โอกาสผู้ผลิตชิ้นส่วนไทย ท่ามกลางปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และเศรษฐกิจโลกผันผวน

10 สิงหาคม 2567

ท่ามกลางปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และเศรษฐกิจโลกมีความผันผวน ส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนทั่วโลก แต่หากมองในทางกลับกัน ผลกระทบดังกล่าวถือเป็นความท้าทายและโอกาสสำคัญที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยจะพัฒนาตนเอง เป็นซัพพลายเออร์ผู้ย้ายฐานการผลิตมาไทย

ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และเศรษฐกิจโลกมีความผันผวน ส่งผลให้ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและการลงทุนเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต เกิดกระแสการแข่งขันและเกิดการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตของบริษัทชั้นนำระดับโลกในอุตสาหกรรมสำคัญ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนทั่วโลก แต่หากมองในทางกลับกัน ผลกระทบดังกล่าวถือเป็นความท้าทายและโอกาสสำคัญที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยจะพัฒนาตนเองเพื่อเข้ามาเป็นซัพพลายเออร์ให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ที่ย้ายฐานการผลิตมาสู่ประเทศไทย 

จากการเปลี่ยนแปลงที่ได้กล่าวมาข้างต้น ที่เกิดการเคลื่อนย้ายการลงทุนมาสู่ประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งกลุ่มบริษัทเหล่านี้จะเริ่มมีการศึกษาและเปรียบเทียบระหว่างผู้ผลิตชิ้นส่วน/วัตถุดิบเดิมที่เป็นพันธมิตรกันในต่างประเทศ กับผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยรายใหม่ ๆ ที่ได้มาตรฐานเพื่อเข้ามาอยู่ในซัพพลายเชนของบริษัทตนเอง

สิ่งนี้ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยอยู่ไม่น้อย เนื่องจากหากปรับตัวไม่ทัน อาจสูญเสียคู่ค้าและตลาดให้กับซัพพลายเออร์รายใหม่ ๆ จากต่างประเทศ ถือเป็นปัญหาใหญ่สำหรับผู้ผลิตชิ้นส่วนรายย่อยระดับ SMEs และถือเป็นความท้าทายของภาครัฐในการโอบอุ้มให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยเข้าไปอยู่ในซัพพลายเชนของอุตสาหกรรม 

ทั้งนี้ โดยส่วนใหญ่ทราบกันดีว่ามีหน่วยงานภาครัฐหลายแห่งที่ให้การสนับสนุนผู้ผลิตชิ้นส่วนระดับ SMEs ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) หรือ กระทรวงอุตสาหกรรม แต่จริง ๆ แล้ว บีโอไอก็เป็นอีกหนึ่งในหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทช่วยสร้างให้เกิดการเชื่อมผู้โยงระหว่างประกอบการรายย่อยระดับ SMEs กับบริษัทรายใหญ่ ซึ่งเป็นบทบาทที่สำคัญของบีโอไอในการเป็น connector 

โอกาสผู้ผลิตชิ้นส่วนไทย ท่ามกลางปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และเศรษฐกิจโลกผันผวน

ภัทรกฤตย์ วิจิตรภัทร นักวิชาการส่งเสริมการลงทุน บีโอไอ

บีโอไอมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความเข็งแกร่งให้กับซัพพลายเชน เพื่อเป็นจุดแข็งในการดึงดูดการลงทุน ความเข้มแข็งนี้เกิดจากการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยี และทักษะแรงงาน โดยบีโอไอมองว่าผู้ผลิตชิ้นส่วนในกลุ่ม Tier 2 และ Tier 3 ของไทยนั้นมีศักยภาพ และเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญที่เป็นส่วนสนับสนุนบริษัทรายใหญ่ ผ่านกิจกรรมที่สำคัญเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยสนับสนุนกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนในกลุ่ม Tier 2 และ Tier 3 ให้เชื่อมโยงกับบริษัทรายใหญ่มากยิ่งขึ้น เช่น 

กิจกรรม Vendors Meet Customers (VMC) : โดยเป็นการนำกลุ่มผู้ประกอบการไทยที่ผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ SMEs ไปเยี่ยมชมโรงงานประกอบผลิตภัณฑ์ของบริษัทรายใหญ่ ซึ่งแน่นอนว่ากิจกรรมนี้ถือเป็นกิจกรรมที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนชื่นชอบเป็นอย่างมาก เนื่องจากเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงบริษัทรายใหญ่ได้อย่างง่ายดาย สามารถเห็นขั้นตอนการผลิต รับฟังนโยบายการจัดหาชิ้นส่วน ได้รับโอกาสถ่ายทอดเทคโนโลยีจากโรงงานประกอบ เพื่อนำมาพัฒนาชิ้นงานของตนเองด้วยตัวเอง นำไปสู่โอกาสให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างกันในอนาคต

Business Matching : จะเป็นการจัดกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจให้กับผู้ประกอบการไทยทั้งที่เป็นรายใหญ่และรายย่อย รวมถึงผู้ประกอบการจากต่างประเทศ และหน่วยงานเครือข่ายพันธมิตร เพื่อสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนข้อมูลการผลิต การตลาด การจัดการ และความรู้ในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยบีโอไอมีการจัดกิจกรรมเชิงรุกร่วมกับบริษัทรายใหญ่ที่เข้ามาลงตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยในรูปแบบของการจัด “Sourcing Day” ซึ่งจะเป็นการนำเสนอนโยบายการจัดซื้อของบริษัทรายใหญ่ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยได้เรียนรู้และรับทราบขั้นตอนในการทำธุรกิจกับบริษัทรายใหญ่โดยเฉพาะบริษัทจากประเทศจีนที่อาจมีข้อกำหนดที่แตกต่างจากประเทศอื่นๆในการเลือกผู้ผลิตชิ้นส่วนในไทย

รวมถึงกิจกรรม Business Matching ในลักษณะ One – on - One Meetings เพื่อให้เกิดการเจรจาซื้อขายชิ้นส่วนระหว่างกันโดยทางบีโอไอจะมีการหารือกับบริษัทรายใหญ่ล่วงหน้าในการวางแผนจัดทำรายชื่อชิ้นส่วนที่บริษัทรายใหญ่มีความต้องการ 

SUBCON Thailand : เป็นงานที่บีโอไอจัดร่วมกับสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (Thai SUBCON) ต่อเนื่องมา 18 ปี โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นเวทีในการแสดงศักยภาพของอุตสาหกรรมรับช่วงการผลิตของประเทศไทย ผ่านการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น

การจัดแสดงชิ้นส่วนของผู้ผลิตไทย การจับคู่เจรจาธุรกิจที่ทางบีโอไอได้เชิญบริษัทผู้ซื้อจากทั้งในและต่างประเทศมาพบปะและเชื่อมโยงกับผู้ผลิตในไทย รวมถึงการประชุมและสัมมนาต่าง ๆเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการไทย ต้องบอกเลยว่างาน SUBCON เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมหลักที่ช่วยให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนได้พบกับคู่ค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

นอกจากนี้ บีโอไอยังให้ความสำคัญในการยกระดับศักยภาพผู้ผลิตชิ้นส่วนไทย ภายใต้มาตรการยกระดับอุตสาหกรรม (Smart and Sustainable Industry) เพื่อเร่งให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนมีการปรับปรุงการผลิต ยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมถึงมาตรการที่ส่งเสริมให้เกิดการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยสามารถเข้าสู่ซัพพลายเชนได้ ยกระดับเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ 

การเป็นตัวกลางเพื่อพัฒนาเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนสามารถเข้าไปอยู่ในซัพพลายเชน ถือเป็นบทบาทที่บีโอไอดำเนินการมาอย่างยาวนาน และจะยังคงดำเนินการต่อไปในอนาคต

ที่ผ่านมาในปี 2566 บีโอไอได้สนับสนุน SMEs ไทยให้เกิดการเชื่อมโยงกับผู้ผลิตรายใหญ่ คิดเป็นมูลค่าเกือบ 14,000 ล้านบาท 

บีโอไอจะยังคงเดินหน้าในการสนับสนุนและพัฒนาการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมต่อไป เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย และผลักดันเพื่อก้าวสู่การเป็นซัพพลายเชนระดับโลก (Global Supply Chain) ซึ่งนอกจากจะสร้างชื่อเสียงและรายได้ให้ผู้ประกอบการไทยแล้ว ยังเป็นการถ่ายโอนเทคโนโลยีระหว่างกันได้อีกทางหนึ่ง รวมถึงการต่อยอดในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจต่อไป

โดย : นายภัทรกฤตย์ วิจิตรภัทร นักวิชาการส่งเสริมการลงทุน

หมายเหตุ : บทความข้างต้นเป็นความคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับสำนักงานแต่อย่างใด

Thailand Web Stat