ส่องเทรนด์ธุรกิจ SME เกี่ยวกับผู้สูงวัย และภาษีที่ต้องเสีย
เทรนด์ธุรกิจ SME สำหรับผู้สูงวัยและภาษีที่ต้องเสีย ธุรกิจบริการดูแลผู้สูงวัยและอาหารเพื่อสุขภาพขยายตัว เจ้าของธุรกิจ SME ควรเข้าใจภาษีและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
หลายคนอาจเคยสงสัยว่าทำไมการทำธุรกิจ SME เกี่ยวกับผู้สูงวัย จึงเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงมากในปัจจุบัน ซึ่งการเปิดธุรกิจ SME เพื่อผู้สูงวัยไม่เพียงแต่จะสร้างรายได้แบบไม่จบสิ้นในอนาคตข้างหน้าเท่านั้น ด้านความต้องการของตลาดในกลุ่มผู้สูงวัยก็กำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย
ดังนั้นหากเจ้าของธุรกิจ SME เกี่ยวกับผู้สูงวัยนั้น ตีโจทย์ความต้องการและเจาะธุรกิจ SME เข้าไปในสังคมผู้สูงวัยได้ก็มีความน่าสนใจไม่น้อยทีเดียว แล้วธุรกิจ SME เกี่ยวกับผู้สูงวัยมีอะไรบ้าง พร้อมทั้งในมุมภาษีมีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจอย่างไร สามารถติดตามอ่านได้ในบทความที่จะนำเสนอดังต่อไปนี้
1.ธุรกิจ SME บริการดูแลผู้สูงวัย และภาษีที่เกี่ยวข้อง
ปกติแล้วผู้สูงวัยจะมีสุขภาพร่างกายที่เสื่อมลงตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้การช่วยเหลือตัวเองเป็นไปได้ยาก ยิ่งในกรณีที่ผู้สูงวัยต้องอยู่คนเดียวเพียงลำพัง จนทำให้ต้องมองหาบริการรับดูแลผู้สูงวัยทั้งในช่วงระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งถือว่าเป็นธุรกิจ SME บริการดูแลผู้สูงวัยที่กำลังมาแรงทีเดียว โดยรูปแบบการทำธุรกิจจะส่งเจ้าหน้าที่ชำนาญการเข้าไปดูแล เช่น การจัดเตรียมยารับประทานประจำวัน การจัดเตรียมอาหาร และคอยดูแลด้านต่างๆ ตามตกลง และมีแนวโน้มได้รับความนิยมมากขึ้นในทุกๆ ปี
นอกจากนี้การเริ่มต้นธุรกิจ SME บริการดูแลผู้สูงวัยประเภทนี้ ไม่เพียงแค่ต้องให้ความสำคัญกับการบริการที่มีคุณภาพแล้ว แต่ยังต้องเข้าใจเรื่องภาษีและกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน ซึ่งภาษีที่เกี่ยวข้องมีดังต่อไปนี้
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
หากรายได้ของธุรกิจเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี เจ้าของธุรกิจจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และคิดภาษี VAT 7% จากการบริการที่ให้แก่ลูกค้า แต่หากรายได้ไม่ถึง 1.8 ล้านบาทต่อปี สามารถเลือกไม่จดทะเบียน VAT ได้
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล
- หากธุรกิจดำเนินกิจการในรูปแบบบุคคลธรรมดา ภาษีสำหรับบุคคลธรรมดาที่มีเงินได้สุทธิ 150,000 บาทแรก จะได้รับยกเว้นภาษี แต่หากเงินได้สุทธิเกินจะต้องเสียภาษีตามอัตราก้าวหน้าแบบขั้นบันไดสูงสุด 35% ทั้งนี้หากธุรกิจขาดทุนก็ยังต้องเสียภาษีอยู่ดี
- หากธุรกิจดำเนินธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคล (บริษัท/ห้างหุ้นส่วน) ก็ต้องชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยปัจจุบันอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับ SME ที่มีกำไรสุทธิไม่เกิน 300,000 บาทจะไม่ต้องเสียภาษี และในส่วนของกำไรส่วนที่เกินจะเสียภาษีในอัตรา 15% - 20%
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย
เมื่อเจ้าของธุรกิจดูแลผู้สูงอายุจดบริษัทเป็นนิติบุคคล มีการจ่ายเงินให้กับผู้ให้บริการต่างๆ ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายตามอัตราที่กำหนด ตั้งแต่ 1% - 5% ขึ้นอยู่กับประเภทบริการที่เจ้าของธุรกิจดูแลผู้สูงอายุไปใช้บริการ
ประกันสังคม
หากธุรกิจดูแลผู้สูงอายุมีการว่าจ้างพนักงาน เจ้าของธุรกิจจะต้องลงทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมและจ่ายเงินสมทบตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งปัจจุบันมีอัตราอยู่ที่ 5% ของเงินเดือนพนักงาน
2.ธุรกิจ SME อาหารเพื่อสุขภาพผู้สูงวัย และภาษีที่เกี่ยวข้อง
เป็นที่ทราบกันดีว่าสังคมไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ความต้องการด้านอาหารเพื่อสุขภาพสำหรับผู้สูงวัยเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งธุรกิจ SME อาหารเพื่อสุขภาพผู้สูงวัยยังเป็นโอกาสทองที่น่าจับตามองทีเดียว
ดังนั้นในการทำธุรกิจ SME อาหารเพื่อสุขภาพผู้สูงวัย นอกเหนือจากการเรียนรู้การเริ่มต้นธุรกิจแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือในเรื่องของภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ SME อาหารเพื่อสุขภาพ สามารถอธิบายได้ดังนี้
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะถูกคิดอัตราภาษีแบบขั้นบันได หากมีเงินได้สุทธิ 150,000 จะได้รับการยกเว้น และหากเงินได้สุทธิเกินจะเสียภาษีตามขั้นรายได้สูงสุดอยู่ที่ 35% หลังหักค่าลดหย่อน
ภาษีเงินได้นิติบุคคล หากผู้ประกอบการ SME ที่จดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคล มีกำไรสุทธิไม่เกิน 300,000 บาท จะได้รับการยกเว้นภาษี ส่วนผู้ประกอบการที่มีกำไรสุทธิเกิน 300,001 บาท แต่ไม่เกิน 3,000,000 บาท เสียภาษีอยู่ที่ 15% เกิน 3,000,001 บาทขึ้นไป เสีย 20%
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หากรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพผู้สูงวัย จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และคิดภาษีที่อัตรา 7%
ภาษีป้าย หากธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพผู้สูงวัย มีการติดตั้งป้ายเพื่อโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ธุรกิจ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบตัวอักษร ภาพ หรือสัญลักษณ์ บนวัสดุใดๆ ก็ตาม จะต้องเสียภาษีป้ายตามอัตราที่กำหนดโดยท้องถิ่น
ภาษีศุลกากร หากธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพผู้สูงวัย มีการนำเข้าอาหารหรือวัตถุดิบจากต่างประเทศอาจต้องเสียภาษีศุลกากร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของสินค้าและนโยบายการค้า
กล่าวโดยสรุป ธุรกิจ SME ที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงวัย ควรพิจารณาถึงการวางแผนภาษีตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจ เพื่อให้เจ้าของธุรกิจได้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง และสามารถลดภาระภาษีที่ไม่จำเป็นลงได้ ทั้งนี้ยังสามารถปรึกษากรมสรรพากรหรือสำนักงานบัญชีที่เชื่อถือได้ เพื่อช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างทันถ่วงที ป้องกันการถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ Inflow Accounting