posttoday

ธุรกิจสปา SME กับการบริหารภาษีอย่างไรให้มีคุณภาพ

18 กันยายน 2567

ธุรกิจสปา SME เป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตอย่างมาก ย่อมมีความเกี่ยวข้องกับระบบของภาษี และการบริหารภาษีอย่างไรให้มีคุณภาพ เพื่อลดความเสี่ยงในการตรวจสอบและค่าปรับต่างๆ

          ธุรกิจสปาเป็นธุรกิจที่เน้นให้บริการด้านสุขภาพและความงาม ซึ่งรวมถึงการนวด การบำบัดด้วยน้ำ การดูแลผิวพรรณ และบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งธุรกิจสปามีความหลากหลายและสามารถแบ่งเป็นประเภทตามการให้บริการ เช่น สปาสุขภาพ (Wellness Spa) เน้นการดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของลูกค้า มักมีบริการนวดบำบัด สปาความงาม (Beauty Spa) เน้นการดูแลความงามของลูกค้า เช่น การทำหน้า การดูแลผิวพรรณ การทำเล็บ และการทำผม  

          นอกจากนี้ธุรกิจสปา SME เป็นธุรกิจที่น่าสนใจและมีศักยภาพในการเติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะในยุคที่ผู้คนให้ความสำคัญกับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้น ซึ่งการเปิดธุรกิจสปาขนาดเล็กถึงกลางมีข้อดีหลายประการ เพราะเป็นการลงทุนเริ่มต้นที่ต่ำกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ มีความยืดหยุ่นในการปรับตัวตามสภาพเศรษฐกิจ และการเข้าถึงลูกค้าในท้องถิ่นได้ง่าย

          ดังนั้นการทำธุรกิจไม่ว่าจะขนาดกลางหรือเล็ก ธุรกิจประเภทใดๆ ย่อมมีความเกี่ยวข้องกับระบบของภาษี แล้วภาษีที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจสปา SME มีอะไรบ้าง ลองมาพิจารณาได้ดังนี้

รู้หรือไม่ธุรกิจสปา SME ได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิต

          1. ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีในธุรกิจสปา SME ที่กรมสรรพสามิตให้แก่ สถานบริการประเภทอาบน้ำ หรืออบตัว และนวด ในสถานบริการเสริมความงาม หรือสุขภาพ ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2552 โดยเอกสารที่ใช้ประกอบการขอยกเว้นภาษีสรรพสามิตสปา ได้แก่ ใบรับรองมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการกำหนดสถานที่เพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมสวยมาตรฐานของสถานที่ การบริการ ผู้ให้บริการ

          2. ธุรกิจสปา SME ที่มีรายได้จากการให้บริการ อาบน้ำ อบตัว และนวดในสถานศึกษา ในวัด หรือสถานที่ปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา

          3. ธุรกิจสปา SME ที่มีรายได้จากการให้บริการ อาบน้ำ อบตัว และนวดในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล (ข้อมูลจาก กรมสรรพสามิต)

ภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสปา SME

          เจ้าของธุรกิจสปาจำเป็นต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนการเงินและปฏิบัติตามกฎหมายได้ถูกต้อง สำหรับภาษีธุรกิจสปา SME ในประเทศไทยมีหลายประเภทที่ควรพิจารณาดังนี้

          1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเจ้าของธุรกิจที่เป็นบุคคลธรรมดา รายได้จากธุรกิจสปาจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มาตรา 40(8) ตามอัตราภาษีที่กำหนดไว้ในกฎหมาย

          2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับธุรกิจที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เช่น บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด รายได้จากธุรกิจสปาจะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยปัจจุบันสูงสุดอยู่ที่ 20% ของกำไรสุทธิ

          3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ธุรกิจสปาที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม และต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% จากลูกค้า

          4. ภาษีหัก ณ ที่จ่าย สำหรับธุรกิจสปา SME ที่จดบริษัทเป็นนิติบุคคล มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายเมื่อมีการใช้บริการโดยอัตราการหักภาษี จะขึ้นอยู่กับประเภทของรายจ่ายที่จ่ายไป และจะถูกหักภาษีเมื่อได้รับรายได้จากการดำเนินธุรกิจสปา โดยกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับภาษีหัก ณ ที่จ่าย โดยปกติจะมีหลักเกณฑ์ดังนี้

          - ค่าเช่าพื้นที่ ในกรณีที่ธุรกิจสปามีการเช่าพื้นที่ในการดำเนินกิจการ จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 5% ของค่าเช่า

          - ค่าโฆษณาและการตลาด ค่าใช้จ่ายในการโฆษณาหรือการตลาดผ่านสื่อ ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 2% ของค่าโฆษณา หรือตามอัตราที่กฎหมายกำหนด

          - ค่าจ้างแรงงาน หากมีการจ้างแรงงาน เช่น พนักงานสปา หรือพนักงานทำความสะอาด จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายจากค่าจ้างแรงงานตามอัตราที่กำหนด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรายได้ของพนักงานแต่ละคน

          - ค่าบริการ รายได้จากการให้บริการสปา เช่น นวด สปาหน้า สปาเล็บ สปาผม ฯลฯ จะถูกผู้ใช้บริการในนามนิติบุคคล หักภาษี ณ ที่จ่าย 3% หรือตามอัตราที่กำหนดในประมวลรัษฎากร

          5. ภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับธุรกิจสปา เป็นภาษีที่จัดเก็บจากอาคารที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ รวมถึงอาคารที่ใช้ในการประกอบกิจการสปา ซึ่งภาษีนี้เรียกเก็บโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น เทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)

ขั้นตอนการเสียภาษีธุรกิจสปา SME

  1. จดทะเบียนพาณิชย์ที่สำนักงานเขตหรือเทศบาล หากเป็นนิติบุคคล (บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด) ต้องจดทะเบียนนิติบุคคลที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
  2. การขออนุญาตประกอบกิจการสปาจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข
  3. ธุรกิจสปาที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ทุกเดือน
  4. ธุรกิจสปาที่จดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคล ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ภ.ง.ด.3 หรือ ภ.ง.ด.53) ทุกเดือน
  5. ธุรกิจสปาที่จดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคล ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลกลางปี (ภ.ง.ด.51) และสิ้นปี (ภ.ง.ด.50)
  6. ธุรกิจสปาที่ทำในนามบุคคลธรรมดา ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากลางปี (ภ.ง.ด.94) และสิ้นปี (ภ.ง.ด.90)

          กล่าวโดยสรุปธุรกิจสปา SME จำเป็นต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบภาษี รวมถึงการวางแผนภาษีอย่างรอบคอบ และการปฏิบัติตามกฎหมายภาษีอากรอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงในการตรวจสอบและค่าปรับต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่  Inflow Accounting