีขึ้น ป้องกันการเกิด Heat Stroke ได้ด้วย 

อย่างไรก็ตาม การจัดคอนเสิร์ตแต่ละครั้งก่อให้เกิดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมมาก ควรสร้างสถานที่จัดคอนเสิร์ตที่มีระบบที่มีการใช้พลังงานหมุนเวียนและมีเครื่องมืออุปกรณ์ติดตั้งพร้อมใช้ (Plug and Play) เพื่อลดการขนย้ายให้มากที่สุด 

2)    ผลักดันให้ T-Pop เป็นที่รู้จักในระดับโลกมากขึ้น
สามารถดำเนินการได้โดยประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักในระดับโลกมากขึ้นผ่านการสร้างเครือข่ายในระดับสากล ผลักดันให้ศิลปิน T - Pop สามารถแสดงบนเวทีระดับโลกได้ เพื่อให้แบรนด์ T - Pop เป็นที่รู้จักในระดับสากล สามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาองค์ประกอบอื่นในอุตสาหกรรมได้

3)    ประชาสัมพันธ์งานเทศกาลดนตรีให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น 
ปัจจุบันไทยมีเทศกาลดนตรีเยอะมาก ซึ่งจัดทั้งในกรุงเทพ และตามเมืองใหญ่ต่าง ๆ หากได้รับการประชาสัมพันธ์ที่ดีทั้งในระดับประเทศ และภูมิภาค ผ่าน Social Media Platform ต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้เทศกาลดนตรีในไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น 

4)    ราคาบัตรคอนเสิร์ตแพง
เรื่องนี้ไม่พูดถึงคงไม่ได้ ในฐานะที่เป็นผู้บริโภคและเป็นแฟนคลับที่อยู่หลายด้อม การที่ศิลปินจัดคอนเสิร์ตในเวลาใกล้ๆ นั้นสร้างความลำบากไม่น้อย ครั้นจะไปคอนเสิร์ตทุกครั้งก็ไม่ได้ ราคาบัตรคอนเสิร์ตเดี๋ยวนี้ก็แพงสุดใจ จากประสบการณ์ ราคาบัตรเริ่มต้นที่ 2,000 บาท อาจจะต้องระเห็จไปนั่งดูคอนเสิร์ตบนดอย เห็นศิลปินจากที่ไกลๆ ครั้นจะขยับเข้าไปในหลุมอาจจะต้องเสียเงินถึง 10,000 บาท ก็ทำใจไม่ได้จริงๆ 

แต่ทั้งนี้ การตั้งราคาบัตรของผู้จัดจะต้องพิจารณาถึงต้นทุนทั้งหมดก่อน เช่น ค่าตัวศิลปิน ค่าที่พักของศิลปินและทีมงาน ค่า Production ค่าเช่าสถานที่ ค่าลิขสิทธิ์ เป็นต้น เมื่อต้นทุนสูงทำให้ต้องตั้งราคาบัตรสูงขึ้นตามไปด้วย 

เนื่องจากบัตรคอนเสิร์ตเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ไม่มีความจำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวัน จึงไม่มีการควบคุมราคา หากรัฐจะเข้ามาดู คงต้องเป็นในเชิงของการสนับสนุนต้นทุนฝั่งผู้จัดงาน เช่นให้เงินสนับสนุนค่าเช่าสถานที่ หรือค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์ ตลอดจนอำนวยความสะดวกในการขอใบอนุญาตที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น เพื่อบรรเทาภาระในฝั่งผู้จัดให้มีต้นทุนที่ลดลง ซึ่งจะส่งผลให้ราคาบัตรคอนเสิร์ตลดลงด้วยเช่นกัน 

5)    บังคับใช้ข้อตกลงในการเข้าชมคอนเสิร์ตอย่างเป็นรูปธรรม
หลายครั้งที่ไปดูคอนเสิร์ตแล้วพบว่ามีผู้ชมบางคนพกสิ่งของต้องห้ามเข้ามาภายในพื้นที่การแสดง ให้นึกภาพตอนนั่งดูคอนเสิร์ตอยู่ดี ๆ ก็ได้กลิ่นเหม็นเขียวลอยมาพร้อมควันคลุ้ง ต่อให้ยาดมกลิ่นแรงแค่ไหนก็กลบกลิ่นเหม็นเขียวไม่อยู่ สูดไปมาก ๆ ก็ปวดหัวอีก Staff อาจจะต้องใช้เวลาในการตรวจสอบสิ่งของก่อนจะเข้าคอนเสิร์ตเพิ่มขึ้นอีกนิด ทั้งนี้ผู้จัดควรออกมาตรการลงโทษและบังคับใช้อย่างจริงจังสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน 

แล้ว BOI สนับสนุนอุตสาหกรรมคอนเสิร์ตอย่างไรบ้าง
ปัจจุบันบีโอไอยังไม่มีการสนับสนุนการลงทุนในการจัดกิจกรรมคอนเสิร์ตโดยตรง แต่มีการสนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1)    หอประชุมขนาดใหญ่
ปัจจุบันยังไม่มีการส่งเสริมการลงทุนในกิจการศูนย์การแสดงคอนเสิร์ตหรือศูนย์การแสดง (Event) แต่มีกิจการที่ใกล้เคียง ได้แก่ กิจการหอประชุมขนาดใหญ่ โดยผู้ได้จะได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมจะต้องมีการลงทุนในหอประชุมขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่ส่วนที่ใช้เพื่อการประชุมไม่น้อยกว่า 4,000 ตารางเมตร โดยห้องประชุมขนาดใหญ่ที่สุดต้องมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 3,000 ตารางเมตร และต้องมีเครื่องมือและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมกับโครงการ รวมถึงต้องมีแบบแปลนที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับการส่งเสริมจะได้รับสิทธิและประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี 

2)    แพลตฟอร์มเพื่อจำหน่ายบัตรคอนเสิร์ต
โครงการที่มีการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อจำหน่ายบัตรคอนเสิร์ตสามารถขอรับการส่งเสริมได้ตามประเภทกิจการพัฒนาซอฟต์แวร์ แพลตฟอร์มเพื่อให้บริการดิจิทัล หรือดิจิทัลคอนเทนต์ ซึ่งผู้ที่ได้รับการส่งเสริมจะได้รับยกเว้นภาษีงินได้นิติบุคคล 8 ปี

อุตสาหกรรมคอนเสิร์ตไม่เพียงแต่เป็นการเล่นดนตรีหรือแสดงศิลปะบนเวทีเท่านั้น หากแต่เป็นอุตสาหกรรมที่มีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่นอย่างแน่นแฟ้น ก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไม่เพียงแต่เป็นการสร้างรายได้หรือการจ้างงาน ยังสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมถึงสามารถแสดงศักยภาพของเมืองในการจัดงานขนาดใหญ่ ซึ่งจะต่อยอดไปสู่การจัดกิจกรรมอื่นได้ด้วย

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมคอนเสิร์ตยังเป็น Soft Power ที่มีบทบาทที่สำคัญในการส่งเสริมวัฒนธรรมและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศ การสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของประเทศ ให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก

โดย: นางสาวศุภนารี โพธิ์อ่อง
นักวิชาการส่งเสริมการลงทุน ระดับชำนาญการ
หมายเหตุ : บทความข้างต้นเป็นความคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับสำนักงานแด่อย่างใด