ถอดรหัส Trumpflation จาก Trump 1.0 สู่ 2.0
“โดนัลด์ ทรัมป์”คัมแบ๊ก หวั่นเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อสูง “Trumpflation” หวนคืนตลาดการเงิน เศรษฐกิจถดถอยแบบอ่อนในช่วงต้นปีกดดันอุปสงค์อ่อนแอช่วยลดแรงกดดันราคาสินค้าและบริการในระยะสั้น สะท้อนภาพเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลังเสี่ยงสูงกว่าช่วงครึ่งปีแรก
ในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2559 หนึ่งในประเด็นที่ตลาดการเงินให้ความสนใจและวิตกกังวลอย่างมาก คือ โอกาสที่นโยบายเศรษฐกิจของ “โดนัลด์ ทรัมป์” จะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อสูง หรือที่เรียกกันว่า “Trumpflation” ความกังวลนี้มีพื้นฐานจากแผนการลงทุนขนาดใหญ่ในโครงสร้างพื้นฐาน มาตรการลดภาษีเงินได้ และนโยบายกีดกันทางการค้า เช่น การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศต่างๆ
อย่างไรก็ตามหลังจากที่ ทรัมป์ ดำรงตำแหน่งตลอดสี่ปีอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในช่วงปี 2560-2562 (ไม่รวมปี 2563 เนื่องจากมีวิกฤตโควิด-19) กลับอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเป้าหมายระยะยาวของเฟดที่ 2.1% ซึ่งสวนทางกับการคาดการณ์ของตลาด เมื่อทรัมป์มีโอกาสกลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้งในปี 2568 คำถามเกี่ยวกับ Trumpflation ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้ง แต่มุมมองจากเหตุการณ์ในอดีตชี้ให้เห็นว่า ตลาดอาจกังวลมากเกินไป
ในปี 2559 “โดนัลด์ ทรัมป์” ได้เสนอแผนการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ในระยะเวลา 10 ปี พร้อมกับมาตรการลดภาษีนิติบุคคลและข้อจำกัดการอพยพทำให้ตลาดเชื่อว่านโยบายเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจเกิดการขยายตัวที่รวดเร็วเกินไปและส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ แต่ในความเป็นจริงนโยบายโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ไม่เคยถูกนำมาใช้จริง เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองในรัฐสภา รวมถึงการขาดแคลนข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมจาก ฝ่ายบริหารของทรัมป์ สิ่งที่เกิดขึ้นจริง คือ การลดภาษีเงินได้ ซึ่งช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ไม่มากพอที่จะสร้างแรงส่งต่อราคาสินค้าในระดับที่น่ากังวล อันเป็นผลมา จาก Net Effect ที่น้อยกว่าที่ตลาดคาด
การวิเคราะห์ผลกระทบของนโยบายต่อระบบเศรษฐกิจ ไม่ได้มองเพียงผลกระทบทางเดียว แต่เป็นการประเมิน “ผลสุทธิ” (Net Effect) หรือผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นหลังจาก พิจารณาทั้งปัจจัยบวกและลบที่ส่งผลต่อระบบโดยรวม การทำความเข้าใจแนวคิดนี้มีความสำคัญต่อการคาดการณ์ผลกระทบของนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายที่มีความซับซ้อน เช่น นโยบายเศรษฐกิจของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในกรณีของ Trumpflation 1.0 ตลาดมีความเชื่อว่าการลดภาษีขึ้นภาษีนำเข้า และจำกัดผู้อพยพจะทำให้เกิดแรงกดดันด้านเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงผลกระทบต่อเงินเฟ้อกลับมีจำกัด ซึ่งสามารถอธิบายได้จากกลไกต่างๆทางเศรษฐศาสตร์ ดังต่อไปนี้
1.การทดแทนและผลของรายได้
Substitution Effect (ผลทดแทน): เมื่อราคาสินค้าเพิ่มขึ้นผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปซื้อสินค้าที่มีราคาถูกกว่าหรือหันไปหาทางเลือกอื่นแทน
Income Effect (ผลของรายได้): เมื่อราคาสินค้าสูงขึ้น ผู้บริโภคจะรู้สึกว่ารายได้ที่แท้จริงลดลง ทำให้การบริโภคลดลง โดยผลกระทบที่เกิดขึ้น คือ
• การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าอาจทำให้ราคาสินค้าจากต่างประเทศสูงขึ้น
• Substitution Effect: ผู้บริโภคหันไปซื้อสินค้าภายในประเทศหรือสินค้าทดแทน
• Income Effect: การบริโภคโดยรวมลดลง ส่งผลให้ความต้องการลดลงและบรรเทาแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ
2. นโยบายการอพยพและผลกระทบสุทธิ
การจำกัดการอพยพเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของทรัมป์ ซึ่งอาจส่งผลต่ออุปทานแรงงานและตลาดแรงงานโดยรวม โดยผลกระทบที่เกิดขึ้น คือ
• การจำกัดการอพยพ อาจทำให้แรงงานในตลาดลดลง ส่งผลให้ค่าแรงเพิ่มขึ้น (แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ)
• แต่ในขณะเดียวกันจำนวนผู้บริโภคที่ลดลง อาจทำให้ความต้องการสินค้าและบริการลดลง ซึ่งเป็นแรงถ่วงที่ ช่วยกดดันอัตราเงินเฟ้อไม่ให้สูงเกินไป
ดังนั้นแม้ว่าค่าแรงอาจเพิ่มขึ้นจากนโยบายกีดกันผู้อพยพ แต่การลดลงของการบริโภคจะช่วยบรรเทาแรงกดดันด้านเงินเฟ้อโดยรวม ส่งผลให้ Net Effect ที่มีต่ออัตราเงินเฟ้อจะน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้
การปรับตัวของผู้ประกอบการและกลไกของตลาดเงิน
ในกรณีของทรัมป์ 1.0 แม้จะมีการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าในปี 2561-2562 เพื่อปกป้องผู้ผลิตภายในประเทศ แต่ราคาสินค้าผู้บริโภคกลับไม่พุ่งสูง เนื่องจาก 1. บริษัทดูดซับต้นทุนบางส่วน เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันจากอุปสงค์ที่ลดลง และ 2. ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าช่วยลดต้นทุนสินค้านำเข้าบางส่วน
“การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ในปี 2568 ได้สร้างความวิตกกังวลเรื่อง Trumpflation ให้หวนคืนสู่ตลาดการเงินอีกครั้ง อย่างไรก็ตามบทเรียนจากอดีตและการวิเคราะห์ Net Effect บ่งชี้ว่า นโยบายของทรัมป์อาจไม่ได้สร้างแรงกระทบต่อเงินเฟ้อรุนแรงเท่าที่ตลาดกังวล เนื่องจากผลกระทบจากนโยบาย ทั้งด้านบวกและลบช่วยหักล้างกัน ส่งผลให้การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้
ส่วนในกรณีที่เงินเฟ้อจะสูงขึ้นในปีนี้น่าจะเกิดจากปัจจัยอื่น เช่น การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจตามวัฏจักรหลังผ่านช่วงชะลอตัว หรือผลกระทบจากความขัดแย้งทางสงครามที่กระทบห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงที่คาดการณ์ได้ยาก (unknown risk) และน่ากังวลมากกว่า สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 เราคาดว่าความเสี่ยงจะสูงกว่าช่วงครึ่งแรก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยแบบอ่อน (mild recession) ในช่วงต้นปี อาจกดดันอุปสงค์ให้อ่อนแอลง ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันต่อราคาสินค้าและบริการในระยะสั้นได้บางส่วน” รายงาน Wealth Insight จากทีม Wealth Research ของหลักทรัพย์บัวหลวง ฉบับวันที่ 16 ม.ค.68
ไม่ง่าย! หุ้นไทยเดือน มกราคมเผชิญปัจจัยในประเทศ-ต่างประเทศป่วนหนัก
เศรษฐกิจไทยปี 2568 มีโอกาสชะลอตัวลงมากกว่าตลาดคาด