เจาะลึกย้อนความสำคัญ“สนามบินอู่ตะเภา”เป้าหมายใหญ่พญาอินทรี
ย้อนจุดกำเนิด "สนามบินอู่ตะเภา" จุดยุทธศาสตร์สำคัญ เป้าหมายใหญ่พญาอินทรี ฐานปฏิบัติการทางการบิน ฐานทัพสหรัฐในอดีตตั้งแต่ยุคสงครามอินโดจีน
สนามบินอู่ตะเภา กลับมาเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอีกครั้ง เมื่อ มีกระแสออกมาว่า เป้าหมายหลักในการเจรจาของทางสหรัฐที่จะต่อรองกับทีมไทยแลนด์ ที่เข้ามาเจรจาแนวนโยบายทางด้านการค้าระหว่างประเทศหลังประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ใช้นโยบายกำแพงภาษีครั้งใหญ่
สนามบินอู่ตะเภา นับเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ การเข้ามาตั้งฐานการบินเพื่อปฏิบัติการพิสัยไกล จะทำให้สหรัฐสามารถสอดส่องได้ทั้งฝั่งซีกทะเลตะวันออก ฝั่งอินโดจีน ทะเลจีนใต้ทั้งหมด ขณะเดียวกันสามารถดูแลทางทะเลฝั่งตะวันตก ทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย รวมถึงทางใต้ ที่มีช่องแคบมะละกา ช่องทางการค้าทางเรือของโลกที่สำคัญอีกด้วย
สนามบินอู่ตะเภา หรือที่รู้จักอย่างเป็นทางการในปัจุบันว่า สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา-ระยอง-พัทยา (U-Tapao Rayong-Pattaya International Airport) เป็นสนามบินที่มีความสำคัญทั้งทางทหารและพลเรือน โดยตั้งอยู่ในอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ใกล้กับเมืองพัทยาและอยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของประเทศไทย
จุดเริ่มต้นและการก่อตั้ง
การก่อตั้ง “สนามบินอู่ตะเภา” มีขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2504 กองทัพเรือไทยได้ใช้พื้นที่บริเวณหมู่บ้านอู่ตะเภา จังหวัดระยอง ก่อสร้าสนามบินแห่งใหม่ของกองทัพเรือ มีทางวิ่งลาดยางความยาว 1,200 เมตร ต่อมา พ.ศ. 2507 สงครามเวียดนามได้อุบัติขึ้น ฝ่ายคอมมิวนิสต์เข้าครอบงำอินโดจีน ทั้งในเวียดนาม ลาว และกัมพูชา ดังนั้น สหรัฐอเมริการผู้นำฝ่ายโลกเสรีจึงใช้ประเทศไทยเป็นฐานทัพต่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์
พ.ศ. 2508 คณะรัฐมนตรีของรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ลงมติอนุมัติให้กองทัพสหรัฐอเมริกาปรับปรุงสนามบินอู่ตะเภา เพื่อเป็นฐานทัพในการลำเลียงหน่วยรบไปยังจุดยุทธศสตร์ต่างๆ ภายในประเทศ
นับเป็นเวลากว่า 10 ปีที่สนามบินอู่ตะเภาถูกใช้เป็นฐานทัพอากาศของสหรัฐอเมริกา และการทิ้งระเบิดกว่าร้อยละ 80 ในเวียดนามเหนือล้วนบินขึ้นมาจากฐานทัพอากาศในประเทศไทย สนามบินอู่ตะเภาก็เป็นหนึ่งในนั้น
พ.ศ. 2519 กองทัพสหรัฐอเมริกาถอนกำลังออกจากสนามบินอู่ตะเภา รัฐบาลไทยเห็นว่าสนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินขนาดใหญ่ มีโครงสร้างพื้นฐานดี และควรนำมาใช้ประโยชน์ จนกระทั่ง วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2532 จึงมีมติให้กองทัพเรือร่วมกับกรมการบินพลเรือนพัฒนาพื้นที่สนามบินอู่ตะเภาบางส่วนให้เป็นท่าอากาศยานพาณิชย์ ต่อมา พ.ศ. 2539 กองทัพเรือได้จัดตั้งการท่าอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อดำเนินการในเชิงพาณิชย์ภายใต้การกำกับดูแลของกองทัพเรือ
หลังจากสหรัฐถอนกำลังออกจากสนามบินอู่ตะเภาไปเมื่อ 2519 และ สงครามอินโดจีนได้ยุติลงไป ความพยายามที่จะขอกลับเข้ามาใช้สนามบินอู่ตะเภาเพื่อเป็น ฐานทัพฐานการบินของสหรัฐ มีมาหลายครั้ง เนื่องจากเล็งเห็นถึงจุดยุทธศาสตร์สำคัญ และ มองว่าจีน ประเทศมหาอำนาจเริ่มขยายอิทธิพลลงมาทางใต้มากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งในทางยุทธศาสตร์ทางการทหาร
ความพยายามกลับมาใช้ฐาน สนามบินอู่ตะเภา
ก่อนหน้าในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี พ.ศ. 2555 องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งสหรัฐอเมริกาหรือนาซ่า ได้ขอใช้สนามบินอู่ตะเภาเพื่อจอดอากาศยานและขึ้นทำการบินตรวจสภาพอากาศ ทำให้เป็นประเด็นร้อนทางการเมืองขึ้นมาในขณะนั้น ด้วยเกรงว่า จะเป็นการเปิดให้สหรัฐเข้ามาใช้สนามบินนอกเหนือไปจากนั้นและเกรงในเรื่องอำนาจอธิปไตยของไทย และ หวั่นว่าจะเกิดความหวาดระแวงจะประเทศเพื่อนบ้าน
ในที่สุด โครงการดังกล่าวไม่สำเร็จเนื่องจาก คณะรัฐมนตรีของนางสาวยิ่งลักษ์มีมติควรส่งเรื่องดังกล่าว ให้สภาเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมรัฐสภาโดยไม่ลงมติ ตามมาตรา 179 จนกระทั้ง โฆษกสถานฑูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยออกมาแถลงยุติโครงการเนื่องจากเห็นว่าเวลาล่าช้าออกไปไม่สอดคล้องกับโครงการ
ในสม้ยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี 2564 บุคคลสำคัญของสหรัฐ เดินทางเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นฐานการบินอีกครั้ง มีทั้ง “เดวิด เอส โคเฮน” รองผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลาง สหรัฐอเมริกา หรือ ซีไอเอ "แดเนียล คริเตนบริงค์" ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ด้านเอเชียตะวันออก “แอนโทนี บลิงเคน” รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา แต่คนสุดท้ายยกเลิกกะทันหันเนื่องจากปัญหา “โควิด-19”
ต่อมารัฐบาลพล.อ.ประยุทธได้ปรับบทบาทของสนามบินอู่ตะเภาให้เป็น สนามบินคู่ขนานสุวรรณภูมิ -ดอนเมือง มีบทบาทเป็นสนามบินสำรองและเป็นหนึ่งในสนามบินรองของกรุงเทพฯ รองรับเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะเที่ยวบินเช่าเหมาลำจากจีนและรัสเซีย
นอกจากนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งในโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)โดยสนามบินอู่ตะเภาเป็นหนึ่งใน "เมกะโปรเจกต์" ที่สำคัญของ EEC ซึ่งรัฐบาลไทยได้ผลักดันให้พัฒนาเป็น "ศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาค"
รัฐบาลยังมีแผนพัฒนาเป็น “เมืองการบินภาคตะวันออก” (Eastern Aviation City) พร้อมด้วยรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (สุวรรณภูมิ – ดอนเมือง – อู่ตะเภา) ซึ่งดำเนินการอยู่ในขณะนี้
ยังต้องจับตาว่า ในการเจรจาของสหรัฐ กับทีมไทยแลนด์ภายใต้เงื่อนไข นโยบายกำแพงภาษีของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประเทศไทยรักษาจุดยืนทางการเมืองระดับภูมิภาค ระดับโลก ไม่นำเอาประเทศไปเสี่ยงกับความกดดันของประเทศมหาอำนาจที่ต้องการยึดจุดยุทธศาตร์ทางภูมิรัฐศาสตร์ผ่าน "สนามบินอู่ตะเภา" ในครั้งนี้ได้หรือไม่