ภาษีธุรกิจ SME เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงมีอะไรบ้าง
เปิดธุรกิจ SME เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง ต้องรู้เรื่องภาษีให้ครบ! การทำธุรกิจต้องเข้าใจเรื่องภาษี เช่น ภาษีเงินได้, VAT, ภาษีป้าย และภาษีศุลกากร การวางแผนภาษีที่ดีช่วยให้ธุรกิจเติบโตแบบไม่มีสะดุด ศึกษารายละเอียดหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อความมั่นใจ!
เป็นที่ทราบกันดีว่าธุรกิจจำหน่ายอาหารสัตว์และของเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยงผุดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เสื้อผ้า ของเล่น หรือสินค้าอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับสัตว์เลี้ยง ซึ่งการทำธุรกิจนี้ต้องมีความรับผิดชอบเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการดูแลสัตว์เลี้ยง หรือการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการดูแลสัตว์เลี้ยงให้กับลูกค้า
ดังนั้นเพื่อให้ธุรกิจจำหน่ายอาหารสัตว์และของเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยงประสบความสำเร็จแบบไม่มีสะดุด นอกจากต้องมีความเชี่ยวชาญ มีทักษะทางด้านสินค้าและบริการแล้ว จำเป็นต้องเรียนรู้ในเรื่องของภาษีที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจอีกด้วย แล้วภาษีที่เกี่ยวข้องจะมีอะไรบ้างลองมาติดตามอ่านกันได้ดังต่อไปนี้
ภาษีธุรกิจ SME ขายอาหารสัตว์
ในกรณีของธุรกิจ SME ที่ขายอาหารสัตว์ ในการจัดการภาษีจะขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจและขนาดของรายได้ อธิบายได้ดังนี้
1.ภาษีเงินได้นิติบุคคล หากธุรกิจเป็นนิติบุคคล (บริษัทจำกัด) จะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยทั่วไปธุรกิจ SME จะมีอัตราภาษีเงินได้ตามขั้นรายได้ดังนี้
- รายได้สุทธิต่ำกว่า 300,000 บาท จะได้รับการยกเว้นภาษี
- รายได้สุทธิตั้งแต่ 300,001 ถึง 3,000,000 บาท อัตราภาษีจะอยู่ที่ 15%
- รายได้สุทธิมากกว่า 3,000,001 บาท อัตราภาษีจะอยู่ที่ 20%
2.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในกรณีผู้ที่ไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคล หากประกอบธุรกิจ SME ขายอาหารสัตว์ต้องเสียภาษีเงินได้พึงประเมิน มาตรา 40(8) มีหน้าที่ยื่นภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) และปลายปี (ภ.ง.ด.90) ทั้งนี้หากเจ้าของกิจการยังเป็นพนักงานมีการรับเงินเดือนด้วย รายได้ในส่วนของเงินเดือนจะต้องยื่นเป็นมาตรา 40(1)
นอกจากนี้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะคำนวณตามรายได้สุทธิ (รายได้ – ค่าใช้จ่าย) และใช้อัตราภาษีแบบก้าวหน้าโดยเริ่มจาก 5% ไปจนถึง 35% ขึ้นอยู่กับจำนวนรายได้สุทธิ
3.ภาษีหัก ณ ที่จ่าย (Withholding Tax) หากมีการจ่ายเงินให้บุคคลหรือบริษัทอื่นที่ให้บริการกับธุรกิจขายอาหารสัตว์ เช่น การจ้างงาน การโฆษณา เจ้าของธุรกิจขายอาหารสัตว์ที่จดบริษัทเป็นนิติบุคคล จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามอัตราภาษีแต่ละประเภท และนำส่งกรมสรรพากร
4.ภาษีป้าย (Signboard Tax) หากธุรกิจมีป้ายโฆษณาหรือชื่อร้านที่มีการแสดงชื่อหรือโลโก้ จะต้องเสียภาษีป้าย ซึ่งจะขึ้นอยู่กับขนาดและเนื้อหาของป้าย
5.ภาษีศุลกากร หากมีการนำเข้าสินค้าอาหารสัตว์ อาจมีการเก็บภาษีศุลกากรตามอัตราภาษีที่กำหนด ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามประเภทของสินค้า และอัตราภาษีศุลกากรสามารถตรวจสอบได้จากพิกัดศุลกากร (HS Code) ซึ่งเป็นรหัสที่ใช้ในการกำหนดประเภทของสินค้าและอัตราภาษีที่ต้องจ่าย
ภาษีธุรกิจ SME ขายอุปกรณ์สัตว์เลี้ยง
ธุรกิจขายอุปกรณ์สัตว์เลี้ยง ถือเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูงในปัจจุบัน เนื่องจากคนไทยนิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงมากขึ้นโดยเฉพาะสุนัขและแมว ซึ่งส่งผลให้ความต้องการสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงมีมากขึ้นตามไปด้วย
ดังนั้นในมุมภาษีที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการธุรกิจขายอุปกรณ์สัตว์เลี้ยงจำเป็นจะต้องเสียภาษีดังนี้
1.ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เมื่อธุรกิจมีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยจะเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จากยอดขายของสินค้าที่ขาย และส่งกรมสรรพากรทุกเดือนแม้ว่าเดือนนั้นๆ จะไม่มีรายรับก็ตาม
2.ภาษีเงินได้นิติบุคคล หากเปิดธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคล เช่น บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด ต้องมีการเสียภาษีนิติบุคคลทั้ง ภ.ง.ด.51 และ ภ.ง.ด.50 ในอัตราภาษีสูงสุดอยู่ที่ 20% ของกำไรสุทธิ
3.ภาษีหัก ณ ที่จ่าย สำหรับธุรกิจ SME ขายอุปกรณ์สัตว์เลี้ยงที่จดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคล มีการจ้างลูกจ้างต้องนำส่งกรมสรรพากร ไม่เกินวันที่ 7 ของเดือนถัดไป ซึ่งเป็นการหักจากการจ่ายเงินเดือนให้กับลูกจ้าง หรือกรณีธุรกิจเช่าอาคารสถานที่ก็มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 5% เพื่อเสียภาษีตามกฎหมายกำหนดด้วย
4.ภาษีป้าย หากเจ้าของธุรกิจทำการติดตั้งป้าย ต้องมีการเสียภาษีป้ายซึ่งจะแยกตามประเภทของป้าย
5.ภาษีศุลกากร กรณีที่เจ้าของธุรกิจมีการนำเข้าสินค้าเครื่องมือตกแต่งร้าน อุปกรณ์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงต่างๆ เจ้าของธุรกิจต้องมีการชำระภาษีศุลกากรตามพิกัดสินค้านั้นด้วย
กล่าวโดยสรุป สำหรับผู้ที่จะเปิดธุรกิจ SME จำหน่ายอาหารสัตว์และของเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยง ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องภาษีสำหรับธุรกิจ SME ซึ่งการวางแผนภาษีที่ดีจะช่วยให้ธุรกิจมีกำไรมากขึ้น ผู้ประกอบการ SME ควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับภาษีอย่างละเอียด
ทั้งนี้หากยังไม่แน่ใจกับข้อมูลภาษีว่าได้ดำเนินการอย่างถูกต้องหรือไม่นั้น สามารถปรึกษากรมสรรพากรหรือปรึกษานักบัญชีเพื่อขอคำแนะนำที่ถูกต้องได้
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ Inflow Accounting