posttoday

5 ขั้นตอนตรวจสอบบัญชีและการเตรียมเอกสารภาษี สำหรับธุรกิจ SME

18 ธันวาคม 2567

5 ขั้นตอนตรวจสอบบัญชีและเตรียมเอกสารภาษีสำหรับธุรกิจ SME ช่วยให้ธุรกิจปฏิบัติตามกฎหมาย ลดความเสี่ยงจากการตรวจสอบ และเพิ่มความเชื่อมั่นจากคู่ค้าและผู้ลงทุน

ธุรกิจ SME จะประสบความสำเร็จได้ ผู้ประกอบการต้องจัดการบัญชี ตรวจสอบบัญชี และเตรียมเอกสารภาษีให้เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งทั้งหมดเป็นกระบวนการสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับภาษีได้อย่างถูกต้อง                                                                                                                                                                                                    

ทั้งนี้รวมถึงรายรับ รายจ่าย และการบันทึกบัญชีต่างๆ การตรวจสอบนี้สามารถทำได้โดยผู้ตรวจสอบบัญชีที่มีความชำนาญ เพื่อยืนยันความถูกต้อง ตามมาตรฐานบัญชี และช่วยให้มั่นใจได้ว่าธุรกิจไม่มีการทุจริตหรือมีความผิดพลาดในการบันทึกข้อมูล รายละเอียดจะมีอะไรบ้างนั้นลองมาติดตามอ่านได้ดังนี้

 

1.การเตรียมเอกสารบัญชีที่จำเป็น

          - สมุดรายวัน บันทึกรายรับและรายจ่ายของธุรกิจเป็นประจำทุกวัน เป็นพื้นฐานสำหรับการจัดทำงบการเงิน

          - บัญชีแยกประเภท จัดทำบัญชีแยกประเภทเพื่อบันทึกรายละเอียดเพิ่มเติมของบัญชีหลัก เช่น ลูกหนี้ เจ้าหนี้ รายได้ และค่าใช้จ่ายต่างๆ

          - สมุดบัญชีรายวันทั่วไป ใช้บันทึกธุรกรรมที่ไม่ได้อยู่ในประเภทอื่นๆ เช่น การโอนเงินระหว่างบัญชี

          - ใบเสร็จและใบกำกับภาษี เก็บใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีทุกใบอย่างเป็นระเบียบ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการคำนวณภาษีและลดหย่อนภาษี

          - สรุปงบการเงิน ตรวจสอบยอดเงินในธนาคารและปรับปรุงบัญชีตามที่เห็นสมควร เช่น การบันทึกค่าเสื่อมราคา เป็นต้น

2.การตรวจสอบบัญชี

          - การตรวจสอบรายเดือน ทำการตรวจสอบบัญชีเป็นประจำทุกเดือน เพื่อเช็กว่าข้อมูลบัญชีมีความถูกต้อง และสามารถติดตามการเคลื่อนไหวของกระแสเงินสดได้

          - การตรวจสอบภายใน (Internal Audit) หากเป็นไปได้ควรมีการตรวจสอบภายใน เช่น ตรวจสอบการปฏิบัติงาน ตรวจสอบทางการเงิน เพื่อระบุปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการบันทึกบัญชีผิดพลาดหรือละเมิดกฎระเบียบ ก่อนส่งงบการเงินให้ผู้สอบบัญชีอิสระตรวจสอบและเซ็นรับรองส่งงบการเงิน 

          - การตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีภายนอก กฎหมายกำหนดให้นิติบุคคลต้องได้รับการตรวจสอบบัญชีจากผู้สอบบัญชีอิสระที่ไม่มีส่วนเกี่ยวของกับกิจการ ดังนั้นกิจการต้องใช้บริการผู้สอบบัญชีภายนอกในการตรวจสอบงบการเงินประจำปีด้วย 

3.การจัดทำงบการเงิน

          - งบดุล (Balance Sheet) ให้จัดทำงบดุลเพื่อตรวจสอบสินทรัพย์ หนี้สิน เพื่อสะท้อนถึงสถานะการเงินของธุรกิจ ซึ่งกิจการที่มีความมั่นคงย่อมมีสินทรัพย์มากกว่าหนี้สิน

          - งบกำไรขาดทุน (Profit and Loss Statement) เป็นการสรุปรายได้และค่าใช้จ่ายทั้งหมด เพื่อให้รับรู้ว่ากิจการมีผลกำไรหรือขาดทุนในช่วงเวลานั้นๆ

          - งบกระแสเงินสด (Cash Flow Statement) บันทึกการเคลื่อนไหวของเงินสดเข้าออกจากธุรกิจ โดยแบ่งเป็นกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน การลงทุน และการจัดหาเงิน

4.การเตรียมเอกสารสำหรับการยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคล 

          - การหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้รวบรวมเอกสารการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่บริษัทได้จ่ายไว้แล้ว เช่น ภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากเงินเดือนของพนักงานและค่าสินค้า/บริการที่บริษัทได้รับ

          - เอกสารภาษีซื้อและภาษีขาย เก็บเอกสารภาษีซื้อและภาษีขายอย่างละเอียดเพื่อลดหย่อนภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) และใช้ในการยื่นภาษีมูลค่าเพิ่ม

          - การคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล คำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลตามอัตราภาษีที่กฎหมายกำหนด ซึ่งอาจใช้บริการของผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีหากต้องการความแม่นยำ

- การยื่นเอกสารทางภาษี จัดเตรียมเอกสารการยื่นภาษี เช่น ภ.ง.ด.50 (ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี) และ ภ.ง.ด.51 (ภาษีเงินได้นิติบุคคลสิ้นปี) ให้เรียบร้อยและยื่นตรงเวลา เพื่อหลีกเลี่ยงค่าปรับและดอกเบี้ยที่อาจเกิดขึ้น

5.การวางแผนภาษี

          - การวางแผนภาษีรายปี วางแผนล่วงหน้าเพื่อจัดการภาระภาษีให้เหมาะสม และพิจารณาโอกาสในการลดหย่อนภาษี

          - ตรวจสอบสิทธิประโยชน์ทางภาษี ข้อมูลทางด้านภาษีอาจมีการเปลี่ยนแปลงทุกปี ควรติดตามข่าวสารและอัพเดทข้อมูลเพื่อให้การจัดทำบัญชีและภาษีสอดคล้องกับกฎหมายใหม่ๆ

กล่าวโดยสรุป การตรวจสอบบัญชีสำหรับธุรกิจ SME เป็นกระบวนการที่ช่วยเสริมสร้างความโปร่งใสและความถูกต้องของข้อมูลทางการเงินในธุรกิจ การตรวจสอบบัญชีช่วยยืนยันว่าธุรกรรมต่างๆ ได้ถูกบันทึกไว้อย่างถูกต้องและเป็นไปตามมาตรฐานบัญชี ทำให้สามารถติดตามรายได้ ค่าใช้จ่าย และสถานะทางการเงินได้อย่างแม่นยำ การมีระบบบัญชียังช่วยลดความเสี่ยงในการตรวจสอบโดยหน่วยงานรัฐ และเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้าและผู้ลงทุน

นอกจากนี้การเตรียมเอกสารภาษีเป็นอีกขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายภาษี แถมยังช่วยในการวางแผนทางการเงินและประเมินการเติบโตของธุรกิจ เอกสารที่จำเป็น รวมถึงรายงานรายรับ รายจ่าย งบการเงิน และเอกสารสนับสนุนที่ใช้ยืนยันธุรกรรมต่างๆ การจัดทำเอกสารที่ถูกต้องจะช่วยลดความเสี่ยงของการถูกตรวจสอบย้อนหลังหรือการเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง นอกจากนี้ยังช่วยให้ธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จากสิทธิทางภาษีได้อย่างเต็มที่อีกด้วย

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่  Inflow Accounting