จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืม กับภาระภาษีที่ธุรกิจ SME ต้องรู้

09 เมษายน 2568

SME ต้องรู้! ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมไม่ใช่แค่ต้นทุน การเข้าใจผลกระทบทางภาษีของดอกเบี้ยจ่าย ช่วยให้ธุรกิจบริหารต้นทุนได้ดี

ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเป็นต้นทุนทางการเงินที่หลายธุรกิจทั้งขนาดใหญ่และขยาดย่อย (SME) ต้องเผชิญเมื่อขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน หรือแหล่งเงินทุนอื่นๆ นอกจากจะเป็นค่าใช้จ่ายที่ส่งผลต่อกระแสเงินสดแล้ว ดอกเบี้ยที่จ่ายไปยังเกี่ยวข้องกับภาษีหลายประเภท ซึ่งอาจมีผลต่อภาระภาษีของผู้กู้ ไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีหัก ณ ที่จ่าย

ทั้งนี้การพิจารณาผลกระทบทางภาษีของดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้สามารถบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปฏิบัติตามข้อกำหนดทางกฎหมายได้อย่างถูกต้อง จะมีอะไรบ้างสามารถสรุปได้ดังนี้

กรณีเป็นการให้กู้ยืมระหว่างกิจการและกรรมการ เกี่ยวข้องกับภาษีอะไรบ้าง

การให้กู้ยืมเงินระหว่าง กิจการ (บริษัท หรือนิติบุคคล) และกรรมการ เกี่ยวข้องกับภาษีหลายประเภท ดังนี้

1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล

- ในกรณีกิจการให้กู้ยืมเงินแก่กรรมการ และไม่มีดอกเบี้ย หรือคิดดอกเบี้ยต่ำกว่าปกติ กรมสรรพากรอาจมองว่าเป็นเงินได้ของกรรมการ และบริษัทอาจถูกปรับปรุงรายการเพื่อรับรู้รายได้ดอกเบี้ยตามอัตราปกติ

- ในกรณีกรรมการให้กู้ยืมเงินแก่กิจการ โดยไม่มีดอกเบี้ย กิจการสามารถรับเงินกู้ไปใช้ได้โดยไม่มีผลภาษีโดยตรง

2. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

- ในกรณีกรรมการกู้เงินจากกิจการโดยไม่เสียดอกเบี้ย กรมสรรพากรอาจถือว่าดอกเบี้ยที่ควรต้องจ่ายเป็นเงินได้พึงประเมินของกรรมการ ทำให้ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

- ในกรณีกรรมการให้กิจการกู้ยืมเงินและได้รับดอกเบี้ย ต้องนำดอกเบี้ยนี้ไปยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

3. ภาษีหัก ณ ที่จ่าย

- หากกิจการจ่ายดอกเบี้ยให้กรรมการ ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 1% ก่อนจ่ายดอกเบี้ย

- หากกิจการคิดดอกเบี้ยจากกรรมการ แต่ไม่ได้มีการจ่ายจริง อาจต้องถือว่ามีรายได้จากดอกเบี้ยที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

กรณีกิจการกู้ยืมเงินจากสถานบันการเงิน

หากกิจการได้รับเงินกู้จากสถาบันการเงินเพื่อนำมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายของบริษัท การชำระดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่สถาบันการเงินจะไม่อยู่ในเงื่อนไขที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้

กรณีกิจการกู้ยืมเงินจากบริษัทที่อยู่ในเครือ เกี่ยวข้องกับภาษีอะไรบ้าง

1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล ดอกเบี้ยที่บริษัทผู้กู้จ่ายให้บริษัทผู้ให้กู้ถือเป็น ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ซึ่งอาจนำมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ หากเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกรมสรรพากร และบริษัทผู้ให้กู้ต้องนำดอกเบี้ยรับมารวมคำนวณเป็น รายได้ที่ต้องเสียภาษี

2. ภาษีหัก ณ ที่จ่าย (ภ.ง.ด.53) หากมีการคิดดอกเบี้ย บริษัทผู้กู้ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 1% ของดอกเบี้ยที่จ่าย แล้วนำส่งกรมสรรพากร

3. ภาษีธุรกิจเฉพาะ (หากเข้าเงื่อนไข) หากบริษัทที่ให้กู้มีลักษณะของการประกอบธุรกิจให้สินเชื่อ อาจต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% ของรายได้จากดอกเบี้ย

กรณีบุคคลธรรมดาจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่บุคคลธรรมดาเกี่ยวข้องกับภาษีอะไรบ้าง

1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90/91)

- ผู้ให้กู้: ดอกเบี้ยที่ได้รับถือเป็น เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร และต้องนำไปรวมคำนวณเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

- ผู้กู้: ไม่สามารถนำดอกเบี้ยที่จ่ายไปมาหักลดหย่อนได้ เว้นแต่เป็นดอกเบี้ยเงินกู้ที่ใช้สำหรับซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัยและเป็นไปตามเงื่อนไขของกรมสรรพากร

2. ภาษีหัก ณ ที่จ่าย (ถ้ามี) โดยทั่วไปการจ่ายดอกเบี้ยระหว่างบุคคลธรรมดา ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่หากผู้ให้กู้เป็นนิติบุคคลหรือมีการประกอบธุรกิจให้กู้ยืม อาจเข้าข่ายต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย

กล่าวโดยสรุป การจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมมีผลกระทบต่อภาระภาษีของผู้กู้ในหลายมิติ โดยเฉพาะในการวางแผนภาษีส่วนบุคคลและธุรกิจ SME สำหรับบุคคลธรรมดา ดอกเบี้ยจากเงินกู้บางประเภท เช่น ในกรณีกรรมการให้กิจการกู้ยืมเงินและได้รับดอกเบี้ย ต้องนำดอกเบี้ยนี้ไปยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นอกจากนี้ผู้กู้ต้องคำนึงถึงภาระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจริง เพราะถึงแม้จะสามารถใช้ประโยชน์ทางภาษีได้ แต่หากอัตราดอกเบี้ยสูง อาจทำให้ภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นจนกระทบต่อสถานะการเงินโดยรวม

สำหรับภาคธุรกิจ ดอกเบี้ยเงินกู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานสามารถนำไปหักเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ภายใต้ข้อกำหนดของกฎหมายภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังนั้นไม่ว่าผู้กู้จะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล การทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบของดอกเบี้ยเงินกู้ต่อภาษีเป็นสิ่งสำคัญในการวางแผนทางการเงินให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งในด้านการลดหย่อนภาษีและการบริหารต้นทุนทางการเงิน

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่  Inflow Accounting

Thailand Web Stat