posttoday

ธุรกิจขนส่งขนาดเล็ก (SME) เสียภาษีอะไร

21 สิงหาคม 2567

ธุรกิจขนส่งขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ การปฏิบัติตามข้อกำหนดภาษี ผู้ประกอบการต้องเรียนรู้และจัดการให้ถูกต้อง จะช่วยให้ธุรกิจขนส่งดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          กระแสธุรกิจขนส่งขนาดเล็ก (SME) กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ซึ่งมีผู้ประกอบการหลายรายต่างหันมาลงทุนทำธุรกิจนี้อยู่ไม่น้อย และมีแนวโน้มว่าจะไปได้ดีและเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต

          ดังนั้นธุรกิจขนส่งขนาดเล็ก (SME) จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายภาษีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีภาษีหลายประเภทที่ผู้ประกอบการต้องเรียนรู้และจัดการให้ถูกต้อง แล้วภาษีเหล่านี้มีอะไรบ้างสามารถอธิบายได้ดังนี้

ภาษีธุรกิจขนส่งขนาดเล็ก (SME) ประกอบด้วย

1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

          สำหรับธุรกิจขนส่งขนาดเล็ก (SME) ที่ดำเนินการโดยบุคคลธรรมดา การจัดการด้านภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีรายละเอียดดังนี้

          1.1 ประเภทของรายได้ เป็นรายได้จากการดำเนินธุรกิจขนส่งจะถือว่าเป็นรายได้ประเภทที่ 40 (8) ตามประมวลรัษฎากร ซึ่งรวมถึงรายได้จากการให้บริการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร

          1.2 การคำนวณภาษี สำหรับบุคคลธรรมดาสามารถคำนวณภาษีโดยเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ 2 วิธี คือ

          - หักค่าใช้จ่ายตามที่จ่ายจริง โดยเก็บใบเสร็จรับเงินและหลักฐานค่าใช้จ่ายทั้งหมดไว้

          - หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาจ่าย ซึ่งสำหรับธุรกิจขนส่ง อัตราหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาจ่ายคือ 60% ของรายได้

          - การหักลดหย่อน สามารถหักลดหย่อนต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนดได้ เช่น ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล ค่าลดหย่อนบุตร ค่าเบี้ยประกันชีวิต เป็นต้น

          - การคำนวณภาษีสุทธิ ให้นำรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน มาคำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งเป็นอัตราก้าวหน้า โดยเริ่มตั้งแต่ 5% ถึง 35%

          ทั้งนี้บุคคลธรรมดาที่ประกอบธุรกิจขนส่งควรเก็บเอกสารทางบัญชี เช่น ใบกำกับภาษี ใบเสร็จรับเงิน และหลักฐานค่าใช้จ่ายทั้งหมดไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการยื่นภาษี

2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล

          ธุรกิจขนส่ง SME หากจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล อัตราภาษีสำหรับ SME คือ ต้องมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท และทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้ยกเว้นกำไรสุทธิ 300,000 บาทแรก และเสีย 15% สำหรับกำไรสุทธิที่ไม่เกิน 3 ล้านบาท และ 20% สำหรับกำไรสุทธิที่เกิน 3 ล้านบาท

          ทั้งนี้การคำนวณภาษีสำหรับธุรกิจขนส่งที่จดทะเบียนนิติบุคคล ประกอบด้วยขั้นตอนดังนี้

          - นิติบุคคลสามารถหักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงจากการดำเนินกิจการ เช่น ค่าเชื้อเพลิง ค่าซ่อมบำรุง ค่าจ้างพนักงาน เป็นต้น โดยต้องเก็บเอกสารและหลักฐานการจ่ายค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไว้เป็นหลักฐาน

          - รายได้จากการให้บริการขนส่งอาจถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 1% หรือ 3% (ขึ้นอยู่กับประเภทการขนส่งพ่วงบริการด้วยหรือไม่) จากผู้ว่าจ้างที่เป็นนิติบุคคล ซึ่งนิติบุคคลสามารถนำภาษีที่ถูกหักไป นำมาหักจากภาษีที่ต้องจ่ายในแต่ละปีได้

3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม  

          ธุรกิจขนส่งขนาดเล็ก (SME) มีทั้งแบบที่ได้ยกเว้น VAT และเสีย VAT ซึ่งแยกประเภทได้ดังนี้   

          1. ธุรกิจขนส่งปกติ ขนส่งจากจุด A ไปจุด B จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

          2. ธุรกิจขนส่งที่พ่วงบริการด้วย จะไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น มีการขายสินค้าเข้าไปด้วย ในส่วนของขนส่งจะได้ยกเว้น VAT แต่บริการหรือขายสินค้าพ่วงด้วย ถ้ามีรายได้ในส่วนนี้เกิน 1.8 ล้านบาท ธุรกิจขนส่งขนาดเล็ก (SEE) มีหน้าที่ต้องไปขอจดทะเบียน VAT โดยทั่วไปมีรายละเอียดดังนี้

          2.1 อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มคือ 7% ของราคาสินค้าหรือบริการ

          2.2 ธุรกิจขนส่งต้องออกใบกำกับภาษีให้กับลูกค้าเสมอ เมื่อมีการให้บริการขนส่งพ่วงบริการ โดยต้องแสดงรายละเอียดภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างชัดเจน

          2.3 หากธุรกิจขนส่งมีการซื้อสินค้าหรือบริการที่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถหักภาษีซื้อจากภาษีขายได้เมื่อยื่นแบบภาษี

          2.4 ธุรกิจขนส่งต้องเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมดไว้เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ตามข้อกำหนดของกรมสรรพากร

4. ภาษีหัก ณ ที่จ่าย

          ธุรกิจขนส่งในประเทศไทยอาจต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายตามข้อกำหนดของกรมสรรพากร โดยมีรายละเอียดดังนี้

          4.1 กรณีที่ธุรกิจขนส่งเป็นผู้ว่าจ้างรถร่วม ดังนั้นผู้ว่าจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้กับรถร่วม ไม่ว่าจะเป็นรถร่วมในนามบุคคลธรรมดาหรือรถร่วมนิติบุคคล จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 1% แต่ถ้าเป็นการเช่ารถเพื่อใช้ในกิจการถือเป็นค่าเช่าให้หักภาษี ณ ที่จ่าย 5% พร้อมออกหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) ให้กับผู้รับจ้าง

          4.2 กรณีที่ธุรกิจขนส่งเป็นแฟรนไชส์ หากมีการขนส่งจากจุด A ไปจุด B ขนส่งแฟรนไชส์ผู้รับเงินถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 1% แต่กรณีที่เป็นการเก็บเงินปลายทาง ขนส่งแฟรนไชส์ผู้รับเงินจะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 3%  

          4.3 กรณีธุรกิจขนส่งที่พ่วงบริการ บริษัทขนส่งจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 3%   

          นอกจากนี้ธุรกิจขนส่ง SME ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ยังมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในกรณีที่มีการจ่ายค่าบริการตามประเภทของการใช้บริการ เช่น หากเป็นการจ้างงานทั่วไป อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ต้องหักจะอยู่ที่ 3% หรือจ่ายค่าเช่าสถานที่ ต้องหัก ณ ที่จ่ายอ 5% เป็นต้น

การยื่นภาษีสำหรับธุรกิจขนส่งขนาดเล็ก (SME)

          1. การจดทะเบียนภาษี ยื่นจดทะเบียนภาษีที่กรมสรรพากร เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)  

          2. การยื่นภาษีรายเดือน

          - สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องยื่นแบบ ภ.พ.30 ทุกเดือน ต่อกรมสรรพากรภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป พร้อมชำระภาษีที่คำนวณได้

          - ภาษีหัก ณ ที่จ่ายต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.3 หรือ ภ.ง.ด.53 ทุกเดือน

          3. การยื่นภาษีรายปี

          - ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคลในแต่ละปี พร้อมชำระภาษีที่คำนวณได้

          - สำหรับบุคคลธรรมดา ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.94

          กล่าวโดยสรุป ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของธุรกิจขนส่งขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ การปฏิบัติตามข้อกำหนดภาษีอย่างถูกต้องจะช่วยให้ธุรกิจขนส่งดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ต้องกังวลเรื่องการเรียกเก็บภาษีย้อนหลังจากกรมสรรพากรอีกต่อไป

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่  Inflow Accounting