posttoday

ภาษีที่เกี่ยวข้อง เมื่อเปิดร้านขายโทรศัพท์ (SME)

25 กันยายน 2567

การบริหารจัดการร้านขายโทรศัพท์ขนาดเล็ก (SME) จำเป็นต้องมีการวางแผนระบบภาษีที่ดีเพื่อความสำเร็จและความยั่งยืนในการทำธุรกิจ

          ในยุคที่เทคโนโลยีกำลังพัฒนาอย่างก้าวกระโดด โทรศัพท์มือถือกลายเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ทุกคนขาดไม่ได้ ทั้งนี้การเลือกซื้อโทรศัพท์มือถือจึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ ซึ่งในปัจจุบันราคาโทรศัพท์มือถือมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้งาน

          ดังนั้น แม้ว่าจะเปิดร้านขายโทรศัพท์มือถือเล็กๆ ขนาด SME ก็จำเป็นต้องมีการวางแผนในด้านภาษีที่ดีเพื่อความสำเร็จในธุรกิจ ซึ่งข้อมูลมีอะไรบ้าง ลองมาพิจารณาไปพร้อมๆ กันดังนี้

หลักการวางแผนเปิดร้านขายโทรศัพท์มือถือขนาดเล็ก

          การวางแผนเปิดร้านขายโทรศัพท์มือถือเป็นกระบวนการที่ต้องใช้ความคิดอย่างรอบคอบ และการเตรียมการอย่างดีเพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ โดยหลักการสำคัญที่ควรพิจารณาสามารถอธิบายได้ดังนี้

          1. การวิเคราะห์ตลาด

          - ศึกษาตลาด สำรวจความต้องการของลูกค้าในพื้นที่และแนวโน้มตลาดมือถือ เพื่อให้เข้าใจว่ามือถือรุ่นไหนกำลังเป็นที่นิยมในท้องตลาดอยู่ในช่วงเวลานั้นๆ

          - การแข่งขัน วิเคราะห์คู่แข่ง เพื่อหาจุดแข็งจุดอ่อนของคู่แข่ง และสามารถใช้ข้อมูลนี้ในการกำหนดกลยุทธ์ของร้านได้

          2. การกำหนดตำแหน่งทางการตลาด

          - เลือกกลุ่มเป้าหมาย กำหนดกลุ่มลูกค้าที่คุณต้องการให้บริการ เช่น ลูกค้าที่เน้นความคุ้มค่า หรือลูกค้าที่เน้นแบรนด์พรีเมียม

          - ควรวางแผนการตั้งราคาที่เหมาะสมกับตลาดและลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการจัดโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดลูกค้า

          3. การจัดการสินค้า

          - การเลือกสินค้า คัดสรรรุ่นโทรศัพท์ให้มีความหลากหลายเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าหลายกลุ่ม รวมถึงอุปกรณ์เสริมและบริการที่เกี่ยวข้องอื่นๆ

          - การจัดการสต็อก วางแผนการจัดการสต็อกอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อหลีกเลี่ยงการขาดหรือมีสินค้าเกินความต้องการ

          4. การเลือกทำเลที่ตั้งร้าน ควรเลือกทำเลที่มีความสะดวกสามารถเข้าถึงได้ง่าย และมีคนเดินพลุกพล่าน เช่น ในห้างสรรพสินค้าหรือย่านการค้า มีความสะดวกสบาย

          5. การส่งเสริมการขายและการตลาด โฆษณาและโปรโมชั่น ใช้สื่อโฆษณาในท้องถิ่นและออนไลน์เพื่อสร้างการรับรู้และดึงดูดลูกค้า การบริการลูกค้า พัฒนาการบริการลูกค้าให้เป็นมิตรและช่วยเหลือ เพื่อสร้างความประทับใจและการบอกต่อในทางที่ดี

          6. การจัดการงบประมาณการลงทุน วางแผนงบประมาณสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจ เช่น ค่าเช่าสถานที่ ค่าอุปกรณ์ และค่าโฆษณา รวมถึงการบริหารการเงิน ควบคุมต้นทุน และมีการตรวจสอบผลกำไรเป็นประจำ เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินไปได้อย่างมั่นคง

          7. การเลือกพนักงานขาย ควรมีการฝึกอบรม คัดเลือกพนักงานให้มีความรู้เกี่ยวกับสินค้าและทักษะการขายที่ดี รวมถึงการสร้างแรงจูงใจให้พนักงานด้วยค่าตอบแทนและสวัสดิการที่เหมาะสมเพื่อรักษาพนักงานที่มีคุณภาพไว้

ระบบภาษีร้านขายโทรศัพท์มือถือขนาดเล็ก

          ระบบภาษีที่เกี่ยวข้องกับร้านขายโทรศัพท์มือถือในประเทศไทย ที่เจ้าของร้านและธุรกิจจะต้องจ่ายและปฏิบัติตามกฎหมายภาษี ได้แก่

          1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากเจ้าของร้านขายโทรศัพท์มือถือเป็นบุคคลธรรมดา และมีรายได้จากการขายโทรศัพท์มือถือ จะต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งจัดอยู่มาตรา 40(8) โดยรายได้ที่ได้รับจะถูกหักค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายกำหนด จากนั้นจึงนำไปคำนวณอัตราภาษีแบบขั้นบันได

          นอกจากนี้เจ้าของร้านขายโทรศัพท์มือถือจะต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีละ 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกให้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 ในเดือนกันยายน (สำหรับเงินได้ในเดือน มกราคม-มิถุนายน) และครั้งที่สองยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ในเดือนมีนาคมของปีถัดไป (สำหรับเงินได้ในเดือนมกราคม-ธันวาคม) โดยนำภาษีที่จ่ายครั้งแรกมาหักออกจากภาษีที่คำนวณได้ในครั้งที่ 2

          2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล หากร้านขายโทรศัพท์มือถือจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด รายได้จากการขายจะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามอัตราที่กำหนด ซึ่งในปัจจุบันธุรกิจร้านขายโทรศัพท์มือถือขนาดเล็ก (SME) ที่จดบริษัทเป็นนิติบุคคลหากมีกำไรสุทธิไม่เกิน 3 แสนบาท จะได้รับการยกเว้นอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล และอัตราภาษีสูงสุดอยู่ที่ 20% ของกำไรสุทธิ

          ทั้งนี้ต้องเข้าเงื่อนไขที่กำหนด คือ เฉพาะบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งมีทุนที่ชำระแล้ว ในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการ ในรอบระยะเวลาบัญชี ไม่เกิน 30 ล้านบาท

          โดยเจ้าของร้านขายโทรศัพท์มือถือต้องยื่นภาษีเงินได้ครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี ยื่นตามแบบ ภ.ง.ด.51 ภายใน 2 เดือนนับแต่ วันครบ 6 เดือนของรอบระยะเวลาบัญชี และภาษีเงินได้สิ้นรอบระยะเวลาบัญชี ยื่นตามแบบ ภ.ง.ด.50 ภายใน 150 วัน นับตั้งแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี

          3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT) การขายโทรศัพท์มือถือเป็นสินค้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งปัจจุบันอัตรา VAT อยู่ที่ 7% ผู้ขายจะต้องเก็บ VAT จากลูกค้าและนำส่งกรมสรรพากร

          4. ภาษีศุลกากร (Customs Duty) หากมีการนำเข้าโทรศัพท์มือถือจากต่างประเทศหรือวัสดุอุปกรณ์เสริมต่างๆ เข้ามา ร้านจะต้องเสียภาษีศุลกากรขนสินค้าขาเข้าตามอัตราที่กรมศุลกากรกำหนด รวมทั้งภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าอีกด้วย

          5. ภาษีป้าย (Signboard Tax) หากร้านขายโทรศัพท์ SME มีการติดตั้งป้ายชื่อร้านหรือป้ายโฆษณา จะต้องเสียภาษีป้ายตามขนาด เนื้อหาบนป้าย และสถานที่ติดตั้งป้าย

          6. ภาษีโรงเรือนและที่ดิน (Land and Building Tax) หากผู้ขายมือถือได้ครอบครองร้านค้าที่ตั้งขายสินค้า หรือเป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น จะต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมูลค่าทรัพย์สินด้วย

          กล่าวโดยสรุป นอกจากการบริหารจัดการร้านขายโทรศัพท์ขนาดเล็ก (SME) ให้ประสบความสำเร็จแล้ว ทางด้านระบบภาษีก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน หากเจ้าของร้านขายโทรศัพท์ SME ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดระบบภาษีอาจเกิดปัญหาตามมาในอนาคตได้ และควรมีการวางแผนระบบภาษีที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นเพื่อความยั่งยืนในการทำธุรกิจต่อไป

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่  Inflow Accounting