posttoday

ธุรกิจ SME กับภาษีที่ต้องเสียมีอะไรบ้าง

05 มิถุนายน 2567

ธุรกิจ SME เป็นธุรกิจที่มีลักษณะการบริหารแบบอิสระ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ การผลิต การค้า (ทั้งขายปลีกและขายส่ง) และการบริการ ทั้งนี้ SME จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีบางประการ

          ธุรกิจ SME เป็นธุรกิจที่มีลักษณะการบริหารแบบอิสระ ซึ่งเป็นธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดย่อมขึ้นอยู่กับกำลังทุนของผู้ประกอบการ และสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ การผลิต การค้า (ทั้งขายปลีกและขายส่ง) และการบริการ ทั้งนี้ SME จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีบางประการ เช่น ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

          นอกจากนี้ผู้ประกอบการสามารถกำหนดความเสี่ยงของธุรกิจของตัวเองได้ ดังนั้นธุรกิจ SME จึงได้รับความนิยมไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงความกดดัน ซึ่งก่อนการลงทุนในธุรกิจ SME ลองมาศึกษากันก่อนว่าธุรกิจ SME มีลักษณะอย่างไร มีภาษีอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง

ลักษณะขนาดธุรกิจ SME 

          ธุรกิจ SME มีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป โดยมีหลักการแยกลักษณะขนาดธุรกิจ SME ตามกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ.2562 มีรายละเอียดดังนี้ 

          1. ธุรกิจขนาดย่อม (รายย่อย) จำนวนคนไม่เกิน 5 คน เงินลงทุนไม่เกิน 1.8 ล้านบาท 

          2. ธุรกิจขนาดย่อม จำนวนคนไม่เกิน 50 คน เงินลงทุนไม่เกิน 100 ล้านบาท (การผลิต) และจำนวนคนไม่เกิน 30 คน เงินลงทุนไม่เกิน 50 ล้านบาท (การค้าและการบริการ)

          3. ธุรกิจขนาดกลาง จำนวนคนไม่เกิน 200 คน เงินลงทุนไม่เกิน 500 ล้านบาท (การผลิต) และจำนวนคนไม่เกิน 100 คน เงินลงทุนไม่เกิน 300 ล้านบาท (การค้าและการบริการ) (ข้อมูลจาก สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม)

ข้อมูลภาษีธุรกิจ SME

          ผู้ประกอบการธุรกิจ SME ต้องรู้ข้อมูลทางด้านภาษีซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ โดยผู้ประกอบการ SME มีหน้าที่เสียภาษี ซึ่งแบ่งได้เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ส่วนภาษีที่จัดเก็บจากการบริโภคสินค้าและบริการนั้น ได้แก่ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภาษีเงินได้ ทั้งนี้ผู้ประกอบการธุรกิจ SME ที่มีตราสารบางประเภทอาจอยู่ในข่ายต้องเสียภาษีอากรแสตมป์อีกด้วย ซึ่งสามารถอธิบายได้ดังนี้ 

          ภาษีเงินได้ ผู้ประกอบการธุรกิจ SME จะมีภาษีเงินได้เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ 2 ประเภทด้วยกัน มีรายละเอียดดังนี้

          1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ประกอบธุรกิจ SME ด้วยการให้บริการ การผลิต การค้า (ทั้งค้าปลีกทั้งค้าส่ง) และการบริการ ต้องนำรายได้มาคำนวณเพื่อหักภาษีตามเกณฑ์การประเมิน ซึ่งสามารถหักแบบเหมาจ่าย หรือขอหักตามความจำเป็นตามสมควรได้ รวมทั้งสามารถหักค่าลดหย่อนต่างๆ ได้ด้วย

          นอกจากนี้การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะต้องเสียภาษีเงินได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 0.5 ของยอดเงินได้พึงประเมินที่ยังไม่หักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน ไม่ว่าในปีนั้นจะมีผลกำไรหรือขาดทุน

          2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นภาษีสำหรับผู้ประกอบการ SME ที่จดทะเบียนนิติบุคคล ในรูปแบบบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยกรมสรรพากรเป็นผู้จัดเก็บเพื่อนำส่งรายได้ให้ภาครัฐ เก็บในอัตราสูงสุด 20% ของกำไรสุทธิ 

          ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นภาษีที่เก็บจากการบริโภคของประชาชนที่ภาระภาษีต้องตกไปยังผู้บริโภค โดยจัดเก็บผ่านผู้ประกอบการจดทะเบียนนิติบุคคลที่เป็นผู้ขายสินค้าหรือให้บริการ ผู้ประกอบการธุรกิจ SME ที่ขายสินค้าหรือให้บริการไม่ว่าจะประกอบกิจการในรูปของบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล  
          หากมีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 85, 85(1) แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยคำนวณภาษีที่ต้องเสียจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อ 
          อธิบายได้ดังนี้     1.กรณีภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องนำส่งเพิ่ม = ภาษีขาย - ภาษีซื้อ 
                                    2.กรณีภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขอเครดิตคืน = ภาษีซื้อ - ภาษีขาย 

          นอกจากนี้หากธุรกิจ SME ใด อยู่ในข่ายต้องมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว แต่ยังไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย จะต้องเสียค่าเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม คิดเป็น 2 เท่าของภาษีที่ต้องชำระได้ 

          ภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นภาษีที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจ SME ที่มีการเรียกเก็บตามกฎหมายไทย โดยจะมีการเรียกเก็บจากกิจการที่ถูกกำหนดไว้เป็นพิเศษโดยเฉพาะ ซึ่งจะแยกออกมาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะธุรกิจเฉพาะจะหามูลค่าเพิ่มจากการขายสินค้าหรือบริการได้ยาก จึงไม่สามารถใช้ Vat 7% ได้ แต่จะประเมินจากกิจกรรมที่ต้องเสียภาษี 
          โดยผู้ประกอบการจะต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะด้วยแบบคำขอ ภ.ธ.01 ภายใน 30 วันนับแต่วันเริ่มกิจการ และจะต้องชำระให้ถูกต้องตรงกำหนดวันเพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสียค่าปรับ

          ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เป็นภาษีที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจ SME รูปแบบหนึ่งที่ผู้ประกอบการผู้ทำการจ่ายเงินต้องหักไว้เมื่อมีการซื้อหรือจ่ายค่าบริการ โดยจะแตกต่างออกไปตามรูปแบบและอัตราที่สรรพากรกำหนด ซึ่งต้องนำส่งให้กรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของทุกเดือน ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดภาระการเสียภาษีของผู้มีรายได้ ที่จะต้องนำส่งในอัตราที่สูงเมื่อถึงเวลายื่นภาษี ซึ่งในกรณีที่มีรายได้รวมทั้งปีไม่ถึงตามเกณฑ์สามารถยื่นเอกสารรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย เพื่อขอเงินภาษีส่วนนี้คืนจากกรมสรรพากรได้

          อากรแสตมป์ เป็นภาษีที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจ SME ที่ถูกจัดเก็บในรูปแบบของดวงแสตมป์จากสรรพากรมาแปะติดเอาไว้ในสัญญาหรือตราสารต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด ในกรณีที่ตราสารนั้นจำเป็นต้องปิดอากรแสตมป์จำนวนมาก ผู้เสียภาษีสามารถเลือกใช้วิธีเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงินแทนการปิดอากรแสตมป์แบบปกติได้ โดยให้ติดต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่หรือสาขาใกล้บ้าน พร้อมยื่นแบบคำขอ อ.ส.4 เพื่อชำระค่าอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน

          กล่าวโดยสรุป การเป็นผู้ประกอบการ SME ที่ประสบความสำเร็จ จะต้องรอบรู้ในเรื่องของการเงิน บัญชี กฎหมาย และภาษี โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีอากรที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ SME ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ผู้ประกอบการ SME ประสบความสำเร็จ ปราศจากปัญหาความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในภายหลัง 

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่  Inflow Accounting