มาตรการลดภาษีนิติบุคคล สำหรับธุรกิจในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ)

26 มีนาคม 2568

รัฐบาลมาตรการลดภาษีนิติบุคคล เหลือ 10% สำหรับธุรกิจในเขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัดทั่วไทย หวังดึงดูดการลงทุน สร้างงาน กระจายรายได้

เขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone - SEZ) เป็นพื้นที่ที่รัฐบาลกำหนดขึ้นเพื่อส่งเสริมการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมักมาพร้อมกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีและมาตรการสนับสนุนต่างๆ สำหรับผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจภายในเขตดังกล่าว หนึ่งในข้อได้เปรียบสำคัญของการตั้งธุรกิจใน SEZ คือการได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษีนิติบุคคล ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบของการลดอัตราภาษี การยกเว้นภาษีในช่วงระยะเวลาหนึ่ง หรือมาตรการจูงใจอื่นๆ ที่ช่วยลดต้นทุนทางภาษีให้กับผู้ประกอบการ

อย่างไรก็ตามสิทธิประโยชน์ทางภาษีเหล่านี้มาพร้อมกับเงื่อนไขและข้อกำหนดที่ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตาม เช่น ประเภทของธุรกิจที่เข้าเกณฑ์ การจดทะเบียนและการดำเนินงานภายในเขต SEZ การรายงานและการปฏิบัติตามกฎหมายภาษีที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการควบคุมและตรวจสอบจากหน่วยงานภาครัฐเพื่อป้องกันการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างไม่ถูกต้อง

เขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone - SEZ) คืออะไร

เขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่รัฐบาลกำหนดขึ้นเพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน และอุตสาหกรรม โดยมีมาตรการจูงใจต่างๆ เช่น การลดหย่อนภาษี การอำนวยความสะดวกด้านแรงงาน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเขตเหล่านี้ประกอบด้วย 10 จังหวัด คือ ตาก มุกดาหาร สระแก้ว สงขลา ตราด หนองคาย นราธิวาส เชียงราย นครพนม และกาญจนบุรี

โดยลักษณะสำคัญของเขตเศรษฐกิจพิเศษคือ การเป็นศูนย์กลางการผลิตและการกระจายสินค้า โดยเน้นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น สิ่งทอ อาหารแปรรูป และอุตสาหกรรมที่ต้องการเชื่อมโยงกับประเทศใกล้เคียง เช่น ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์

ทั้งนี้การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในประเทศไทยถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับภูมิภาค และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในตลาดอาเซียนและระดับสากล

เงื่อนไขการลดอัตราภาษีธุรกิจนิติบุคคล ในเขต SEZ   

กรมสรรพากรได้ออกมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) โดยลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ เป็นระยะเวลา 10 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2568 เป็นต้นไป โดยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้

1.อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจะถูกลดลงเหลือร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการเป้าหมายตามที่คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษกำหนด ภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. 2564 โดยเงื่อนไขสำคัญคือต้องมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ไม่ว่าจะมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ ที่ใดก็ตาม และรายได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษีจะต้องเกิดจากการผลิตสินค้าในเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือเกิดจากการให้บริการและมีการใช้บริการนั้นภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งสิทธิประโยชน์นี้จะมีผลเป็นระยะเวลา 10 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนด

2.บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้มีผลบังคับใช้ และสถานประกอบกิจการที่ตั้งขึ้นในเขตเศรษฐกิจพิเศษ จะต้องเป็นอาคารถาวรที่ขยายหรือเพิ่มเติมจากสถานประกอบกิจการเดิมที่มีอยู่แล้ว

3.การนับรอบระยะเวลาบัญชีตามข้อ 1 ให้นับรอบระยะเวลาบัญชีดังต่อไปนี้

3.1 กรณีที่รอบระยะเวลาบัญชีเริ่มใน หรือหลังวันที่ได้จดแจ้งขอใช้สิทธิต่อกรมสรรพากรตามข้อ 3.1 ให้นับรอบระยะเวลาบัญชีนั้นเป็นรอบระยะเวลาบัญชีแรก

3.2 กรณีที่มีการจดแจ้งขอใช้สิทธิต่อกรมสรรพากรตามข้อ 3. ระหว่างรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้นับรอบระยะเวลาบัญชีนั้นเป็นรอบระยะเวลาบัญชีแรก แม้ว่าจะมีระยะเวลาน้อยกว่า 12 เดือนก็ตาม

4.บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีสิทธิได้รับการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามข้อ 1 จะต้องมีคุณสมบัติต่อไปนี้

4.1 ได้จดแจ้งการขอใช้สิทธิการเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

4.2 ต้องไม่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

4.3 ต้องไม่ใช้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้ตามมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 530) พ.ศ.2554 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 583) พ.ศ.2558 หรือสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 7 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 530) พ.ศ.2554 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 564) พ.ศ.2556

4.4 ต้องไม่ใช้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 693) พ.ศ.2563

4.5 ต้องจัดทำบัญชีแยกรายการ สำหรับกิจการที่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี และกิจการที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในเขตเศรษฐกิจพิเศษ

4.6 ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด ตามข้อ 1

กล่าวโดยสรุป สาเหตุที่รัฐบาลประกาศลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 10% สำหรับธุรกิจที่ดำเนินกิจการในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) ใน 10 จังหวัด เพราะเป็นมาตรการที่มุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่เป้าหมายและสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ในประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่  Inflow Accounting

Thailand Web Stat