รู้หรือไม่...ธุรกิจบริการจัดเลี้ยง SME ต้องเสียภาษี
ธุรกิจบริการจัดเลี้ยง SME ต้องเสียภาษีหลากหลายประเภท การปฏิบัติตามกฎหมายภาษีช่วยลดความเสี่ยง สร้างความน่าเชื่อถือ และส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืน
ธุรกิจบริการจัดเลี้ยงเป็นหนึ่งธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง (SME) ที่มีความยืดหยุ่นและสร้างสรรค์บริการให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการจัดเลี้ยงนอกสถานที่ จัดงานแต่งงาน ทำบุญขึ้นบ้านใหม่
แต่สิ่งที่เจ้าของธุรกิจหลายคนอาจมองข้ามไปคือ การปฏิบัติตามกฎหมายภาษีอากร ซึ่งเป็นข้อกำหนดสำคัญสำหรับธุรกิจทุกประเภท การทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีที่ต้องจ่าย รวมถึงข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในบทความนี้จะพาไปสำรวจว่า ธุรกิจบริการจัดเลี้ยง SME มีภาษีประเภทใดที่ต้องเสีย และมีวิธีการบริหารจัดการด้านภาษีอย่างไรเพื่อความถูกต้องและประหยัดที่สุด
ธุรกิจบริการจัดเลี้ยง SME คืออะไร
ธุรกิจบริการจัดเลี้ยง หมายถึง ธุรกิจที่ให้บริการในการจัดเตรียมอาหารและเครื่องดื่มสำหรับงานต่างๆ เช่น งานแต่งงาน งานเลี้ยงบริษัท งานประชุม หรือกิจกรรมพิเศษอื่นๆ โดยมักจะมีการจัดการทั้งในเรื่องของการบริการอาหาร การตั้งโต๊ะลงทะเบียน การจัดเตรียมสถานที่ และการดูแลแขก เพื่อให้การจัดงานเป็นไปอย่างราบรื่นและสวยงาม
นอกจากนี้ ธุรกิจบริการจัดเลี้ยงจะรวมถึงการวางแผน การจัดหาอุปกรณ์ การเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงการจัดทีมงานในการให้บริการที่ลูกค้าจัดขึ้นตามจุดต่างๆ อีกด้วย
ประเภทของภาษีที่ธุรกิจบริการจัดเลี้ยง SME ต้องเสีย
1.ภาษีเงินได้นิติบุคคล หากธุรกิจบริการจัดเลี้ยง SME จดทะเบียนในรูปแบบนิติบุคคล เช่น บริษัทจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด คุณจะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยอัตราภาษีจะขึ้นอยู่กับรายได้สุทธิของกิจการในแต่ละปี ซึ่งอัตราภาษีสำหรับธุรกิจ SME นิติบุคคลในประเทศไทย ณ ปีปัจจุบันมีการยกเว้นภาษีสำหรับธุรกิจที่มีการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท จะได้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิ 300,000 บาทแรก โดยมีอัตราภาษีดังนี้
- รายได้สุทธิ 0–300,000 บาท ได้รับยกเว้นภาษี
- รายได้สุทธิ 300,001-3,000,000 บาท อัตราภาษี 15%
- รายได้สุทธิเกิน 3,000,001 บาท อัตราภาษี 20%
2.ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ธุรกิจบริการจัดเลี้ยงที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จำเป็นต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และเรียกเก็บภาษี 7% จากลูกค้า พร้อมกับทำบัญชีภาษีซื้อภาษีขายให้ถูกต้อง เนื่องจากเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้สามารถคำนวณภาษีขายและภาษีซื้อได้อย่างแม่นยำ จากนั้นนำส่งให้กับกรมสรรพากรในแต่ละเดือน
3.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากธุรกิจจัดเลี้ยงไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล คือประกอบกิจการในนามบุคคลธรรมดา ดังนั้น จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามอัตราภาษีแบบขั้นบันได โดยคิดจากรายได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน โดยมีอัตราภาษีขั้นบันไดดังนี้
- รายได้สุทธิ 0-150,000 บาท ได้รับยกเว้นภาษี
- รายได้สุทธิ 150,001-300,000 บาท อัตราภาษี 5%
- รายได้สุทธิ 300,001-500,000 บาท อัตราภาษี 10%
- รายได้สุทธิ 500,001-750,000 บาท อัตราภาษี 15%
- รายได้สุทธิ 750,001-1,000,000 บาท อัตราภาษี 20%
- รายได้สุทธิ 1,000,001-2,000,000 บาท อัตราภาษี 25%
- รายได้สุทธิ 2,000,001-5,000,000 บาท อัตราภาษี 30%
- รายได้สุทธิ 5,000,001 บาท ขึ้นไป อัตราภาษี 35%
4.ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ธุรกิจบริการจัดเลี้ยง SME ที่ทำในนามนิติบุคคลเมื่อมีการว่าจ้างซัพพลายเออร์หรือพนักงานชั่วคราว การจ่ายเงินค่าบริการเหล่านี้ต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราที่กำหนด เช่น ค่าบริการต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% และนำส่งกรมสรรพากร
5.ภาษีป้าย หากธุรกิจบริการจัดเลี้ยง SME มีการใช้ป้ายโฆษณาหรือป้ายชื่อร้าน ต้องเสียภาษีป้ายตามอัตราที่กำหนด ซึ่งคำนวณจากขนาดและข้อความบนป้ายนั้นๆ
เอกสารที่ธุรกิจบริการจัดเลี้ยง SME ต้องจัดเตรียมเพื่อการเสียภาษี
1.ใบกำกับภาษี (Tax Invoice) ใช้สำหรับการออกใบเสร็จให้ลูกค้าและการบันทึกภาษีขาย
2.ใบรับเงิน (Receipt) ใช้สำหรับยืนยันการรับเงินจากลูกค้า
3.บัญชีรายรับ-รายจ่าย จะช่วยในการคำนวณรายได้สุทธิและจัดทำงบการเงิน
4.เอกสารค่าใช้จ่าย เช่น ใบเสร็จค่าวัตถุดิบ ค่าเช่า และค่าแรงงาน
วิธีการเสียภาษีสำหรับธุรกิจบริการจัดเลี้ยง SME
1.ยื่นภาษีผ่านระบบออนไลน์ ปัจจุบันกรมสรรพากรมีบริการยื่นแบบภาษีผ่านเว็บไซต์ www.rd.go.th
ซึ่งสะดวกและรวดเร็ว
2.ใช้บริการผู้เชี่ยวชาญด้านบัญชี สำหรับธุรกิจที่ซับซ้อน การจ้างนักบัญชีหรือบริษัทบัญชีช่วยตรวจสอบและจัดการเรื่องภาษีเป็นตัวเลือกที่ดี
3.ยื่นแบบภาษีเป็นรายงวด
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล ยื่นแบบทุก 6 เดือน (แบบ ภ.ง.ด. 51) และรายปี (แบบ ภ.ง.ด. 50)
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม ยื่นทุกเดือน (แบบ ภ.พ.30)
กล่าวโดยสรุป ธุรกิจบริการจัดเลี้ยง SME ที่มีการปฏิบัติตามกฎหมายด้านภาษีอย่างถูกต้อง ไม่เพียงช่วยลดความเสี่ยงทางกฎหมาย แต่ยังสร้างความน่าเชื่อถือให้กับลูกค้า ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญต่อการเติบโตในระยะยาว
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ Inflow Accounting