posttoday

แนวทางการคำนวณอัตราภาษีของธุรกิจ SME

26 มิถุนายน 2567

ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) หรือธุรกิจขนาดใหญ่ มีหน้าที่ต้องเสียภาษี SME มือใหม่อาจจะไม่คุ้นชินกับการคำนวณอัตราภาษี บทความที่จะนำเสนอต่อไปนี้อาจเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการ SME มือใหม่ได้ไม่มากก็น้อย ลองมาดูรายละเอียดกันเลย

          ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) หรือธุรกิจขนาดใหญ่ ต่างก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีด้วยกันทั้งนั้น การเสียภาษีอย่างถูกต้องช่วยป้องกันความเสี่ยงทางกฎหมาย และลดโอกาสที่จะต้องจ่ายค่าปรับได้ในอนาคต ดังนั้นธุรกิจ SME ควรศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อนำมาปรับใช้วางแผนและบริหารจัดการภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งสามารถหาแนวทางในการลดภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของธุรกิจได้อีกด้วย

          ทั้งนี้ผู้ประกอบการ SME มือใหม่อาจจะไม่คุ้นชินกับการคำนวณอัตราภาษี โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่จดทะเบียนเป็นบริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือที่เรียกกันว่านิติบุคคล ซึ่งในบทความที่จะนำเสนอต่อไปนี้อาจเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการ SME มือใหม่ได้ไม่มากก็น้อย ลองมาดูรายละเอียดกันเลย

การคำนวณอัตราภาษี SME แบบบุคคลธรรมดา

          เป็นที่ทราบกันว่าในการดำเนินกิจการขนาดเล็กแบบเจ้าของคนเดียวที่สามารถบริหารจัดการทุกอย่างได้ด้วยตัวเองหรือในกรณีที่มีบุคคล 2 คนขึ้นไป มีการลงทุนทำธุรกิจร่วมกันแต่ไม่ได้จดเป็นบริษัท เจ้าของธุรกิจทุกคนจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเช่นกัน ซึ่งการคำนวณอัตราภาษี SME แบบบุคคลธรรมดา มี 2 วิธีด้วยกัน อธิบายได้ดังนี้

          วิธีที่ 1 คำนวณภาษีจากเงินได้สุทธิ ให้นำเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่เดือน ม.ค. – ธ.ค. หักออกด้วยค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน ผลลัพธ์ที่ได้เป็นเงินได้สุทธิ จากนั้นให้นำเงินได้สุทธิไปคิดภาษีตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะได้ภาษีที่ต้องชำระประจำปี

          อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภาษีก้าวหน้า)

รายได้สุทธิ 1-150,000 บาท                        อัตราภาษี ได้รับการยกเว้น

รายได้สุทธิ 150,001-300,000 บาท             อัตราค่าภาษี 5%

รายได้สุทธิ 300,001-500,000 บาท             อัตราค่าภาษี 10%

รายได้สุทธิ 500,001-750,000 บาท             อัตราค่าภาษี 15%

รายได้สุทธิ 750,001-1,000,000 บาท          อัตราค่าภาษี 20%

รายได้สุทธิ 1,000,001-2,000,000 บาท       อัตราค่าภาษี 25%

รายได้สุทธิ 2,000,001-5,000,000 บาท       อัตราค่าภาษี 30%

รายได้สุทธิ 5,000,001 ขึ้นไป                       อัตราค่าภาษี 35%   

          และสามารถนำภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย รวมถึงภาษีที่ชำระตามแบบ ภ.ง.ด.94 มาหักออกจากภาษีที่ต้องชำระประจำปีภาษีได้

          วิธีที่ 2 คำนวณภาษีจากเงินได้พึงประเมิน นำเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่เดือน ม.ค. – ธ.ค. ตามมาตรา 40(2)-(8) หากเกินกว่า 1,000,000 ล้านบาทขึ้นไป ให้นำเงินได้พึงประเมินทั้งหมด ไปคำนวณภาษีในอัตราร้อยละ 0.5 สูตรคือ [รายได้ (ยกเว้นเงินเดือน) x 0.5%]          

หมายเหตุ : ภาษีสำหรับเงินได้สุทธิ 150,000 บาทแรก จะได้รับยกเว้นภาษี  

การคำนวณอัตราภาษี SME แบบนิติบุคคล

          ในทุกๆ ปีผู้ประกอบการนิติบุคคล SME ต้องทำการยื่นภาษีเช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา ซึ่งตามอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล หากมีกำไรสุทธิไม่เกิน 300,000 บาท จะได้รับการยกเว้นเสียภาษี แต่ต้องเข้าเงื่อนไขธุรกิจ SME คือ ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5,000,000 บาท และมีรายได้ทั้งปีนั้นจะต้องไม่เกิน 30,000,000 บาท โดยสามารถคำนวณอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจากสูตรดังนี้

          ภาษี = กำไรสุทธิ (ทางภาษี) x อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล

          หมายเหตุ : กำไรสุทธิ หมายถึง รายได้ – รายจ่าย

โดยอัตราภาษีนิติบุคคลจะคิดแบบขั้นบันไดมีรายละเอียดดังนี้  

          1. ยกเว้นภาษีจากกำไรสุทธิ 300,000 บาทแรก

          2. กำไรสุทธิ 300,001 บาท ถึง 3,000,000 บาท จะต้องชำระภาษี 15%

          3. กำไรสุทธิ 3,000,001 บาทขึ้นไป จะต้องชำระภาษี 20% (ข้อมูลจาก กองบริหารภาษีธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม)

ตัวอย่างการคำนวณภาษีนิติบุคคล กรณีเป็นธุรกิจ SME และไม่ได้เป็นธุรกิจ SME

1. มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 900,000 บาท ให้คำนวณดังนี้

          กำไรสุทธิ 900,000 - 300,000 (300,000 บาทแรกยกเว้นภาษี) = 600,000 จะต้องชำระภาษีอยู่ที่ 15%

          600,000 x 15% = 90,000 ดังนั้นภาษีที่ต้องชำระอยู่ที่ 90,000 บาท

2. มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 600,000 บาท ให้คำนวณดังนี้

กำไรสุทธิ 600,000 - 300,000 (300,000 บาทแรกยกเว้นภาษี) = 300,000 จะได้รับการยกเว้นภาษี

3. กรณีไม่ได้เป็นธุรกิจ SME (ทุนจดทะเบียนเกิน 5 ล้านบาท) มีกำไรสุทธิอยู่ 500,000 บาท และได้ชำระภาษีระหว่างปีไปแล้ว 100,000 บาท ให้คำนว ณดังนี้

            กำไรสุทธิ 500,000 x 20% = 100,000  บาท แต่ระหว่างปีได้ชำระภาษีไปแล้ว 100,000 บาท ดังนั้นไม่ต้องชำระภาษีเพิ่มเติม (ธุรกิจไม่ได้อยู่ในระบบ SME จะต้องเสียภาษีจากกำไรสุทธิตั้งแต่ 1 บาทขึ้นไป โดยต้องเสียภาษีในอัตรา 20%) 

          กล่าวโดยสรุป หากจะเปรียบเทียบกันให้เห็นชัดๆ เกี่ยวกับอัตราการเสียภาษีของธุรกิจ SME จะเห็นว่า ตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากมีรายได้ตั้งแต่ 150,001 - 300,000 บาท ก็ต้องเสียภาษีอยู่ที่ 5% ถ้าเทียบกับอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล หากมีกำไรสุทธิไม่เกิน 300,000 บาท จะได้รับการยกเว้นเสียภาษี แต่ถ้ามีกำไรสุทธิเกิน 300,000 – 3,000,000 บาท อัตราภาษีอยู่ที่ 15% และกำไรสุทธิเกิน 3 ล้านบาท อัตราภาษีอยู่ที่ 20% ทั้งนี้ ในกรณีที่ธุรกิจขาดทุนจะไม่ต้องเสียภาษี

          ดังนั้นถ้าธุรกิจ SME รูปแบบบุคคลธรรมดาที่มีกำไรสุทธิเกิน 300,000 – 600,000 บาท ควรจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจะเสียภาษีน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด แต่ในกรณีที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแต่ไม่ได้อยู่ในธุรกิจ SME จะเสียภาษีในอัตราคงที่โดยกำไรสุทธิตั้งแต่ 1 บาทขึ้นไปต้องเสียภาษี 20% ทั้งนี้ธุรกิจ SME ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลยังมีสิทธิประโยชน์อื่นๆ อีกตามที่กรมสรรพากรได้แจ้งไว้

 

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่  Inflow Accounting

Thailand Web Stat