posttoday

ตึก สตง. “ถล่ม” ฝุ่นหาย แต่น้ำลายกระจาย ข่าวลือยังฟุ้งไม่หยุด

18 เมษายน 2568

ตึก สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่มซ้ำในใจสังคม เมื่อความสะใจกลบเสียงความจริง ศาลเตี้ยกลางสื่อทำลายความเชื่อมั่นทั้งระบบ

ตึก สตง. “ถล่ม” ฝุ่นหาย แต่น้ำลายกระจาย ข่าวลือยังฟุ้งไม่หยุด

ตึกพัง ฝุ่นจาง
แต่ “ฝุ่นข่าว” ยังฟุ้งกระจายคลุ้ง สลายไม่ลง

ฝุ่นปูนยังจับพื้นไม่ทันแน่น
แต่สังคมไทยสำลักฝุ่นข่าวจนแทบขาดอากาศหายใจ

โศกนาฏกรรมจากอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม
เป็นทั้งภาพแทนของภัยพิบัติทางกายภาพ
และภาพซ้อนของซากชีวิตผู้คน

แต่ที่น่าหวาดหวั่นยิ่งกว่าคอนกรีตที่ถล่มลงมา
คือ “ซากสำนึก” ที่พังครืนตามไปด้วย

เสียงสัมภาษณ์ เสียงวิจารณ์
สาดซัดกันราวกับได้กลิ่นเลือด
ขายกันทั้งเสียงสะอื้น คราบน้ำตา และฝันร้าย

ประชาชนยังไม่รู้ว่า
 “ตึกพังเพราะอะไร”

แต่วาทกรรมกลับพังนำไปก่อนแล้ว

สื่อบางสำนัก แทนที่จะฉายไฟหาความจริง
กลับก่อ “ควันข่าว” ปล่อยกลิ่นอคติฟุ้งยิ่งกว่าเขม่าควันจากซากตึก

โยนข้อกล่าวหา
 “ใต้โต๊ะ บนโต๊ะ”
กลิ้งไปทั่ว โยงไปทุกมุม
ลากชื่อองค์กร ลากชื่อคน ลากเรื่องโกงมาโบกใส่กันอย่างเมามัน

น่ากลัวกว่าการทุจริต คือการทำให้คนเชื่อว่า
“ไม่มีอะไรในประเทศนี้ที่ไม่โกง”

นี่แหละ มลพิษทางความคิด
ที่อันตรายยิ่งกว่า PM2.5

ภาพประเทศถูกพ่นด้วยหมอกแห่งความระแวง
เสียหายยิ่งกว่าภัยธรรมชาติใดๆ
เพราะนี่คือภัยจากจินตนาการผสมเจตนา

แทนที่เราจะได้เห็นกระบวนการพิสูจน์อย่างมืออาชีพ
ตามหลักวิศวกรรม จรรยาบรรณสถาปนิก
หรือกระบวนการสอบสวนที่ยึดหลักกฎหมาย

สิ่งที่เราเห็นกลับเป็น “ศาลเตี้ยกลางสื่อ”
ตัดสินจากคำพูดของ “คนที่ไม่มีส่วนรู้เห็น”
แต่มี “อารมณ์เท่ากับสิบ”

สังคมไทยไม่เคยเปิดโอกาสให้ “ความจริง” ได้พูด
เพราะเสียง “ความสะใจ” ดังกลบหมด

ใครออกแบบ?
ใครควบคุมงาน?
สเปกเป็นไปตามมาตรฐานไหม?

คำถามเหล่านี้ เงียบสนิท
เพราะมันไม่มี “ดราม่า” พอจะเรียกยอดไลก์

ขณะที่องค์กรวิชาชีพยังพูดไม่ได้
กระบวนการตรวจสอบยังไม่เสร็จสิ้น 
แต่ “เสียงด่าฟรี” โหมกระหน่ำ

ที่เลวร้ายที่สุดคือ
ความน่าเชื่อถือของระบบการตรวจสอบ และวิชาชีพวิศวกรรม สถาปัตยกรรม
ก็พังครืนลงพร้อมกัน

ฝุ่นจากซากตึก อาจใช้เวลาไม่นานก็จางหาย

แต่ฝุ่นจากข่าวปล่อย  ข่าวด่วน ข่าวเดา
จะตกค้างในความทรงจำสังคมไปอีกนาน

ไม่ใช่แค่ตึกที่พัง
แต่ “สำนึกสาธารณะ” ก็สั่นสะเทือน

เพราะในประเทศนี้
“ความสะใจ” มักมีเสียงดังกว่า “ความจริง” เสมอ